ผู้เขียน | พร่างพนานต์ ช่วงพิทักษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
จริงหรือที่ “สุนทรภู่” ชอบ “สาวชาววัง” แต่เหยียดสาวชาวบ้าน?!
พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือโดยทั่วไปมักเรียกท่านว่า สุนทรภู่ หนึ่งในยอดกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีฝีมือการประพันธ์และสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งกลอนนิทาน นิราศ สุภาษิต เพลงยาว และผลงานอื่นๆ อีกมาก ซึ่งผลงานที่ท่านประพันธ์นั้นก็ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
เหตุผลที่ทำให้งานของสุนทรภู่ได้รับความนิยม นอกเหนือไปจากการใช้กลวิธีการประพันธ์อันไพเราะจากสัมผัสคล้องจองและจังหวะอันลื่นไหลแล้ว จินตนาการก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้งานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในผลงานของกวีก็ยังได้มีการสอดแทรกประวัติ ความเป็นตัวตนของกวีไว้ในงานอีกด้วย โดยเฉพาะในงานนิราศจะปรากฏทัศนคติ ความคิดของกวีแทรกอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง
สุนทรภู่ ยังเป็นที่รู้จักกันดีในด้านความเป็น “กวีนักรัก” อีกด้วย ดังปรากฏในประวัติของท่านว่า มีภรรยามาแล้วถึง 3 คน คือ แม่จัน แม่นิ่ม และ แม่ม่วง ยังไม่นับรวมนางอันเป็นที่รักอีกหลายนาง ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในผลงานนิราศอีกหลายเรื่อง เช่น นางงิ้ว นางแตง นางอิน นางแก้ว เป็นต้น นางทั้งหลายเหล่านี้ อาจเป็นนางที่สุนทรภู่นั้นจินตนาการขึ้นประกอบคำประพันธ์เพื่อให้ได้อรรถรสมากขึ้นเพียงเท่านั้นก็เป็นได้ แต่เพราะการที่มีนางอันเป็นที่รักหลายนางนี้เอง จึงทำให้ผู้คนนั้นกล่าวถึงสุนทรภู่ว่ามีอุปนิสัย “เจ้าชู้” เป็นอย่างยิ่ง
การที่สุนทรภู่กล่าวคำรำพึงรำพันถึงนางทั้งหลาย จึงทำให้เกิดแนวคิดขึ้นว่าสุนทรภู่นั้นชอบผู้หญิงที่เป็น “สาวชาววัง” เป็นพิเศษ และดูถูก “สาวชาวบ้าน”?
เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า ทั้งภรรยาหรือผู้หญิงที่สุนทรภู่มักกล่าวถึงบ่อยๆ ในนิราศ โดยมากมักจะเป็นสาวชาววัง หรือสาวในเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ ดังเช่น “แม่จัน” ภรรยาคนแรกของสุนทรภู่ ก็เป็นข้าในกรมพระราชวังหลังมาก่อน จึงมีความเป็นไปได้ว่า สุนทรภู่มีอุปนิสัยชอบเกี้ยวสาวชาววังเป็นพิเศษ
ประกอบกับประวัติครอบครัวของสุนทรภู่ จึงยิ่งเป็นการส่งเสริมแนวคิดที่ว่า ท่านชอบผู้หญิงชาววังได้เป็นอย่างดี เพราะมารดาของท่านคือ “แม่ช้อย” หลังจากหย่ากับบิดาของสุนภู่ หลังจากที่ท่านเกิดได้ไม่นาน ก็ได้ถวายตัวเป็นนางนมของ “พระองค์เจ้าหญิงจงกล” พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังในเวลาต่อมา
ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ของสุนทรภู่ จึงผูกพันกับพระราชวังหลังมาโดยตลอด ผู้หญิงที่พบเจอจึงมักจะเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งล้วนแต่มีหน้าตางดงาม ผิวพรรณผุดผ่อง แต่งกายตามแบบธรรมเนียมของนางใน เป็นผลให้สุนทรภู่นั้นรู้สึกคุ้นเคยและมีรสนิยมชื่นชอบหญิงชาววังเป็นพิเศษ
เพราะสุนทรภู่ชื่นชอบสาวชาววังจึงดูถูกสาวชาวบ้านหรือ?
แม้ว่าสุนทรภู่จะมีรสนิยมชื่นชอบหญิงในวังก็จริง แต่ก็มิน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ท่านนั้นรังเกียจหญิงชาวบ้าน ดังที่กล่าวในเบื้องต้นว่า สุนทรภู่อาศัยอยู่กับมารดาในวังหลังตั้งแต่วัยเยาว์ กระทั่งเข้ารับราชการก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับวังอยู่เสมอ ทำให้สุนทรภู่มีความรู้สึกคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของหญิงในวังมากกว่า จนกระทั่งเมื่อครั้งที่สุนทรภู่ต้องเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยองนั้นเอง จึงเป็นครั้งแรกที่สุนทรภู่ได้เห็นภาพของหญิงชาวบ้านจริงๆ มิใช่หญิงชาววังแบบที่คุ้นเคย ก่อให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจมากกว่าที่จะเป็นความรู้สึกเหยียดหรือรังเกียจ ดังที่ปรากฏใน “นิราศเมืองแกลง” ที่สุนทรภู่ได้ประพันธ์ขึ้นระหว่างเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง ความว่า
อันนารีที่ยังสาวพวกชาวบ้าน ถีบกระดานถือตะกร้าเที่ยวหาหอย
ดูแคล่วคล่องล่องแล่นแฉลบลอย เอาขาห้อยทำเปนหางไปกลางเลน (นิราศเมืองแกลง)
เห็นสาวสาวชาวไร่เขาไถที่ บ้างพาทีอือเออเสียงเหนอหนอ
แลขี้ไคลใส่ตาบเปนคราบคอ ผ้าห่มห่อหมากแห้งตะแบงมา (นิราศเมืองแกลง)
ตัวบทที่ได้ยกมาบางส่วนจากนิราศเมืองแกลงนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงทัศนคติของสุนทรภู่ที่มองหญิงชาวบ้านในแง่ของความเป็นจริง ไม่ได้ดูถูกหรือเหยียด หากแต่เป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่แตกต่างจากที่คุ้นเคยเท่านั้น หรือแม้กระทั่งในนิราศเรื่องต่อๆ มา สุนทรภู่ก็เพียงแค่พรรณนาถึงสภาพของหญิงชาวบ้านที่ได้พบระหว่างเดินทาง มิได้มีเจตนาแฝงนัยดูถูกเลย ดังตัวอย่างความที่ยกมาจาก “นิราศภูเขาทอง” ดังนี้
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา ทั้งผัดหน้าจับกระเหม่าเหมือนชาวไทย (นิราศภูเขาทอง)
อาจกล่าวได้ว่า สุนทรภู่ เป็นกวีนักรักที่อาจแค่เพียงมีรสนิยมชื่นชอบ สาวชาววัง เป็นพิเศษเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้ดูถูก สาวชาวบ้าน เช่นกัน หากแต่เป็นการมองในแง่มุมตามความเป็นจริงที่ได้พบเห็น จึงเกิดความรู้สึกประหลาดใจ เพราะก่อนหน้านั้นชีวิตมีแต่ความเกี่ยวข้องกับวังโดยตลอด ภาพของหญิงที่คุ้นเคยจึงเป็นหญิงชาววัง และความคุ้นเคยนี้เองอาจส่งผลไปถึงรสนิยม ความชอบส่วนตัวของกวีด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อสุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป “เกี้ยว” กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3
- สุนทรภู่ต้องร่อนเร่เพราะแก้กลอนรัชกาลที่ 3 !!?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2561