ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ความฝัน” เรื่องราวที่ผู้ฝันนึกเห็นภาพในขณะหลับ คือสิ่งที่มนุษย์พยายามจัดระเบียบและอธิบายมาอย่างยาวนาน รวมถึงเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง ดังเราจะเห็นการหยิบยกความฝันในเชิงเป็น “ลางบอกเหตุ” ทั้งเหตุดี-เหตุร้าย ในวรรณกรรม วรรณคดี หรือแม้แต่การเล่าเรื่องในคัมภีร์ศาสนาบางศาสนา
แล้วในพระพุทธศาสนา พระคันถรจนาจารย์ทั้งหลายอธิบายหรือจัดประเภทความฝันไว้อย่างไรบ้าง?
ความฝัน 4 ประเภท
ในที่นี้ขอยกเวอร์ชันของ พระนันทาจารย์ ผู้แต่งคัมภีร์ “สารัตถสังคหะ” คัมภีร์สำคัญฉบับหนึ่งในพุทธศาสนา ที่จำแนกประเภทของความฝันตามสาเหตุออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน 4 ช่วงเวลา ดังนี้
1. ความฝันแบบธาตุโขภ เกิดจากธาตุกำเริบ คือธาตุใดธาตุหนึ่งในร่างกายผิดปกติ ทำให้อาหารไม่ย่อย เป็นผลให้ร่ายกายหรือจิตใจไม่สบายตามไปด้วย เช่น ท้องปั่นป่วน เมื่อหลับจึงเกิดความฝันพิกลหรือฝันร้ายต่าง ๆ นานา
คนที่ฝันด้วยเหตุนี้มักฝันในช่วงหัวค่ำ หรือระหว่างเวลา 18.00-22.00 น. คือเวลาที่อาหารยังย่อยไม่หมด จึงหลับไม่สนิท ยิ่งผู้ที่มีโรคในตัวมักจะฝันร้ายเพราะทุกขเวทนาที่เกิดกับร่างกายเป็นเหตุร่วมด้วย
2. ความฝันแบบจิตนิวรณ์ เกิดจากภาวะที่ดวงจิตพัวพันอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใด จนจมอยู่กับการคิดวิตกเรื่องนั้น คือฝันตามความคิดหรือความกังวลจากตอนเวลาตื่นนั่นเอง
ความฝันนี้จึงเกิดจากความทรงจำ จากดวงจิตที่หน่วงเอาสิ่งหนึ่งหรือเรื่องหนึ่งมาเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะตั้งใจจำหรือไม่ แล้วเก็บไปฝัน มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่าง 22.00-02.00 น.
3. ความฝันแบบบุพนิมิต เกิดจากนิมิตหรือแรงผลักดันของบุญกุศลหรือบาปอกุศลของตนเองหรือผู้อื่น ความฝันดังกล่าวมีลักษณะพิเศษคือ บอกให้รู้ถึงเหตุดีเหตุร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น
ความฝันประเภทนี้มักเกิดขึ้นระหว่างเวลา 02.00-06.00 น. แต่ผู้รู้บางท่านบอกว่าอาจเกิดขึ้นได้ก่อน 02.00 น. คือฝันได้ตั้งแต่ 24.00-06.00 น. บ้างว่าระหว่าง 03.00-07.00 น. หลังจากอาหารย่อยดีแล้ว และจิตใจของผู้ฝันไม่ผูกพันกับเรื่องใด ๆ
จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ความฝันแบบบุพนิมิตสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่าง 24.00-07.00 น.
4. ความฝันแบบเทพสังหรณ์ เกิดจากการดลบันดาลของเทพยดา ในที่นี้หมายรวมทั้ง เทพ เทวดา หรือภูตผี ที่เรียกว่า “โอปปาติกะ” ที่ดลบันดาลให้คนฝันได้
ฝันประเภทนี้ หากผู้ฝันเป็นคนที่เทวดารักใคร่และปรารถนาจะสงเคราะห์ ก็จะมาบอกเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตให้รู้ก่อน ในทางกลับกัน ถ้าเทวดาชังหรือมีจิตคิดร้ายอยากกลั่นแกล้ง ก็จะหลอกบอกความเท็จความลวงหรือบันดาลฝันร้ายได้เช่นกัน ว่าง่าย ๆ คือเกิดจากเทพยดาต้องการให้คุณหรือให้โทษ
ความฝันชนิดนี้มักเกิดขึ้นในเวลาใกล้สว่าง และเป็นความฝันที่ถูกหยิบยกมาเล่าในวรรณคดีไทยมากที่สุด
พระนันทาจารย์เล่าว่า ความฝันแบบบุพนิมิตและแบบเทพสังหรณ์จะแม่นกว่าแบบธาตุโขภและแบบจิตวิวรณ์
โดยเฉพาะความฝันแบบเทพสังหรณ์ (เทพสงเคราะห์) มักจะแม่นที่สุด เพราะเกิดหลังจากอาหารย่อยดีแล้ว แต่ถ้าเกิดจากเทพกลั่นแกล้งก็ไม่แม่นได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ ต้องพึงระลึกด้วยว่า ความฝันแต่ละครั้งสามารถเกิดจากมูลเหตุหลายอย่างมาก ๆ มาประกอบกัน เช่น ภาวะผิดปกติของร่างกาย ที่ไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็เป็นสาเหตุของฝันพิกลต่าง ๆ ได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- โหราศาสตร์บนฝ่ามือ “เนินจันทรา” คืออะไร บ่งบอกชีวิตแต่ละคนได้อย่างไร?
- 190 กว่าปีก่อน คนไทยเชื่อถือโชคลางของขลังอย่างไร?
- “ข้าฝันไปว่าเสด็จยายทรงปรุงข้าวคลุกกะปิให้กินอร่อยมาก” พระราชดำรัชร.5ใน “บรรทึกความหิว”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต, ราชบัณฑิตยสถาน. ความฝันกับเหตุดีเหตุร้ายในวรรณคดีไทย. วารสารราชบัณฑิต ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 ก.ค.-ก.ย. 2549.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2567