ศัลยา ชม “สายโลหิต” ๒๐๑๘ สวยงาม ประทับใจ

“ขุนไกร – ดาวเรือง” ในละคร “สายโลหิต” ๒๐๑๘ ออกอากาศทางช่อง 7HD (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=Jh6G91eviGI)

“ดูละครแล้วเกิดความสงสัย มีครูให้ถามจึงต้องถามครู” ได้ชมละครสายโลหิตที่ อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ เป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์โดยดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ โสภาค สุวรรณ ครั้งนี้ถูกผลิตโดยบริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด ออกอากาศทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หลังข่าวภาคค่ำ ครั้งก่อนที่สัมภาษณ์ครูแดง (อาจารย์ศัลยาแทนตัวเองว่าครูเสมอ) ครูเขียนบทละครสายโลหิตถึงตอนสุดท้ายและละครเองกำลังถ่ายทำ (อ่านย้อนหลังได้ที่ “สายโลหิต” กรุงแตก ความทรงจำครั้งบ้านเมืองดี ที่ตีความต่างออกไป : สัมภาษณ์พิเศษ อ.ศัลยา ผู้เขียนบท “บุพเพสันนิวาส”) นับเป็นโอกาสดีที่คราวนี้ได้พูดคุยกับครูแดงอีกครั้งได้ทราบข้อมูลช่วงท้ายของละครที่ไม่ควรพลาดและความรู้สึกของครูแดงหลังจากได้รับชมละครสายโลหิตที่ออกอากาศไปแล้ว ๔ ตอน  ครูแดงมีความรู้สึกอย่างไร และมาบอกเล่าการทำละครอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นแนวละครที่ครูแดงได้รับหน้าที่เขียนอยู่บ่อยครั้ง จนหลายคนมองว่าถ้าจะทำละครอิงประวัติศาสตร์ต้องนึกถึงนักเขียนบทละครท่านนี้

การเลือกบทประพันธ์สักหนึ่งเรื่องมาผลิตละครโดยเฉพาะละครอิงประวัติศาสตร์มาจากเนื่องในโอกาสพิเศษอะไรทำไมถึงเลือกบทประพันธ์นั้นมาทำละคร

“ขึ้นอยู่กับสถานีโทรทัศน์จะพิจารณา ละครช่องหนึ่งๆ มีหลายแนวหลายประเภท ทำหลากหลายตามความต้องการของผู้ชมที่มีหลากหลายด้วย แต่ถ้าพูดถึงละครอิงประวัติศาสตร์ก็จะต้องมาจากหนังสือนวนิยายต้องมีข้อมูลประกอบด้วยจึงเลือกหยิบเรื่องเหล่านี้มาทำอย่างสายโลหิต”

การเขียนบทละครอิงประวัติศาสตร์มีความแตกต่างจากละครยุคปัจจุบันอย่างไร

“ตอบแบบกำปั้นทุบดินหน่อยนะ (หัวเราะ) มีสองประการ ประการแรกเรื่องของเวลา ประการที่สองบริบททางวัฒนธรรมที่แต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ครอบครัวความคิดอ่าน ณ ช่วงเวลาไม่เหมือนกัน ความเสมอภาคหญิงชาย การอบรมเลี้ยงดูลูก หน้าที่ของสามีภรรยาที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ Story เรื่องราวที่มีคล้ายๆ กันมีความคล้ายกันตรงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ครอบครัวที่แตกแยก ครอบครัวที่อบอุ่น ความสัมพันธ์ความขัดแย้งลูกไม่ดี นิสัยแย่ปัจจุบันเป็นอย่างไร อดีตเป็นอย่างนั้น แต่ต่างกันบริบทการจัดความดราม่าเรื่องเหล่านี้ที่ต่างกัน เช่นสมัยโบราณมีเมียบ่าวว่ากันไม่ได้ ต้องยอมรับเป็นกติกาทางสังคมสมัยนั้น ปัจจุบันถ้าผู้ชายมีเมียน้อยอาจฟ้องหย่า”

ฉากในละคร “สายโลหิต” ๒๐๑๘ ออกอากาศทางช่อง 7 HD (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=Jh6G91eviGI)

ล่าสุดอย่างสายโลหิตใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ คัดเลือกหลักฐานอะไรบ้าง

เกือบจะเป็นหนังสือชุดเดียวกันกับที่ใช้ในละครบุพเพสันนิวาส หนังสือที่เกี่ยวกับอยุธยา การปกครองความเป็นอยู่ ระบบทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าเนื้อเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ห่างจาก “สายโลหิต” เป็นร้อยปีแต่ยังใช้รูปแบบกฎหมาย กติกาทางสังคมรูปแบบเดิมสิ่งที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่บุพเพสันนิวาสมีเพิ่มเติมคือหลักฐานความสัมพันธ์กับต่างชาติที่เขียนไว้เกี่ยวกับอยุธยา ความสัมพันธ์คนบางคนสังคมชั้นสูงที่มีติดต่อทำการค้ากับฝรั่งมีบันทึกของบาทหลวง ต่างจากสายโลหิตที่มีน้อย บุพเพสันนิวาสอาศัยหนังสือชุดนี้เยอะหน่อย ในสายโลหิตที่ใช้ เช่น พระราชพงศาวดาร คำให้การชาวกรุงเก่า ก็ใช้เยอะ”

พูดถึงตรงนี้คงไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงภูมิสันฐานของกรุงศรีอยุธยาตอนเปิดละครสายโลหิตเวอร์ชั่นล่าสุด ตอนเปิดเรื่องสายโลหิตมีคนพูดถึงเยอะมาก ชื่นชอบอย่างมากครูแดงคิดเห็นอย่างไร

“ใช่ค่ะเปิดเรื่องมาเป็นไปตามที่ครูเขียน โดยกราฟฟิกใช้จากภูมิสันฐานเกาะเมืองอยุธยาเป็นหลัก ครูเขียนไดอะล็อกก่อนครูจะบอกให้ทำภูมิสันฐานประมาณนี้และทำเป็นภาพมุมสูง (Bird eye view) มีวัดอะไรบ้างพอถึงบึงพระรามมีอะไรเสริมเข้ามา บางอย่างมีใส่ไดอะล็อกเพิ่มเติมเข้าไปตามที่คนทำกราฟฟิกทำซึ่งมีผู้กำกับละครคุณเพ็ญลักษณ์ อุดมสิน ใส่เข้าไปให้ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ถ้ารู้ว่าทำได้ดีขนาดนี้ครูจะใส่เพิ่มเข้าไปอีกตรงนี้เป็นวังหน้า ตลาดต่างๆ จะใส่ลงไป”

ฉาก “วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ภายในกรุงศรีอยุธยา” ในละคร “สายโลหิต” ๒๐๑๘ ออกอากาศทางช่อง 7 HD (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=K7TVoc6NobA)

แก่นของละคร ฟ้าใหม่ สายโลหิต ครูแดงเป็นนักเขียนแล้วยังเป็นนักอ่านด้วยครูคิดว่า คืออะไร

“เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น คล้ายๆ บุพเพสันนิวาสที่นางเอกของเรื่องไปพบ “ฟ้าใหม่” ครูคิดว่าเหมือนกัน เล่าประวัติศาสตร์ของอยุธยาในช่วงเวลานั้น มีการค้าขาย มีศึกสงครามตั้งแต่อลองพญา เสียกรุงฯ เปิดเมืองหลวงใหม่ คือการเล่าประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในรูปของนวนิยายและหาตัวละคร ชีวิต ความรักเข้าไป ซึ่งเป็นหลักการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ทั่วโลก สายโลหิตเป็นช่วงเวลาการเสียงกรุงฯ ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะกล่าวถึงการทำศึกเยอะเหมือนฟ้าใหม่แต่อาจไม่ละเอียดเท่า “สายโลหิต” เน้นเรื่องการแตกแยกขาดความสามัคคีของผู้คน นวนิยายทั้งสองเรื่องเขียนมานานแล้วไม่มีอะไรตายตัว เพราะมีหลักฐานงานวิจัยใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาในขณะที่เขียนบทว่าจะนำเสนออย่างไร ตัวเราจะทำอย่างไรเมื่อมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นเข้ามาจะทำอย่างไรตอนที่คนเขียนนวนิยายอาจใช้ข้อมูลอีกชุดหนึ่ง แต่พอครูเขียนอาจจะอ่านจากข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ดังนั้นครูต้องเลือกข้อมูลมาใช้ เรื่องบุพเพสันนิวาสข้อมูลไม่ค่อยคลาดเคลื่อนมากมาย แต่เสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ มีการศึกษายุคหลังมานี้เยอะมากเพราะฉะนั้นครูเขียนเลยเป็นปัญหาพอสมควร นับว่าเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของคนเขียนบท”

ครูแดงชมละครสายโลหิตทุกตอนมีจุดหนึ่งที่น่าสนใจไม่เคยพบในละครอิงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

“การสักเลข” ครูแดงนำข้อมูลมาเสริม

“เรื่องนี้มีมานานแล้วข้อมูลมี ไพร่ต้องสักเลขที่ข้อมือ ครูพยายามเขียนลงไปนะ (หัวเราะ) สักได้ข้างหลังข้างนอกข้อมือครูใส่ไป เป็นอะไรที่ไม่ซับซ้อนไม่เคยมีฉากแบบนี้ในละคร”

ส่วนตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ควรมี

“ใช่ ไพร่ไปทัพต้องนำอาหารไปเอง แต่ถ้าไปนานจะมีกองเกียกกายช่วย เมื่อดูสายโลหิตไปจะมีเรื่องนี้ด้วย กองเกียกกาย พระยาพลเทพเป็นผู้รับผิดชอบหาอาหาร พระยาพลเทพไปแบ่งให้ข้าศึกโดยรับสินบนมาได้เพิ่มฉากเหล่านี้ลงไปด้วย”

ครูแดงคิดอย่างไรบ้างที่พูดคุยคราวก่อนบอกว่าสายโลหิตคงไม่ได้ออกอากาศปีนี้แล้วออกอากาศปีนี้แล้ว

(หัวเราะสบายใจก่อนตอบ) “ครูคิดว่าเขายังทำซีจีไม่เสร็จ แต่ก็ดี อยู่ที่สถานีโทรทัศน์”

“ขุนไกร – ดาวเรือง” ในละคร “สายโลหิต” ๒๐๑๘ ออกอากาศทางช่อง 7HD (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=Jh6G91eviGI)

ไม่มีการตีความใหม่ละครใหม่

“ครูไม่ได้ตีความอะไรใหม่ สายโลหิตเขียนไปตามเนื้อเรื่อง…แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือรายละเอียดที่ไม่เหมือนคราวที่แล้ว รายละเอียดบางเรื่องทำให้สนุกขึ้นจะใส่เข้ามา ถ้าครูได้ทำอีกครั้งที่สามครูก็จะเปลี่ยนอีก ละครที่ออกอากาศเนื้อหาไม่พอต้องใส่เพิ่ม ละครปัจจุบันจะใส่รายละเอียดเพิ่มเข้าไปหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครตรงนี้คือ Subplot แต่ละครอิงประวัติศาสตร์ต้องหาข้อมูลแล้วใส่ลงไปเพื่อรับกับเนื้อหาเท่านั้นเอง หัวหางของเรื่องยังเหมือนเดิมทุกอย่างเป็นไปตามนวนิยาย ส่วนท้ายของนวนิยายสายโลหิตมีกล่าวถึงพระเจ้าตากสินเล่าถึงการสู้รบ ตอนนี้ทำเวอร์ชั่นใหม่ ครูไปอ่านเจอมาเมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์ท่านรบเยอะ ท่านปราบปรามก๊กเหล่าต่าง ๆ ตรงนี้ครูไม่ทำ แค่มีบทพูดสองสามประโยคกล่าวถึงเท่านั้น และไปขยายส่วนอื่นแทนพระเจ้าตากสินท่านไปช่วยเหลือประชาชน อดอยากกันมาก ท่านไปช่วยเหลือตั้งโรงทาน ไปแจกเสื้อผ้า ทรงแนะนำ การทำนา ครูนำมาใส่ในเวอร์ชั่นนี้ด้วยเป็นสิ่งที่ไม่มีในละครเรื่องไหนและไม่มีตีความใหม่ค่ะ (หัวเราะ) เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่มีใครเคยทำในละคร

การถ่ายทำสายโลหิตทั้งสองเวอร์ชั่น ล่าสุดนี้ถ่ายเสร็จปิดกล้องถึงออกอากาศ

“เมื่อก่อนถ่ายไปออกอากาศไป ครูไม่มีทางเลยที่จะเขียนบทจบแล้วรอละครออกอากาศ ตอนนั้นมีสองเจ้าที่ทำละครป้อนให้ช่อง ๗ หลักๆ คือกันตนากับดาราวิดีโอ สองบริษัทสลับกันไปเพราะฉะนั้นครูไม่มีทางที่จะเขียนบทละครให้จบก่อนละครจะออกอากาศ เขียนไปหรือถ่ายทำไปจำนวนหนึ่งแล้วมานำออกอากาศ เปรียบเหมือนไปทำงานเช้าไปเย็นกลับจะทันได้ไง (หัวเราะ)

พูดถึง “สายโลหิต” “ญาติกา” ก็น่านำมาทำต่อกัน

“ญาติกา เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องราวต่อกันกับ “สายโลหิต” และมีเรื่องราวความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ครูเคยอ่านพบเรื่องราวของพระเจ้าอุทุมพร ชาวโยเดียที่อยู่ในแผ่นดินนั้นคงน่าสนใจไม่น้อยถ้าได้ทำเป็นละครและเป็นเรื่องราวอันดีกับประเทศเพื่อนบ้านการอยู่ร่วมกัน”

อาจารย์ได้ชมสายโลหิตเวอร์ชั่นล่าสุด ผ่านไปสี่ตอนรู้สึกอย่างไรบ้าง

“เดินเรื่องเร็ว ดาวเรืองโตไวมาโตตอนที่ ๔ ครูพอใจพอร์ช ศรัณย์และอ๊อฟ ชนะพลเล่นเก่งมากทั้งคู่ ส่วนดาวเรืองที่นาว ทิสานาฏ แสดงเล่นดีมากน่ารักสมวัยและดาวเรืองตอนเด็กเล่นดีมากน่ารักชอบมาก”

ใกล้เวลา ๒๐.๑๕ ที่ละครสายโลหิตตอนที่ ๕ กำลังจะมาจึงขอตัวลาครูแดงไปชมละครต่อ การสนทนาทางโทรศัพท์ หนึ่งชั่วโมงจึงอิ่มเอมไปด้วยสาระ ความสนุก เห็นความตั้งใจของผู้เขียนบทที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะถ่ายทอดละครดีๆ หนึ่งเรื่องให้ได้ชม ละครอิงประวัติศาสตร์ควรชมเพื่อศึกษาเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวังและอนาคตที่ดี “ละครไม่ใช่ประวัติศาสตร์อย่าหาความจริงจากละครเสียทุกอย่าง เพราะละครก็คือละคร การค้นคว้าหาความจริงเป็นสิ่งที่ดีเป็นการรต่อยอดจากละคร”