“ตำนานกาเผือก” เรื่องราวของ 5 พระพุทธเจ้า (พระเจ้าห้าพระองค์) ครั้งเป็นพี่น้องกัน

ตำนานกาเผือก พระเจ้าห้าพระองค์
(ซ้าย) กาเผือก (ภาพโดย Angela จาก Pixabay) (ขวา) จิตรกรรมพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ (จากเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

“ตำนานกาเผือก” หรือพญากาเผือก เป็นตำนานพื้นบ้านทางพระพุทธศาสนาที่แพร่หลายในทุกภูมิภาคของไทย เป็นส่วนหนึ่งของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ แต่ละท้องถิ่นอาจมีชื่อต่างกัน แต่สาระสำคัญคือการเล่าพระประวัติของ 5 พระพุทธเจ้าที่อุบัติในภัทรกัปป์หรือกัปป์ปัจจุบัน

5 พระพุทธเจ้า ประกอบด้วย พระอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ ได้แก่ พระกุกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า พระปัจจุบันพุทธเจ้า คือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือพระศากยมุนี และพระอนาคตพุทธเจ้า คือ พระศรีอาริยเมตไตรย

ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์เล่าถึงพระประวัติพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ตั้งแต่ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าจนถึงการตรัสรู้ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งตำนานกาเผือกคือเรื่องราวในพระชาติหนึ่งครั้งพระพุทธเจ้าทั้ง 5 เกิดมาเป็นพี่น้องกัน โดยเป็นลูกของแม่กาเผือก

กาเผือกได้ออกและฟักไข่ 5 ฟอง ไว้ ณ ต้นมะเดื่อ ไม่ไกลจากริมฝั่งแม่น้ำคงคา วันหนึ่งขณะนางออกไปหาอาหาร ได้บังเกิดพายุใหญ่โหมพัดเอารังกาปลิวไปจนไข่ร่วงหล่นกระจัดกระจายแล้วล่องไปตามแม่น้ำ เมื่อแม่กากลับมาไม่พบรังกับไข่ก็เข้าใจว่าลูก ๆ คงตายไปแล้ว จึงตรอมใจจนสิ้นชีพ แต่ด้วยบุญกุศลที่ทำมาส่งผลให้ได้ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก

แต่ไข่ทั้ง 5 มิได้สูญสลาย ทั้งยังฟักออกมาภายใต้การอุปการะของแม่สัตว์ทั้ง 5 ที่เก็บไข่ได้แล้วนำไปเลี้ยงเอง ได้แก่ แม่ไก่ แม่นาค (งู) แม่เต่า แม่โค (บางตำนานว่าเป็นหญิงซักผ้า) และแม่สิงห์ (ราชสีห์)

ตำนานกาเผือก ตำนานพญากาเผือก
(ภาพจาก เว็บไซต์ คลังความรู้ล้านนา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ความอัศจรรย์คือ ไข่ของแม่กาเผือกนั้นฟักออกมาเป็นทารกเพศชาย 5 คน ซึ่งแม่สัตว์เหล่านั้นได้ชุบเลี้ยงทารกจนเจริญวัย เมื่อทั้งหมดอายุได้ 16 ปีก็ตัดสินใจออกบวชบำเพ็ญเพียรเป็นฤๅษีอยู่ในป่า ทั้งที่ไม่เคยพบเจอหรือได้รู้จักกันเลย ครั้งนั้น พระอินทร์ได้ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตอาศรมให้ทั้ง 5 พักอาศัย

กระทั่งวันหนึ่ง ด้วยบุญบารมีที่สั่งสมมาดลบันดาลให้พระฤๅษีทั้ง 5 เดินทางมาพบกันโดยบังเอิญ เมื่อไต่ถามจนทราบและระลึกร่วมกันว่าล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องร่วมครรภ์แม่กาเผือก จึงอยากพบมารดาอีกสักครั้ง ทั้งตั้งสัจจาธิษฐานความประสงค์ดังกล่าว ส่งไปจนถึงท้าวพกาพรหม

เมื่อท้าวพกาพรหม (แม่กาเผือก) ลงมาพบลูก ๆ พระฤๅษีทั้ง 5 ขอให้ท่านยื่นเท้ามาให้กราบไหว้ ท้าวพกาพรหมให้เอาฝ้ายมาพันเป็นเกลียวทำเป็นรูปตีนกา ใส่ในผางประทีปหยอดน้ำมัน แล้วจุดไฟบูชาแทน จากนั้นจึงกลับพรหมโลก พระฤๅษีก็ปฏิบัติตาม โดยบำเพ็ญบารมีและจุดประทีปบูชาแม่กาเผือกอย่างสม่ำเสมอ

เรื่องราวส่วนนี้กลายเป็นคติต้นกำเนิดประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณียี่เป็ง ประเพณีไต้ประทีป ประเพณีตานตุง

ตำนานกาเผือกจึงเป็นตำนานเนื่องในพระพุทธศาสนา (ในวัฒนธรรมไทย) ที่แฝงเรื่องความกตัญญู และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ เป็นคติเบื้องหลังการสร้างงานศิลปกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระศรีอาริยเมตไตรย

พระเจ้าห้าพระองค์ พระพุทธเจ้าห้าพระองค์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/2412

https://ich-thailand.org/heritage/detail/6291e5b7978f238e61f77c70


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568