สัมภาษณ์ ฐนธัช กองทอง ผู้ประพันธ์บทละคร หม่อมเป็ดสวรรค์

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์

สัมภาษณ์ ฐนธัช กองทอง ผู้ประพันธ์บทละคร หม่อมเป็ดสวรรค์

  • “หม่อมเป็ดสวรรค์” จากรักต้องห้ามสู่ละครโทรทัศน์

เรื่องราวความรักระหว่างหม่อมสุดกับหม่อมขำ หรือในความทรงจำของใครหลายคนมักเรียกเธอทั้งสองว่า คุณโม่งและคุณเป็ด ได้นำมาผลิตเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากเรื่องตลกขบขัน กลายเป็นเรื่องราวความรักดราม่าเข้มข้น เพื่อสะท้อน รักต้องห้าม แห่งยุคสมัยที่ไม่มีละครเรื่องใดนำเสนอมาก่อน

ฐนธัช กองทอง [1] นักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่คร่ำหวอดในวงการละครโทรทัศน์มากกว่า 30 ปี เป็นผู้รังสรรค์บทละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ ให้โลดแล่นบนจอแก้ว จะมาเล่าเรื่องราวการเขียนบทละครที่น่าสนใจให้ได้ทราบกัน

ฐนธัช กองทอง ภาพโดย กันตพงศ์ ก้อนนาค
  • ละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” มีที่มาและพัฒนาเป็นบทละครโทรทัศน์อย่างไร

เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ ถูกคิดขึ้นมาหลายปีแล้วว่าจะทำเป็นละคร ทีมงานคุณสถาพร (สถาพร นาควิไลโรจน์) ติดต่อเข้ามา พอได้คุยกับทีมงานแล้วดีมาก เขามีสารตั้งต้น คือ โครงเรื่องคร่าว ๆ มาให้แล้วไม่ใช่เรื่องยาก พอเราทำดูพัฒนาเรื่องย่อตรงนั้นให้เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น สิ่งที่เราเห็นเลย คือ เพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องตลกขบขัน เพลงยาวเล่าเรื่องสาวชาววัง เรื่องหม่อมเป็ด และเล่าถึงพระเมตตาของพระองค์เจ้าวิลาสที่ทรงมีต่อบรรดาผู้คนในตำหนัก

แต่เมื่อทำเป็นละคร เราต้องเปลี่ยนแนวเรื่องในเพลงยาวที่เป็นเรื่องตลกมาเป็นแนวดราม่า แก่นของเรื่องพูดถึง LGBTQ+ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องแบบนี้มีแน่นอน เพราะกลอนเพลงยาวบันทึกไว้ แต่ก็มีบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลถึงบทลงโทษที่รุนแรง แต่ในตำหนักใหญ่ของพระองค์เจ้าวิลาสนั้น มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นก็แสดงว่าสังคมสมัยก่อนมีกฎหมายตราไว้ แต่ก็ไม่เป็นเรื่องจริงจังเอาเป็นเอาตาย เราเลยเกิดความคิดว่า ตัวละครในเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์จะมีชีวิตอยู่อย่างไรกับการจัดการเรื่องรักต้องห้ามของตนเองในสังคม

พอเราได้สาระสำคัญตรงนี้ เราต้องมาดูช่วงเวลาเดียวกันตามเนื้อเรื่องเกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีเรื่องราวรักต้องห้ามอย่าง พระยาสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่ม ในที่สุดทั้งคู่ต้องโทษประหารชีวิต หรือเรื่องลูกสวาทที่พระเลี้ยงเด็กชาย ซึ่งเป็นความรักระหว่างชายกับชาย ทุกเรื่องสะท้อนรักต้องห้าม เมื่อเรามีข้อมูลเช่นนี้ เราจึงต้องพัฒนาเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ มาเป็นรักต้องห้ามในสังคมสมัยนั้น ในละครเราสะท้อนความรัก ชายกับชาย หญิงกับหญิง  เจ้ากับขุนนาง ไพร่กับไพร่ ซึ่งมีกรอบหรือกฎระเบียบทางสังคม ทำให้ความรักไม่สมหวังเกิดขึ้น นำตัวละครมาร้อยเรียงกันจนเกิดเป็นเรื่องราว

  • การเขียนบทละครโทรทัศน์ให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะต่างกับสถานีโทรทัศน์อื่นอย่างไร

สถานีโทรทัศน์จะเข้ามาดูวิธีการทำงานของทีมงานอย่างละเอียด มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน หลายคน มาช่วยตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการทำเรื่องย่อจนพัฒนามาเป็นบทละครโทรทัศน์ แม้ว่าละครได้ถ่ายทำ ตัดต่อ เพื่อเตรียมออกอากาศแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิยังต้องมาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ก่อนออกอากาศ

หลายอย่างเราต้องอาศัยประสบการณ์เดิมที่เคยเขียนบทก่อนหน้านี้ แต่หลายอย่างเรายังไม่รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิท่านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ถ้ามีเจ้านายฝ่ายในประชวรเวลากลางคืน หมอหลวงที่เป็นผู้ชายสามารถเข้าไปฝ่ายในได้ ซึ่งอาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี เล่าให้ฟังว่าหมอหลวงจะมีกระบองแดงสามารถเข้าไปฝ่ายในเพื่อทำการรักษาเจ้านายฝ่ายในได้ เพราะกระบองแดงถือเป็นกระบองอาญาสิทธิ์ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่หมอหลวงไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเราผูกเรื่องไปว่าตัวละครถูกเฆี่ยน การทำโทษจะไม่เกิดขึ้นภายในพระตำหนัก ต้องไปทำโทษกันที่อื่น เป็นต้น

  • หลักฐานและข้อมูลอ้างอิงที่ใช้ในการช่วยทำบทละครโทรทัศน์หม่อมเป็ดสวรรค์มีอะไรบ้าง

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ว่าไปแล้วสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ยังคงสืบทอด และรักษาขนบธรรมเนียมจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเอาไว้ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น พระยศเจ้านาย ระเบียบในวังต่าง ๆ หรือแม้แต่ทรงให้บรรดาหม่อมห้าม บ่าว ต่าง ๆ ลาออกไปได้ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นไม่กี่ปีหลังจากช่วงเวลาในละคร หลักฐานส่วนใหญ่มักเป็นหลักฐานหลังรัชกาลที่ 3 ไปแล้ว ซึ่งหลายอย่างอาจจะเป็นคนละธรรมเนียมกันกับช่วงเวลาในละคร

ข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่อ่าน คือวรรณคดีในพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา หรือหนังสือประวัติศาสตร์สังคมต่าง ๆ ซึ่งในวรรณคดีหรือหนังสือประเภทนี้จะบรรยายภาพบ้านเรือนตามยุคสมัยได้ค่อนข้างชัดเจน เมื่อเขียนบทละครจะต้องบรรยายสภาพบ้านเมืองในยุคนั้นลงไปด้วย ต้องจินตนาการภาพความเป็นจริงตามที่ควรจะเป็น

ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดในละครก็น้อมรับข้อผิดพลาดที่เกิด บทละครตอนหนึ่งเขียนประมาณ          22 หน้า ละครหลายตอนใช้กระดาษหลายร้อยหน้า และยังเขียนไว้หลายรูปแบบ เขียนแล้วแก้ใหม่หลายครั้ง ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ ละครใช้เวลาการเตรียมงานละครก่อนถ่ายทำนานกว่าขั้นตอนถ่ายทำจริง เพราะมีเตรียมข้อมูล เสื้อผ้า คัดเลือกนักแสดงอย่างละเอียด แต่ใช้เวลาถ่ายทำจริงประมาณ 6 เดือน เท่านั้น

ภาพจาก เฟซบุ๊ก VIPA
  • นิราศ เพลงยาว และกลอนบทละคร มีลักษณะและแตกต่างกันอย่างไร

เราเรียกตามรูปแบบฉันทลักษณ์ สมัยก่อนเราไม่ได้เรียกวรรณคดีเรื่องนั้นเรื่องนี้ รูปแบบการแต่งเพลงยาวเป็นกลอนแปดหรือกลอนสุภาพใช้สำหรับส่งสารหาคนรัก พอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นรูปแบบวรรณกรรมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น กลอนนิราศ เขียนตอนจากนางอันเป็นที่รักก็เริ่มเปลี่ยนเป็นนิราศที่เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวทางสังคมขึ้นมา ไม่ใช่การจากนางอันเป็นที่รักอย่างเดียว เพลงยาวก็เช่นกันที่เขียนส่งสารหาคนรักเปลี่ยนมาเป็นการเขียนถึงสภาพสังคม เหตุการณ์ต่าง ๆ ส่วนกลอนบทละครจะมีการแบ่งฉาก แบ่งตอน เพื่อใช้ในการแสดง

  • ละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์” ถือว่าเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ?

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวการกระทำของบุคคลต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ละครทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะละครนั้นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร การแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ตัวละครจะมีปฏิกิริยาต่อตัวละครอีกคนหนึ่งในบริบทที่แตกต่างกันไป เมื่อนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาทำเป็นละครก็ต้องใส่ความรู้สึกและความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ ลงไปบอกเล่าเป็นเรื่องราวขึ้นมาเป็นละคร

ความรัก เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ไม่มีนิยามจำกัดความชัดเจน เพราะความรักเป็นความรู้สึกที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนพึงใจเลือกรับมา และเลือกที่จะมอบให้ผู้อื่น แม้ในบางครั้งความรักอาจจะไม่สมหวังดั่งใจปรารถนา

อย่างไรก็ตาม ผู้ชมละครจะได้เห็นสภาพบรรยากาศของบ้านเมืองต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ผ่านละครที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างพิถีพิถัน บทสรุปตัวละครจะเป็นเช่นไร ผู้ชมต้องติดตามต่อในละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ ออกอากาศทุกวันศุกร์ – อาทิตย์ หลังข่าวภาคค่ำไทยพีบีเอส

ภาพจาก เฟซบุ๊ก VIPA

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ฐนธัช กองทอง หรือ ครูโย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เริ่มต้นจากนักวิจารณ์วรรณกรรมทั่วไป ก่อนผันตัวมาเป็นนักเขียนบท และเขียนบทละครโทรทัศน์มาร่วม 30 ปี ผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น กษัตริยา (พ.ศ. 2547) เพลิงพระนาง (พ.ศ. 2539) และ (พ.ศ. 2560) สุสานคนเป็น (พ.ศ. 2557) แหวนสวาท (พ.ศ. 2558) เรือมนุษย์ (พ.ศ. 2562) สร้อยนาคี (พ.ศ. 2566)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิอ 25 ธันวาคม 2567