ผู้เขียน | เกรียงศักดิ์ ดุจจานุทัศน์ และ พัชรเวช สุขทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ต่างๆ ของพระเจ้าตากล้วนได้รับความสนใจ เพราะแฝงเร้นไปด้วยมนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์เรื่องจริง และเรื่อง “เล่า”
หนึ่งในเรื่องเล่าของพระเจ้าตากที่ยังคงความคลาสสิค คือเหตุการณ์ “ขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่ง” ซึ่งมักถูกนำมาโยงใยกับอาการ “วิปลาส” (หรือเปล่า) ของพระองค์ ว่านอกจากพระองค์จะทรงหมกมุ่นอยู่กับการเจริญพระกรรมฐาน ตัดสินลงโทษขุนนางและพระสงฆ์อย่างเด็ดขาดแล้ว พระองค์ยังทรงพระสติฟั่นเฟือนถึงขั้นส่งคณะราชทูตไปสู่ขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่งเลยทีเดียว
ปัจจุบันในแวดวงนักประวัติศาสตร์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และสืบหาหลักฐานใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์เหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นแค่ “กอสซิป”
ล่าสุด นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 นำเสนอบทความของ กำพล จำปาพันธ์ ซึ่งเขียนถึงเหตุการณ์ครั้งพระเจ้าตากทรงส่งคณะทูตไปยังเมืองจีนเพื่อสู่ขอพระธิดาเฉียนหลงหว่างตี้ เจ้าเมืองปักกิ่ง โดยนำหลักฐานต่างๆ มาอธิบาย ในบทความชื่อว่า “การเมืองเรื่อง ‘กอสซิป’ เมื่อพระเจ้าตากขอเป็นราชบุตรเขยของเฉียนหลงหว่างตี้”
เรื่องที่ถูกเล่าสืบต่อกันมานานทั้งในและนอกวังอย่างเรื่องพระเจ้าตากทรงให้คนไปทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่ง เรื่องนี้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนใน “จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” ว่า
“ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาสน์ไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่งให้เจ้าพระยาศรีธรมาธิราชผู้เถ้ากับหลวงนายฤทธิ์หลวงนายศักดิ์ เปนราชทูตหุ้มแพร มหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง”
ซึ่ง กำพล จำปาพันธ์ ตั้งข้อสังเกตต่อพระนิพนธ์ชิ้นนี้ว่า “…บันทึกของพระองค์อาจมีความแม่นยำในหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อบกพร่องของบันทึกพระองค์ อาจเพราะความสนพระทัยที่จะให้มีผู้หญิงเป็นตัวละครที่มีบทบาทของพระองค์ หรืออาจเพราะทรงได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่มีผู้เล่าทำนอง ‘กอสซิป’ กันในรั้ววังกันมามาก จากความเชื่อแปรเปลี่ยนมาเป็นความจริง…”
เมื่อกล่าวถึงเรื่องเล่าในรั้ววัง ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงมีโอกาสได้ยินเรื่องการสู่ขอพระธิดาพระเจ้ากรุงจีน จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์มิทรงเชื่อในเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ถูกเล่าสู่กันภายในรั้ววัง ก่อนที่จะเป็นที่รับรู้ของผู้คนทั่วไป หลายท่านคิดว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นเรื่องเล่าจากข้างในรั้ววัง
ตำนานของพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก เป็นอีกข้อมูลที่กำพลชี้ให้เห็นว่ามีส่วนสนับสนุนแนวคิดเรื่องเล่าในรั้ววังที่ว่าพระเจ้าตากทรงส่งราชทูตไปสู่ขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แม้เรื่องดังกล่าวจะมีลักษณะเป็น “ตำนาน” แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็มีคุณสมบัติคล้ายกับพระเจ้าตาก คือทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพื้นเพมาจากสามัญชนเหมือนกัน ซึ่งอาจไม่แปลกนักหากพระเจ้าตากจะถูกมองว่าทรงยึดเอาพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็น “ไอดอล” กำพลได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในบทความไว้ว่า
“เรื่องของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์อโยธยาที่แม้จะมีพระชาติกำเนิดจากสามัญชน แต่ทรงเป็นผู้มีบุญญาธิการเพราะได้พระนางสร้อยดอกหมาก ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน มาเป็นมเหสี นอกจะเป็นที่รับรู้และอยู่ในความทรงจำของเจ้านายวังหน้า (ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีทรงมีความสนิทสนมคุ้นเคยอยู่ด้วย)
ก็อาจจะเป็นเรื่องที่เล่าขานหรือถูกเอามาให้ความสำคัญ เมื่อองค์พระประมุขคือพระเจ้าตาก ทรงมีเชื้อสายเป็นจีนแต้จิ๋วสามัญชนก็เป็นได้ แต่กระนั้นเรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทรงมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเจริญรอยตามพระเจ้าสายน้ำผึ้งในตำนานหรือไม่เพียงใด”
เมื่อพระเจ้าตากทรงจัดส่งเครื่องราชบรรณาการไปเมืองจีน ก็มีผู้คนกล่าวอ้างถึงการไปขอพระธิดาเมืองปักกิ่ง ซึ่ง “นิราศกวางตุ้ง” ผู้ประพันธ์คือพระยามหานุภาพ (เวลานั้นเป็นหลวงนายศักดิ์) เป็นหลักฐานหนึ่งที่พระเจ้าตากอาจทรงมอบหมายให้คณะทูตไปเป็นเถ้าแก่ดังข้อความต่อไปนี้
“แม้นองค์พระธิดาดวงสมร จะเอกเอี่ยมอรชรสักเพียงไหน แต่ได้ดูหมู่ข้ายังอาลัย ดังสายใจนี้จะยืดไปหยิบชม”
ซึ่งคำนำของนิราศกวางตุ้งฉบับกรมศิลปากร ปี พ.ศ. 2539 มีความเชื่อที่ว่าคณะทูตของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นคณะเถ้าแก่ ที่ระบุว่า “ทูตสำรับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนี้ คงมีพระราชสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก เรื่องขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แต่จะเขียนไปว่าอย่างไรไม่ปรากฏสำเนาในห้องอาลักษณ์”
กำพลได้ย้อนกลับไปศึกษาบทบาทและหน้าที่ของหลวงนายศักดิ์ พบว่า “หลวงนายศักดิ์ ผู้ประพันธ์ นิราศกวางตุ้ง มีตำแหน่งเป็นนายเวรมหาดเล็กอยู่ในคณะพ่อค้าของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ทำหน้าที่ซื้อขายสินค้าอยู่เมืองกวางตุ้ง มิได้เดินทางต่อไปยังกรุงปักกิ่ง จึงมิใช่คณะบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่เป็นเถ้าแก่แต่อย่างใด”
เมื่อศึกษาพระราชสาส์นที่พระเจ้าตากทรงส่งไปถึงองค์เฉียนหลงหว่างตี้ ที่แยกต่างหากจากบรรณาการพบว่าไม่ปรากฏเรื่องการทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่ง จากเนื้อความพระราชสาส์นล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองทั้งสิ้น
จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนต่อเหตุการณ์ที่ว่าพระเจ้าตากทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่ง พระราชสาส์นที่ส่งถึงเฉียนหลงหว่างตี้ ดูเหมือนว่าเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะพระราชสาส์นฉบับนี้ผ่านการตรวจถ้อยคำมาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ปรากฏเหตุการณ์นี้ ถ้าทูลขอด้วยวาจา คงจะเป็นการดูหมิ่นแก่ราชสำนักต้าชิง ซึ่งพระเจ้าตากทรงไม่ทำเป็นแน่ เพราะพระองค์ทรงพยายามเอาใจจีนมาโดยตลอด
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานโดนๆ รายละเอียดต่างๆ รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก ที่กำพลพยายามชี้ให้เห็นว่า เรื่องการส่งทูตไปขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่งของพระเจ้าตากนั้น “ไม่จริง” แต่อย่างใด เป็นเพียงเรื่องที่ “เมกอัพ” ขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งก็คงต้องให้ท่านผู้อ่านติดตามต่อใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
เพราะประวัติศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานใหม่อยู่ตลอด ประวัติศาสตร์จึงมีมนต์เสน่ห์!