“ปฏิวัติ” ฉบับรามเกียรติ์ การยึดอำนาจกรุงลงกา โดยบุตรที่เกิดมาหลังบิดาตาย

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ วัดพระแก้ว ห้องที่ 129 ท้าวจักรวรรดิยกทัพประชิดลงกา พิเภกรบแพ้ถูกจำตรุขังไว้ “ปฏิวัติ” ฉบับรามเกียรติ์
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ วัดพระแก้ว ห้องที่ 129 ท้าวจักรวรรดิยกทัพประชิดลงกา พิเภกรบแพ้ถูกจำตรุขังไว้ (ภาพจาก เว็บไซต์ สำนักพระราชวัง)

เหตุการณ์ตอนท้าย ๆ ของรามเกียรติ์ หลังพญายักษ์ทศกัณฐ์สิ้นชีวิต มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือการ “ปฏิวัติ” ฉบับรามเกียรติ์ ที่ทายาทของทศกัณฐ์ผู้ล่วงลับ ซึ่งยังไม่ลืมตาดูโลกตอนบิดาถูกสังหาร ได้ยึดอำนาจกรุงลงกา นำไปสู่การกวาดล้างเหล่าวงศ์เผ่าพงศ์ยักษ์ระลอกสุดท้ายโดยกองทัพของพระราม ยักษ์ตนสำคัญในเรื่องราวครั้งนั้นคือ “ทศพิน”

หัวโขนทศพิน หรือไพนาสุริยวงศ์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร
หัวโขนทศพิน หรือไพนาสุริยวงศ์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร (ภาพจาก หนังสือ หัวโขน สมบัติศิลป์ แผ่นดินไทย)

ทศพิน มีนามแรกกำเนิดว่า “ไพนาสุริยวงศ์” เป็นลูกของทศกัณฐ์ เกิดกับนางมณโฑที่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ได้ 1-2 เดือน ตอนบิดาตายด้วยศรพระราม เมื่อพิเภกได้รับการสถาปนาเป็นเจ้ากรุงลงกานาม “ท้าวทศคีรีวงศ์” ก็กำชับข้าราชบริพารให้อบรมยักษ์น้อยประหนึ่งว่าเป็นบุตรของตน ไพนาสุริยวงศ์จึงเติบโตโดยเชื่อว่าตนคือลูกท้าวทศคีรีวงศ์

แต่ไพนาสุริยวงศ์ยิ่งโตก็ยิ่งมีรูปลักษณ์คล้ายอินทรชิต (ลูกชายคนโตของนางมณโฑกับทศกัณฐ์) โดยมีเพื่อนรักที่เติบโตร่วมกันคือ “อสุรผัด” บุตรของหนุมานกับนางเบญกาย (ลูกสาวพิเภก) ซึ่งเป็นลูกครึ่งลิง-ยักษ์ มีรูปร่างเป็นยักษ์ หน้าเป็นวานร

เมื่อเติบใหญ่ ยักษ์พี่เลี้ยงชื่อ วรณีสูร (ลูกท้าวชิวหา) ที่ภักดีต่อทศกัณฐ์ ยุแหย่ให้ไพนาสุริยวงศ์เป็นกบฏต่อท้าวทศคีรีวงศ์ผู้เป็นบิดาเลี้ยง ด้วยการเล่าความจริงทั้งหมดว่าท้าวทศคีรีวงศ์ไม่ใช่บิดาที่แท้จริง แถมมีส่วนช่วยพระรามทำสงครามฆ่าล้างวงศาคณายักษ์ให้ต้องล้มตายไปมากมาย รวมถึงทศกัณฐ์ บิดาตัวจริงด้วย ไพนาสุริยวงศ์จึงเคียดแค้นพิเภกมาก ดังความในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ว่า

๏ เมื่อนั้น   ไพนาสุริย์วงศ์ยักษี

ฟังแจ้งไม่แคลงวาที   อสุรีนิ่งขึงตะลึงไป

ความเจ็บความอายความแค้น   แน่นอกทอดถอนใจใหญ่

สิ้นรักให้แหนงแคลงใจ   ในท้าวทศคิริวงศ์กุมภัณฑ์

ให้คิดพยาบาทมาดหมาย   ดั่งศรพิษติดกายตรึงมั่น

กอดพระพี่เลี้ยงร่วมชีวัน   พากันแสนโศกโศกี ฯ

หลังทราบเรื่องจากพี่เลี้ยง ไพนาสุริยวงศ์รีบไปถามนางมณโฑผู้เป็นมารดาเพื่อยืนยันความจริง นางมณโฑก็เล่าความจริงทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งตรงกันกับความจากวรณีสูร แต่นั้นก็เริ่มวางแผนแก้แค้นให้บิดา โดยแสร้งลาท้าวทศคีรีวงศ์ไปเรียนวิชา แต่การร่ำเรียนมีเจตนาต่อเนื่องคือการไปขอความช่วยเหลือจาก ท้าวจักรวรรดิ แห่งกรุงมลิวัน ให้มาช่วยโค่นล้มบิดาเลี้ยงผู้ทุรยศ

พิเภก ออกจากลงกามาสวามิภักดิ์พระราม ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พิเภก ออกจากลงกามาสวามิภักดิ์พระราม ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หลังเข้าพบและเล่าความทั้งหลายให้ท้าวจักรวรรดิฟัง พญายักษ์ 8 กร ซึ่งเป็นพันธมิตรและสหายของทศกัณฐ์อีกตนหนึ่งก็ตอบรับด้วยความสงสารและเห็นใจหลานรัก ดังว่า “ตรัสแล้วสั่งมหาเสนี ให้เตรียมโยธีซ้ายขวา กูจะไปพิชัยลงกา เข่นฆ่าอริราชภัยพาล”

ว่าแล้วกองทัพจากเมืองมลิวันก็ยกพลไปปิดล้อมกรุงลงกาทันที ซึ่งเดิมท้าวจักรวรรดิจะให้ท้าวทศคีรีวงศ์ยอมจำนนแต่โดยดี แต่ปรากฏว่าลงกาไม่ตอบรับ จึงเกิดการต่อสู้กัน ท้าวทศคีรีวงศ์นั้นแต่เดิมไม่ถนัดเรื่องสงครามหรือการสู้รบอยู่แล้ว (ถนัดแต่โหราศาสตร์) จึงถูกท้าวจักรวรรดิแผลงศรเป็นพญานาคราชตัวมหึมาจับจับกุมไว้อย่างไม่ยากเย็น ดังกลอนว่า

๏  เมื่อนั้น   องค์ท้าวแปดกรยักษา

ต้องศรเจ็บช้ำทั้งกายา   อสุราร่ายเวทเพลิศพราย

ครั้นครบสามคาบก็ลูบลง   เจ็บปวดทั้งองค์ก็สูญหาย

ไม่มีบาดแผลกับกาย   จับศรพาดสายแล้วแผลงไป

สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด   เป็นพญานาคราชตัวใหญ่

เจ็ดเศียรพ่นพิษเป็นควันไฟ   ไล่มัดพิเภกอสุรี

๏ เมื่อนั้น   ท้าวทศคีรีวงศ์ยักษี

มาครัดมัดทั่วทั้งอินทรีย์   ก็ล้มลงกับที่สุธาธาร

สงครามกรุงลงกากับกรุงมลิวันจึงเป็นอันยุติ ท้าวจักรวรรดิสถาปนาไพนาสุริยวงศ์ให้ปกครองกรุงลงกาในนาม “ท้าวทศพิน”

แต่ท้าวทศพินไม่ได้สั่งประหารพิเภก ด้วยเห็นว่าเลี้ยงดูตนมาเป็นอย่างดี เพียงแต่จองจำไว้เท่านั้น

ฝ่ายอสุรผัดผู้เป็นหลานตาของพิเภกหวังช่วยพระเจ้าตาให้พ้นความทุกข์ทรมาน ได้ออกตามหาบิดา (หนุมาน) ที่สุดจึงพบหนุมานในเพศนักบวช เมื่อหนุมานทราบเรื่องราวก็ลาจากสมณเพศแล้วชวนสุครีพไปเข้าเฝ้าพระราม เพื่อรายงานถึงสถานการณ์ข้างกรุงลงกา

พระรามทราบดังนั้นได้ทรงมีบัญชาให้ 2 พระอนุชา คือพระพรตและพระสัตรุต ยกทัพไปกู้กรุงลงกาคืนจากท้าวทศพิน กองทัพอโยธาสามารถเอาชนะกองทัพกรุงลงกาได้ ประหารท้าวทศพินและวรณีสูรในศึกคราวนั้น แล้วแต่งพิเภกขึ้นครองกรุงลงกาอีกครั้ง แล้วยังยกทัพไปกำราบท้าวจักรวรรดิที่เมืองมลิวันได้อีกด้วย

การ “ปฏิวัติ” ฉบับรามเกียรติ์ ว่าด้วยการยึดอำนาจกรุงลงกาของไพนาสุริยวงศ์ จึงสิ้นสุดลงในระยะเวลาอันสั้น สงครามที่สืบเนื่องกันยังเป็นผลให้ฝ่ายพระรามสามารถกำราบเครือข่ายยักษ์ที่ยังเป็นปฏิปักษ์อยู่จนหมดสิ้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.

ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์, เรียบเรียงจากการแสดงบรรยายของ เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ. (2545). โคตรวงศ์ทศกัณฐ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2567