ขายศิลปวัฒนธรรมเป็นก็รวยแล้ว

นักท่องเที่ยวต่อคิวยาวเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) หนึ่งในไฮไลท์สถานที่ท่องเที่ยวของ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ภาพจากเว็บไซต์ https://www.travelmagazine.org/wp-content/uploads/2011/09/paris1007-2.jpg)

ผมไม่ได้ให้ขายนิตยสารศิลปวัฒนธรรมนะครับ แต่อยากเสนอให้เรียนรู้การขายศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยกันให้เป็น

ขายอย่างไรจึงจะเรียกว่าขายให้เป็น นี่ต้องยกตัวอย่างประเทศที่เขาขายศิลปวัฒนธรรมเป็นหลักอย่างประเทศฝรั่งเศส ที่ผมเพิ่งไปซื้อศิลปวัฒนธรรมของเขามา ซื้ออยู่เพียงเมืองหลวงเมืองเดียวคือกรุงปารีส ใช้จ่ายเงินเป็นแสนบาทต่อคน นี่ไม่รวมค่าเครื่องบินค่าที่พักนะครับ มีแต่ค่าหนังสือ ค่าเข้าชมมิวเซียม ค่าไปชมตึกสมัยใหม่ ค่าจัดการแสดง ค่ารถ ค่าอาหาร

ปัจจุบันมิวเซียมในโลกได้เปลี่ยนวิธีการไปมากแล้ว โดยเฉพาะในยุโรปทุกประเทศ เขาไม่มีมิวเซียมเอาไว้ให้คนเดินเข้ามาดูแล้วนะครับ แต่เขาเอามิวเซียมออกมาขาย ทำการตลาด ทำการประชาสัมพันธ์ ศึกษาเรียนรู้กลไกของตลาด คิดหากิจกรรมเสริมที่ตื่นตาตื่นใจจากข้าวของที่เขามีอยู่

มิวเซียมคือสินค้าชนิดหนึ่งที่ต้องมีการวางแผนการตลาดว่าจะขายอย่างไร และที่สำคัญเมื่อเขาได้รับเงินลงทุนจากรัฐ เขาต้องคิดถึงการขายที่จะได้เงินมาบริหารกิจการมิวเซียมของเขาให้อยู่ได้ ไม่ใช่นั่งรอเงินจากรัฐอย่างเดียว คนของเขาที่ทำงานในมิวเซียมจะต้องคิดหากิจกรรมเสริมที่เรียกคนดูเข้ามาดู อะไรที่ขายได้ต้องเอาออกมาขายให้หมด อะไรที่ผลิตขึ้นใหม่เพื่อขายต้องคิดต้องวิจัย ว่าคนชอบอะไร สมุด ดินสอ เสื้อยืด ผ้าพันคอ กระเป๋า  โปสการ์ด หนังสือ

จัดการแสดงใหม่ให้น่าสนใจทุกเรื่อง จะจัดเป็นเรื่องราว หรือเอาปีเป็นตัวตั้งว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในปีนั้น หรือยกเอาเรื่องที่เก่าแก่คนลืมไปหมดแล้ว เอามาปัดฝุ่นคิดใหม่ทำใหม่ โดยไม่ลืมรากเหง้าพื้นเพ มันขายได้ทั้งนั้น เพราะบ้านเมืองเขามีวัฒนธรรมมีศิลปะที่จะขาย

ประเทศฝรั่งเศสไม่มีศิลปวัฒนธรรมไปมากกว่าประเทศไทย เรามีมากกว่าด้วยซ้ำ และเก่าแก่ด้วย แต่เราเอามาขายไม่เป็น เราไม่ลงทุน เราหากินแต่กับของที่มีอยู่แล้ว ไม่คิด ไม่สร้างสรรค์ ไม่ศึกษาเรียนรู้ ไม่วิจัย ไม่มีการตลาด เราคิดแบบเก่าเหียกอยู่เป็นร้อยปี ไม่เคยขยับอะไรออกจากที่ที่มันเคยวางอยู่

เรายังวางของเอาให้คนดูในมิวเซียมอย่างเดียว จับต้องไม่ได้ ดูแล้วก็ไม่รู้เรื่อง อยากรู้มากกว่าที่เห็นก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน

อย่ารอให้เขาเข้ามาชมแต่ของเก่า ที่เห็นมาเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว มันก็ยังวางอยู่ที่เดิม คำอธิบายเดิม แล้วใครจะอยากมาดูอีก ไปอยุธยา สุโขทัยทีไรก็เจอแต่ภาพเก่า ๆ แถมยังมีแต่ของใหม่มาทำให้รกรุงรัง

ฝรั่งเศสขายศิลปวัฒนธรรมอย่างเดียวก็มีเงินทุนมาจุนเจือประชาชนได้ มิวเซียมเขาเปลี่ยนการแสดง จัดกิจกรรมกันอย่างไม่หยุดหย่อน มีอะไรใหม่ ๆ ที่คนต้องไปดูกันเสมอ พลาดไม่ได้ 

ถ้าเราไม่จัดการเสียตอนนี้ เราก็จะไม่ได้จัดการอะไรเลย


(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ขายศิลปวัฒนธรรมเป็นก็รวยแล้ว” เขียนโดย นิวัติ กองเพียร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2551)