ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เพลงยาวพระราชปรารภ รัชกาลที่ 3 ทรงรวบรวมนักปราชญ์ของราชสำนักมาประพันธ์เพลงยาวกลบท ทำเป็นจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) แต่ทำไมไม่มี “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งยุคร่วมด้วย?
เพลงยาวพระราชปรารภ รัชกาลที่ 3
ธนโชติ เกียรตินภัทร เล่าประเด็นนี้ใน “พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี” (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า
เพลงยาวพระราชปรารภ รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นร่วมกับปราชญ์และกวี ปรากฏอยู่ในกลุ่มจารึกเพลงยาวกลบทจำนวน 50 แผ่น ประดับอยู่ตามเสาพระระเบียงพระอุโบสถชั้นในของวัดโพธิ์ ซึ่งจารึกนี้อยู่ในลำดับที่ 50 อันเป็นลำดับสุดท้าย

เหล่านักปราชญ์ที่รัชกาลที่ 3 โปรดให้มาร่วมแต่งเพลงยาว ประกอบด้วย
1. รัชกาลที่ 3
2. หลวงนายชาญภูเบศร์ มหาดเล็กนายเวรในกรมมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
3. ขุนธนสิทธิ์
4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าสุทัศน์) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลิ่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับราชการกรมสังฆการี กรมธรรมการ และว่าราชการกรมอาลักษณ์และคลังเสื้อหมวก
5. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าคเณจร) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเมือง ในรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับกรมช่างมุกต่อจากพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์
6. หลวงลิขิตปรีชา
7. จ่าจิตร์นุกูล มหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
8. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้านวม) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับกรมหมอ
9. พระมหามนตรี (ทรัพย์) ขุนนางกรมพระตำรวจ
10. นายช้าง (เปรียญ) มหาดเล็ก
11. นายเกต
12. ไม่ทราบนามผู้ประพันธ์ จำนวน 3 บท
รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวกลบทและกลอักษรไว้มากสุดถึง 17 บท เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีของพระองค์อย่างเด่นชัด
เหตุใดถึงไม่มี “สุนทรภู่” ร่วมแต่ง?
ธนโชติเล่าว่า ความตอนท้ายของเพลงยาวพระราชปรารภ รัชกาลที่ 3 ทรงสรุปอีกครั้งว่า เพลงยาวทั้งหลายนี้ทรงรวบรวมไว้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระอาราม ดังนี้
“อันอักษรกลอนเพลงนักเลงเหล้น
จะรักษใคร่ให้พอเป็นแต่พาเหียร
อย่าหลงใหลในศรีปากคิดพากเพียร
แท้บาปเบียนตนตามรูปนามธำม์
ก็ทรงทราบว่าสังวาสนี้บาดจิตร
ย่อมเป็นพิศม์ดับสัลเหลข์คือเนกขาม
แต่บูชาไว้ให้ครบจบลำนำ
เป็นที่สำราญมะนัศผู้มัศกาล”
กลอนเพลงยาวข้างต้น รัชกาลที่ 3 ทรงแถลงว่า กลอนเพลงยาวที่นิยมประพันธ์กันล้วนเป็นเรื่องทางสังวาส แสดงโวหารเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นพิษภัยต่อ “สัลเหลข์” (สัลเลข) คือ การจัดเกลากิเลสในการบำเพ็ญเนกขัม (การออกบวช) แต่ทรงรวบรวมเพลงยาวกลบทให้ครบ เพื่อเป็นแบบแผนตำรากลบท

แล้วบอกอีกว่า รัชกาลที่ 3 ทรงใช้คำว่า “อันอักษรกลอนเพลงนักเลงเหล้น” ชวนให้นึกถึงสุนทรภู่ที่อ้างตัวไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า “เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว”
คำว่า “นักเลง” นี้ หมายถึง นักเล่น (เลง ภาษาเขมรหมายถึง เล่น) นักเลงทำเพลงยาวน่าจะมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “กวี” ซึ่งหนังสือ “คำฤษฎี” ให้ความหมายว่า “กระวี ว่า นักเลงกาพย์”
สาเหตุที่สุนทรภู่ไม่ปรากฏในเพลงยาวพระราชปรารภ รัชกาลที่ 3 ทั้งที่สุนทรภู่มีความสามารถในการประพันธ์เพลงยาวนั้น…
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (ทรงเป็นเจ้าของนามปากกา พ.ณ ประมวญมารค) ทรงวิเคราะห์ไว้ว่า ไม่น่าจะเกิดจากเรื่องที่สุนทรภู่ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์และเป็นที่รังเกียจ หากแต่ผู้ประพันธ์เพลงยาวกลบทนี้มีแต่เฉพาะฆราวาส และรัชกาลที่ 3 ทรงแถลงไว้ชัดเจนว่า เพลงยาวล้วนมีแต่เนื้อหาไปในทางสังวาส ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่เหมาะกับสุนทรภู่ ที่ขณะนั้นอยู่ในสมณเพศ
เป็นอันไขข้อสงสัยได้หนึ่งเรื่อง
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 3 ทรงพระประชวรเมื่อเจดีย์ที่วัดโพธิ์ เกิดเอียง
- ราชสกุลรัชกาลที่ 3 มีราชสกุลใดบ้าง?
- 27 ปี รัชกาลที่ 3 ครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ธนโชติ เกียรตินภัทร. พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568. สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2568