การ (ไม่ได้) สร้างความสำคัญในอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช (ท้าวกวด)

ในการที่จะก่อสร้างอนุสาวรีย์ในที่ต่างๆ ขึ้นนั้น ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับรูปลักษณะและสถานที่ตั้งให้ทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายเอกชนขออนุญาตตามระเบียบก่อนการก่อสร้าง ซึ่งสถานที่ตั้งต้องอยู่ ณ บริเวณที่มหาชนจะสักการบูชาได้สะดวก เป็นที่ที่งามสง่าเชิดชูเกียรติ หรือสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่อบุคคลสำคัญนั้นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อประกาศความสำคัญของอนุสาวรีย์ รวมทั้งต้องการให้คำนึงถึงประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและน้อมนำใจประชาชนให้รำลึกถึงเกียรติคุณของบุคคลสำคัญ[1]

อนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช(ท้าวกวด) ณ สวนสาธารณะหนองข่า บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม

ซึ่งอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดชนั้น สร้างขึ้นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520 ทุกประการ แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างอนุสาวรีย์ในครั้งนั้น ก่อให้เกิดการไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ และไม่ได้ส่งเสริมน้อมนำใจจิตใจประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของอนุสาวรีย์เพื่อต้องการให้คำนึงถึงประโยชน์อันสร้างสรรค์ รวมทั้งสถานที่ตั้งไม่ได้สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของตัวบุคคลสำคัญในอนุสาวรีย์ ซึ่งหากจะดูจากวัตถุประสงค์ของการสร้างอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช กล่าวคือ ต้องการให้เพื่อให้อนุชนรุ่นต่อไปๆ รำลึกถึงคุณงามความดี ความกตัญญูกตเวที และเป็นปูชนียวัตถุที่ควบคู่ไปกับจังหวัดมหาสารคาม และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้จัดสร้าง รวมทั้งต้องการจะยกย่องเชิดชูวงศ์ตระกูลของตนเองเพื่อสดุดีต้นตระกูลของบรรพบุรุษของตนเอง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า การก่อสร้างอนุสาวรีย์นั้นอาจจะตอบสนองต่อความต้องการต่อวงศ์ตระกูลเชื้อสายของกลุ่มตระกูลเจ้าเมืองเอง ในการที่เป็นที่สักการบูชา และเป็นสถานที่เพื่อน้อมรำลึกถึงต้นตระกูลของตัวเองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช อาจจะไม่ได้สร้างภาพลักษณ์เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีในหมู่ของประชาชนในวงกว้าง แต่เป็นการรับใช้เพื่อน้อมรำลึกถึงประโยชน์อันสร้างสรรค์ของกลุ่มเชื้อสายของกลุ่มตระกูลเจ้าเมือง ซึ่งในปัจจุบันการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช จะเห็นได้ว่า การบวงสรวงนั้นกลุ่มสายตระกูลเจ้าเมืองยังจัดงานบวงสรวงที่ไม่ตรงกับพิธีกรรมบวงสรวงที่บทบาทของเทศบาลเมืองมหาสารคาม ที่ได้ยึดวันที่ 22 สิงหาคม ของทุกปี เป็นประกอบพิธีกรรมบวงสรวงในทุกปี ย่อมแสดงให้เห็นว่า อาจจะไม่ได้สร้างภาพลักษณ์และความสำคัญเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีในหมู่ของประชาชนชาวมหาสารคามในวงกว้าง[2]

นอกจากนั้นแล้วสถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์นั้น ไม่สามารถที่จะทำให้อนุสาวรีย์มีความสำคัญขึ้นได้ จากคำสัมภาษณ์ของคุณยายทองเลี่ยมท่านเล่าว่า

“ปัจจุบันคนสารคามน้อยคนมากที่จะรู้จักอนุสาวรีย์ท้าวกวดว่า ตั้งอยู่ที่ใด เนื่องจากทางเทศบาลเมืองมหาสารคามไม่คิดที่จะทำป้ายบริเวณด้านหน้าของตัวอนุสาวรีย์ ทำให้คนไม่รู้จักว่า บริเวณนั้นคือที่ตั้งของอนุสาวรีย์ และบริเวณนั้นเป็นบริเวณทางโค้ง ซึ่งไม่ได้เป็นสถานที่ที่ผู้คนมองเห็นอนุสาวรีย์ได้จากระยะไกลๆ”[3]

บริเวณด้านหน้าทางเข้าอนุสาวรีย์ : ถ่ายภาพวันที่ 29 มีนาคม 2561

ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า บริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์นั้น เป็นสถานที่ของสวนสาธารณะหนองข่า ซึ่งบริเวณด้านหน้าทางเข้าออกของสวนสาธารณะนั้น ติดป้ายชื่อสถานที่ของสวนสาธารณะแห่งนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของอนุสาวรีย์บริเวณด้านในส่วนสาธารณะนั้น ดูไม่มีความสำคัญและลดบทบาทลงทำให้ดูไม่สง่าไม่เป็นที่น่าจดจำ

อีกทั้งสถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์นั้น ไม่สามารถที่จะทำให้อนุสาวรีย์มีความสำคัญขึ้นได้ยังปรากฏอยู่ในรายงานข่าวการแสดงความคิดเห็นของไตรภพ ผลค้า ในหนังสือพิมพ์มติชน โดยรายงานว่า

“สวนสาธารณะหนองข่านั้นเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองมหาสารคาม สถานที่ตั้งค่อนข้างลึกลับอยู่บริเวณทางโค้ง ผู้คนสัญจรผ่านไปมาหาก ไม่สังเกตให้ดีจะไม่ทราบว่า ภายในสวนสาธารณะนี้มีอนุสาวรีย์บรรพบุรุษอยู่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวมหาสารคาม”[4]

ซึ่งจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ ของไตรภพ ผลค้า มีความคิดเห็นที่ควรย้ายอนุสาวรีย์ไปตั้งที่ใหม่ด้วย โดยความว่า

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวมหาสารคาม จะได้เลือกสถานที่แห่งใหม่เพื่อย้ายอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ออกมา จากสถานที่ลี้ลับเพื่อความภาคภูมิใจ ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แก่ผู้พบเห็น”[5]

รวมถึงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ของอาจารย์ธีรชัย บุญมาธรรม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ที่มีความคิดเห็นที่ควรย้ายอนุสาวรีย์ไปตั้งในสถานที่ที่สมควรและมีความสำคัญ โดยมีความคิดเห็นว่า

ถึงแม้บ้านเกิดของผมจะไม่ใช่มหาสารคาม ผมเคยมีความคิดและรณรงค์อยากให้ย้ายอนุสาวรีย์ไปตั้งไว้ที่ประชาชนสามารถเห็นได้ง่าย เช่นทางเข้าเมือง ยกตัวอย่างอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม กลับมีความงดงาม มีสง่าราศี ใครผ่านไปมาก็ได้ยกมือไหว้ ขอความเป็นสิริมงคล เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองอุดรธานีในปัจจุบัน”[6]

 

ภายในพิพิธภัณฑ์ที่ยังขาดองค์ประกอบของการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าดึงดูดและไม่ตอบสนอง แหล่งที่มา พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม

สุดท้ายการไม่ได้สร้างความสำคัญในอนุสาวรีย์นั้น เกิดจากการขาดการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามเพื่อส่งเสริมในการที่จะสร้างสรรค์ และถ่ายทอดความรู้ของการกำหนดแนวทางของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กล่าวคือ บริเวณโดยรอบของอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามขาดองค์ประกอบที่เป็นจุดเด่น เช่น ป้ายบอกชื่อพิพิธภัณฑ์ทางด้านหน้า ทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมา ไม่ทราบว่ามีพิพิธภัณฑ์อยู่บริเวณด้านใน รวมทั้งอนุสาวรีย์ที่อยู่ด้านในอีกด้วย การจัดการเนื้อหานิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ยังไม่สามารถครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งหมดของชุมชนท้องถิ่น และไม่มีการจัดนิทรรศการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในท้องถิ่น และอยู่กับกรอบแนวทางและนโยบายของเทศบาลเมืองมหาสารคามเป็นสำคัญซึ่งแนวทางการตอบสนองของนโยบายนั้น มีเพียงช่วงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ช่วงแรกเท่านั้น[7]

ซึ่งทำให้ความสำคัญของตัวรูปลักษณ์ของอนุสาวรีย์พระเจริญราชเดชที่อยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามนั้น ขาดความสำคัญของอนุสาวรีย์ รวมทั้งไม่ได้สร้างความต้องการให้คำนึงถึงประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและน้อมนำใจมหาชน


เชิงอรรถ

[1] กรมศิลปากร.กระทรวงศึกษาธิการ. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 หน้า 1-2

[2] ธีรชัย บุญมาธรรม.ความ(ไม่) รู้เรื่องมหาสารคาม.พิมพ์ครั้งที่ 1,ขอนแก่น:คลังนานา,2558 หน้า 112

[3] ทองเลี่ยม เวียงแก้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ บรรณษรณ์ คุณะ เป็นผู้สัมภาษณ์ ณ บ้านเลขที่ 488 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม .เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2561

[4] ไตรภพ ผลค้า “ พระเจริญราชเดช ผู้สร้างเมืองมหาสารคามกับอนุสาวรีย์สุดลี้ลับ”. มติชน.(1 ธันวาคม 2536) หน้า 17

[5] เรื่องเดียวกัน หน้า 17

[6] ธีรชัย บุญมาธรรม.ความ(ไม่) รู้เรื่องมหาสารคาม.พิมพ์ครั้งที่ 1,ขอนแก่น:คลังนานา,2558 หน้า 112

[7] กิตติกรณ์ บำรุงบุญ.(2558).การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม.วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,34(4), 243-251

อ้างอิง

กรมศิลปากร.กระทรวงศึกษาธิการ. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 หน้า 1-2

กิตติกรณ์ บำรุงบุญ.(2558).การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเชิงสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม.วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,34(4),243-251

ไตรภพ ผลค้า “พระเจริญราชเดช ผู้สร้างเมืองมหาสารคามกับอนุสาวรีย์สุดลี้ลับ”.มติชน.(1 ธันวาคม 2536) หน้า 17

ทองเลี่ยม เวียงแก้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ บรรณษรณ์ คุณะ เป็นผู้สัมภาษณ์ ณ บ้านเลขที่ 488 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม .เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2561

ธีรชัย บุญมาธรรม.ความ (ไม่) รู้เรื่องมหาสารคาม.พิมพ์ครั้งที่ 1,ขอนแก่น : คลังนานา,2558 หน้า 112

บรรณษรณ์ คุณะ.(2561). อนุสาวรีย์พระเจริญราชเดช (ท้าวกวด) กับสร้างตัวตนของชนชั้นนำท้องถิ่นมหาสารคาม(พ.ศ.2527-2560).รายงานวิชาสัมมนาประวัติศาสตร์นิพนธ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม