ร้อง “อุ๊ย” สะดุ้งทำไม มอง “ครางชื่ออ้ายแน-ประเทศกูมี” วัฒนธรรมในเนื้อเพลง พลัง “ภาษา”

MV เพลง "ครางชื่ออ้ายแน" (ซ้าย) และ MV เพลง "ประเทศกูมี" (ภาพจาก YouTube/TOPLINE Music Official

สื่อบันเทิงรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์อยู่บ้าง เมื่อคนฟังจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบความหมายของเนื้อร้องในบทเพลงแต่พวกเขาสามารถซึมซับอรรถรสร่วมไปกับเจ้าของผลงานและกลุ่มผู้ที่เข้าใจเนื้อร้องในบทเพลงได้ แต่สำหรับบางบทเพลง เนื้อร้องที่มีความหมายกลับไม่ถูกรับรู้จากการสื่อสารตามความหมายนั้นโดยตรง

ถ้าใช้คำศัพท์สมัยนิยมเรียกผลผลิตทางวัฒนธรรมจากโลกบันเทิงอย่างบทเพลงร่วมสมัยในยุคนี้คงเรียกกันได้ว่า “ไวรัล” (Viral) หรือเนื้อหาที่ส่งต่อกันจนกลายเป็นกระแส ตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงปลายปี 2561 บทเพลงที่กำลังเป็น “ไวรัล” หนีไม่พ้นสองผลงานคือเพลง “ครางชื่ออ้ายแน” ผลงานกลุ่มดนตรีข่าย “ลูกทุ่ง” แดนซ์ (ลูกทุ่งเต้นรำร่วมสมัย) ผสมสไตล์ร้องแบบหมอลำซิ่ง โดย “ศรีจันทร์ วีสี” ร่วมกับศิลปินนาม “ต้าร์ เพ็ญนภา แนบชิด ท็อปไลน์” ผลงานของค่าย “ท็อปไลน์” (TOPLINE) ที่คนลูกทุ่งหรือศิลปินเพลงท้องถิ่นต่างๆ คุ้นเคย

และอีกบทเพลงที่ตามมาคือ “ประเทศกูมี” ท่ามกลางกระแสฮิปฮอปและวัฒนธรรมการแร็ปที่เฟื่องฟูมากเป็นพิเศษในไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพลงนี้เป็นผลงานจากแร็ปเปอร์นาม Liberate P ที่ร่าย “ไรม์” (Rhyme) หรือเนื้อร้องสัมผัสคล้องจองแบบ “แร็ปเปอร์” ออกมาอย่างดุเดือดในเนื้อหาสะท้อนสังคมการเมืองไทยยุคนี้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นพลวัตบางอย่างที่น่าสนใจในแง่วัฒนธรรมดนตรีและภาษาในบ้านเรา

ปรากฏการณ์นี้ชวนให้นึกถึงตัวอย่างที่ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่เคยเขียนบทความเรื่อง “คาราวาน หรือ คาราบาว ‘เหลา-สด-ไม่เนื้อ'” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม พ.ศ. 2532 บทความชี้ให้เห็นถึงการใช้งาน “ภาษา” ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกสมัยใหม่(ในยุคนั้น)ที่เชื่อมโยงกับความเป็นไปในยุคนี้ได้

เนื้อร้องของ “คาราบาว-คาราวาน”

ในแง่การใช้ “ภาษา” ใน “เนื้อ” ผู้เขียนบทความพูดถึงบทเพลง “บัวลอย” ของคาราบาว วงที่ถูกเชิดชูอุดมการณ์สันติ เสียสละ และความเป็นธรรม แง่มุมนี้สอดคล้องกับเนื้อหาจากเนื้อร้องของเพลง “บัวลอย” ที่เล่าถึงตัวตน “บุคคล” ที่ไม่สมประกอบ แต่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข ไม่สนความทุกข์ของตัวเอง

แต่ในโลกความเป็นจริง บทเพลง “บัวลอย” กลับเป็นที่รู้จักกันในฐานะ “สัญญาณ” ชนวนความรุนแรงในพื้นที่การแสดงสดของวงคาราบาว  คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมคนที่ชื่นชอบบทเพลงคาราบาว วงที่ชูอุดมการณ์สันติถึงรับรู้เพลง “บัวลอย” ในฐานะสัญญาณในความรุนแรง

ขณะที่วงดนตรี “เพื่อชีวิต” ชื่อดังอย่าง คาราวาน สร้างผลงานสะท้อนปัญหาของสังคมเช่นกัน กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื้อเพลงของ “คาราวาน” มี “ความหมาย” ไม่ใช่แค่ในเชิงการสื่อสารด้านภาษา แต่มีความหมายมากกว่าในเชิงการถ่ายทอดสารจากเนื้อร้อง ขณะที่บัวลอย กลับไม่สามารถถ่ายทอดสารในเนื้อร้องในฐานะเพลง “เพื่อชีวิต” กลับกลายเป็นเพลงที่บ่งบอกถึงสัญญาณ “ความรุนแรง” ไปแทนเสียได้ (ในช่วงเวลาหนึ่ง)

แง่มุมนี้อาจมองผ่านกรอบกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งผ่านบริบทเชิงพื้นที่ในแง่กลุ่มวัยรุ่นที่มักใช้ความรุนแรงในการแสดงสด แต่เชื่อว่าประชากรที่เป็นแฟนเพลงคาราบาวอีกจำนวนหนึ่งก็น่าจะรับรู้สารจากเพลงของคาราบาวที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างที่ว่ายังพอสะท้อนแง่มุมบางอย่างที่กำลังจะกล่าวต่อมาได้ระดับหนึ่ง

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ไม่เพียงแต่ศิลปิน “เพื่อชีวิต” อย่างคาราบาว ไม่นานมานี้ “พงษ์สิทธิ์ คําภีร์” เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่เข้าข่ายต้องประสบเหตุผู้ชมตีกันระหว่างชมการแสดงบ่อยครั้งทั้งที่เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเรื่องบทเพลงว่าด้วยความรักนำหน้าบทเพลงสะท้อนปัญหาสังคม หรือเรียกร้องการเคลื่อนไหว (แม้เจ้าตัวจะสร้างผลงานเหล่านี้ควบคู่กับเพลงที่มีเนื้อร้องเกี่ยวกับ “ความรัก” แบบหนุ่มสาวสามัญชน)

เนื้อในวัฒนธรรมดนตรีในไทย

“เนื้อร้อง” ในเพลงไทย และไทยสากลเป็นองค์ประกอบที่ได้รับความสำคัญในยุคหลัง อันเนื่องมาจากอิทธิพลอย่างหนึ่งคือเพลงไทยสากล อ.นิธิ มองว่า การรับรู้คำว่า “เพลง” ในปลายสมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ยังคลุมเครืออยู่ว่าหมายถึงทำนอง หรือเนื้อร้อง เช่น “เพลง” พัดชา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็หมายถึงเนื้อก็ได้ เมื่อพูดถึง “เพลง” ของชาวบ้าน น้ำหนักของสารอยู่ที่เนื้อเป็นส่วนใหญ่

แต่เมื่อพูดถึงเพลง “ลูกทุ่ง” การแสดงออกผ่านภาษายิ่งสำคัญ เพลงลูกทุ่งที่บรรเลงแค่ทำนองดนตรีย่อมได้รสชาติไม่ถึงครึ่ง ภาษาที่สื่อสารผ่านนักร้องคือการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และความหมายผ่านตัวตน บุคลิกของนักร้อง

ช่วงทศวรรษ 2530 เพลงไทยยิ่งได้รับอิทธิพลจากเพลงตะวันตกมากขึ้น ผู้ฟังรับวัฒนธรรมการฟังเพลงอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการฟังเพลงสมัยก่อนที่เป็นเพลงสุเทพ วงศ์กำแหง หรือสวลี ผกาพันธุ์ ซึ่งได้ความรู้สึก ความหมาย รับรู้ถึงความซาบซึ้งผ่านบทเพลงได้อย่างดี

วัยรุ่นบางส่วนในสมัยนั้นไม่สนใจฟังเนื้อร้องเท่าไหร่ จะสนใจเมื่อฟังจังหวะ ทำนอง และดนตรีที่ถูกใจจึงจะหันมาฟังเก็บรายละเอียดเพลงที่รวมถึงเนื้อร้องด้วย

ศ. ดร. นิธิ แสดงความคิดเห็นว่า เพลงของคาราบาว ไม่ได้ร้องบนกลเม็ดแบบที่ฟังเนื้อร้องและการร้องเพื่อรับความรู้สึกจับใจและซาบซึ้ง แม้แรงบันดาลใจของเพลงคาราบาวจำนวนมากมาจากเพลงพื้นบ้าน แต่ลีลาการบรรเลงและการร้องไม่ได้ให้น้ำหนักกับเนื้อร้องตามประเพณีหรือวัฒนธรรมไทย ผู้เขียนหนังสืออธิบายเพลงของคาราบาวตอนหนึ่งว่า

“…มีความหมายมัวๆ ส่งออกไปจากชื่อเพลงและสร้อยเพลงเท่านั้น ก็เพียงพอให้คนรู้สึกสะใจ เช่น ประชาธิปไตยไทยนั้นก็รู้ๆ กันอยู่ทุกคนว่ามี ‘รูเบ้อเริ่มเลย’ แต่รูนั้นมาจากอะไร ให้ผลอย่างไรต่อใคร และจะแก้กันอย่างไรไม่สำคัญนัก คนฟังไม่อาจ ‘รู้สึก’ ถึงรูนั้นได้จากการฟังเพลง คนฟังได้แต่สะใจและสะใจกับรูอันนั้นกับตัวเอง…”

ภาษาในโลกยุคใหม่

ปรากฏการณ์ในยุคนั้นมาจนถึงยุคนี้อาจพอทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง “ภาษา” ในโลกยุคใหม่ เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารและช่องทางการสื่อสารเปิดกว้างให้ใครก็ตามเผยแพร่ผลงานที่สร้างสรรค์เองไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพลงที่ร้องด้วยภาษาท้องถิ่น กลุ่มศิลปินและนักร้องจากภาคใต้ เหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับความนิยมในช่องทางออนไลน์แพร่หลายมาสู่คนในพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองกลายเป็นกระแส “ไวรัล” มากมายตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หลากหลายบทเพลงที่เป็นภาษาถิ่นมีเสียงตอบรับถล่มทลาย จากก้อง ห้วยไร่, ปู่จ๋าน ลองไมค์, วง L.กฮ., กลุ่มไหทองคำ มาจนถึงบทเพลงที่มีเสียง “อุ๊ยอุ๊ยอุ๊ยอุ๊ย โอ๊ะโอ๊ะโอ๊ะโอ๊ะ ซี๊ด…” เพียงท่อนเดียวก็สามารถโด่งดังพลุแตกเป็น “ไวรัล” ได้เช่นเดียวกัน ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งอาจไม่ทราบความหมายจากเนื้อร้องภาษาถิ่นเฉพาะได้มากนัก (เนื้อหาพูดถึงความนึกคิดต่อคนรักเก่าที่จะเข้าห้องหอ บอกเล่าเชิงสองแง่สองง่าม)

ในแง่ภาษาหรือวัฒนธรรมดนตรี ก็อาจมองเป็นอีกหนึ่งวิวัฒนาการของดนตรีลูกทุ่ง จากที่แฟชั่นเดิมคือใส่ท่อนแร็ปเข้าไปในเพลงกลายเป็นแค่ใส่เสียงร้องเป็นกลเม็ดสีสันเล็กน้อยก็สามารถสื่อสารและเรียกความตื่นเต้น ความแปลกประหลาดเชิง “สะใจ” จากผู้ฟังได้แล้ว

หรือกลับกันในกระแสโลก วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับ “ภาษา” ที่สวยงามเช่นเดียวกับลูกทุ่งไทยที่ฟังแล้วเห็นถึงความสำคัญของภาษา แต่ในโลกยุคใหม่ ศิลปะร่วมสมัยในกลุ่มเพลง เนื้อร้องที่ถูกตัดทอนสัมผัส เหลือโครงที่สื่อสารกันแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือแม้แต่ไม่ได้สื่อเนื้อหาสาระอะไรมากนักแต่ด้วยการถอดกรอบเหล่านั้นเหลือแค่วลีง่ายๆ แต่เมื่อฟังทำนองและวลีง่ายๆ แล้วกลับทำให้ผู้ฟังมีอาการ “Earworm” (ภาวะที่ผู้ฟังได้ยินทำนองเพลงวนเวียนในหัวแม้ว่าไม่ได้ฟังเพลงนั้นแล้วก็ตาม) กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม ซึ่งท่อน “คราง” ในเพลงที่เป็นกระแสล่าสุดก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดอาการนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คำถามต่อผลงานเหล่านี้คือคำถามต่อคุณค่าในระยะยาว นอกเหนือจากมูลค่าในระยะสั้นที่สามารถแปรเป็นผลประโยชน์ได้

ขณะที่กระแสฮิปฮอปและวัฒนธรรมการแร็ปที่เติบโตมาจากสหรัฐอเมริกา เป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนบริบทคนแอฟริกันอเมริกันจนต่อมากลายเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมืองและผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในไทยเมื่อเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้แวดวง “ใต้ดิน” (เผยแพร่ในกลุ่มเฉพาะ) กระจายไปสู่คนหมู่มากได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ดนตรีฮิปฮอปก็มีจุดขายหัวหอกเป็นการแร็ปอยู่แล้ว ขณะที่ทำนองของดนตรีแบบฮิปฮอปตามภาษาเฉพาะที่เรียกกันว่า “บีท” (Beat) ซึ่งก็มาจากการเสียงสังเคราะห์ไปแล้วมีบทบาทเป็นเพียง “เครื่องมือ” สนับสนุนการแร็ปที่เสมือนเป็นพระเอกนำ

ผู้บริโภคเพลงแร็ปแทบจะเกือบทั้งหมดสนใจ “ภาษา” โดยตรง เมื่อลองย้อนไปดูวัฒนธรรมการแร็ปใต้ดินในไทยที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมต้นฉบับว่าด้วยเรื่องกรรมวิธีการใช้ภาษา จุดมุ่งของภาษาที่ใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์โจมตีสิ่งที่เข้ามาในสังคม อาจเห็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่ภาษาไทยในการแร็ปสามารถควบรวมคลังศัพท์และยุทธวิธีพลิกแพลงภาษาเพื่อใช้ “วิจารณ์” (ถ้าตามตรงคือ “ด่า” นั่นแหละ) ได้อย่างพิสดาร

ผลงานของ Liberate P ที่เคยปรากฏในงานโชว์เฉพาะกลุ่มตามจังหวัดต่างๆ สร้างการรับรู้ในกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะขยายมาสู่โลกกระแสหลัก “ประเทศกูมี” (เวอร์ชั่นล่าสุด) ใช้ภาษาและลีลาที่มาจากกลเม็ดใกล้เคียงกับกรณี “คาราวาน” คือใช้ “ภาษา” เป็นเครื่องมือสื่อสารขับตัวตนของผู้ถ่ายทอดแบบตรงไปตรงมา แต่ในแง่ที่ต่างกันคือ การแร็ปไม่ได้เปล่งเสียงออกมาตามทำนองร้องสูงต่ำเหมือนประเพณีการร้องแบบวัฒนธรรมดนตรีป๊อปอื่น (แร็ปสมัยใหม่มีใส่ระดับเสียงสูงต่ำเหมือนการขับร้องก็ได้) ความตรงไปตรงมาของภาษาสมัยใหม่ในเพลงแร็ปอาจกล่าวได้ว่า พัฒนาการมาควบรวมทั้งการสื่อสารความหมายในเชิงแนวคิดหลักการของผู้แร็ป และยังสร้างความสะใจให้ผู้ฟังได้ในเวลาเดียวกัน

บทความของศ.ดร. นิธิ ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2532 สรุปไว้ได้อย่างน่าสนใจและชวนให้คนสมัยนี้คิด แม้ว่าอาจมีบริบทบางอย่างที่แตกต่างกับกรณีในปัจจุบันที่กล่าวถึง แต่แง่มุมบางอย่างเชื่อมโยงกับความเป็นไปในโลกที่ถึงแม้ว่าภาษาจะพัฒนาการไปแค่ไหน แต่ไทยยังมีบริบททางสังคมที่อาจชวนนึกถึงอดีต เมื่อมีรายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า ผลงานก้ำกึ่งขัดคำสั่ง และเตรียมเรียกคนทำคลิปให้ปากคำ (อ่านเพิ่มเติม ศรีวราห์ฮึ่ม! ‘แร็พประเทศกูมี’ อาจขัดคำสั่ง คสช. จ่อเรียกคนทำคลิปให้ปากคำ!)

“เมื่อกบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่เคยดูแลเนื้อหาในสื่อซึ่งถูกยุบไปแล้ว) ห้ามออกอากาศบางเพลง เพราะเนื้อร้องนั้น กบว.กำลังจับความหมายของเพลงผิดจุดหรือไม่

เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นในวัยรุ่นเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมที่ภาษาที่เป็นคำกำลังหดตัวลง เขาจะอยู่อย่างไรในโลกที่คนมีอำนาจ (นับตั้งแต่ พ่อแม่ ครู นายจ้าง ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี) ยังอยู่ในวัฒนธรรมที่ภาษาที่เป็นคำยังครอบงำอยู่

นี่ใช่เหตุผลหรือไม่ ที่เขาเหล่านั้นถูกมองว่าใช้ภาษาไทยผิดๆ เขียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไร้รสนิยม และชอบฟังการสำรากที่เรียกว่าเพลง

นี่ไม่ใช่ปัญหาของช่องว่างระหว่างวัย แต่เป็นช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม การเชื่อมช่องว่างนั้นจะทำได้ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจหรือการเหยียดหยาม แต่ทำได้ด้วยความพยายามจะเข้าใจวัฒนธรรมที่ต่างกัน

บทความนี้เป็นความพยายามในทิศทางนั้น แม้ว่าอาจจะผิดพลาดตื้นเขิน หรือล้มเหลว แต่ความพยายามในทิศทางนั้นเป็นภาระของเราทุกคนร่วมกัน”


อ้างอิง : 

นิธิ เอียวศรีวงศ์. บทความ คาราวาน หรือ คาราบาว “เหลา-สด-ไม่เนื้อ”. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 ธันวาคม, 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2561