รู้จักความหมายของ “กระทง” ที่ไม่ใช่แค่ใช้ขอขมาพระแม่คงคา หมายถึงอะไรบ้าง?

ความหมายของกระทง กระทง ลอยกระทง
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 28 พฤศจิกายน 2566)

รู้หรือไม่? “กระทง” ที่หมายถึงภาชนะจากต้นกล้วย-ใบตอง ประดับประดาสิ่งของต่าง ๆ สำหรับนำไปลอยแม่น้ำเพื่อขอขมาพระแม่คงคานั้น เป็นเพียงความหมายหนึ่งจากอีกหลากหลายความหมายมาก ๆ ความหมายของกระทงคืออะไรบ้าง?

บรรยากาศวันลอยกระทง
บรรยากาศวันลอยกระทง (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของกระทงไว้ดังต่อไปนี้ [เรียบเรียง ปรับคำ และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

กระทง หมายถึง แผ่นกระดานที่ทอดขวางลำเรือ ในเรือจ้าง เรือบด เรือสำปั้น ฯลฯ สำหรับใช้เป็นที่นั่ง เช่น “เรือยาวลำนี้มีกระทงเรียงกันให้ฝีพายนั่งได้ 30 คน” ภาษามลายูเรียกสิ่งเดียวกันนี้ว่า “กุดง”

Advertisement

กระทง หมายถึง หน่วยหรือคำเรียกของที่นาตอนหนึ่ง ๆ ที่มีคันดินกั้นเป็นตาราง เรียก กระทงนา

กระทง หมายถึง ผ้าท่อนหนึ่ง ๆ ของจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียกรวม ๆ ว่า “ขัณฑ์” สำหรับนำมาเย็บเป็นจีวรผืนใหญ่ ลักษณะเหมือนกระทงนา เรียก กระทงจีวร 

กระทง หมายถึง ลักษณนามของความผิดทางอาญาแต่ละกรรม แต่ละครั้ง เช่น หากกระทำผิดฐานลักทรัพย์หลายครั้ง แต่ละครั้งจะนับเป็นความผิดกระทงหนึ่ง ๆ ตามที่เรามักได้ยินเจ้าหน้าที่ตำรวจพูดบ่อย ๆ เช่น “คุณมีความผิด 2 กระทง”

และ กระทง ที่ใช้ควบกับคำว่า “รุ่น” เป็น รุ่นกระทง หมายถึง ไก่อ่อนอายุประมาณ 3 เดือน และไก่ตัวผู้ที่เริ่มหัดขัน เรียกว่า ไก่กระทง หรือไก่รุ่นกระทง รวมถึงใช้เรียกวัยรุ่นผู้ชายหรือชายกำลังแตกเนื้อหนุ่มในเชิงเปรียบเปรยว่า หนุ่มรุ่นกระทง

ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว
ไก่ชนพันธุ์ “เหลืองหางขาว” (ภาพถ่ายสุรเดช สดคมขำ นิตยสารเทคโนโลยี่ชาวบ้าน)

ยังไม่หมดเท่านั้น กระทงยังถูกใช้ควบกับอีกหลายคำเป็นความหมายใหม่ ได้แก่ กระทงแถลง หมายถึง ส่วนสำคัญในสำนวนความที่เป็นประเด็นและเกี่ยวข้องกับประเด็นอันพึงเสนอวินิจฉัย

กระทงป่า หมายถึง ไม้พาดปากมาดเรือโกลนชั่วคราว กระทงเพชร หมายถึง ไม้ติดขวางรองแคร่เกวียนเพื่อยึดไม่ให้ตัวแคร่แยกออกไป กระทงเหิน หมายถึง ไม้ขวางเรืออันสุดท้ายของหัวเรือ-ท้ายเรือ (บ้างเรียก หูกระต่าย)

และ กระทงลอย หรือ กระทงน้อย คือ เพลงไทย 2 ชั้นของเก่าแต่โบราณ ใช้เครื่องรับมโหรี ใน “พิธีเสี่ยง” เช่น ตอนไกรทองเสกกระทงเสี่ยงลอยในพิธีจับชาละวัน

สุดท้าย ความหมายของกระทงที่เราคุ้นชินกัน (ในเทศกาลลอยกระทง) คือภาชนะเย็บด้วยใบตองหรือใบไม้ จะใบตองสด ใบตองแห้ง หรือทำจากใบหรือต้นไม้อื่น ๆ เช่น ใบลาน ซังข้าวโพด ต้นพลับพลึง ก็เรียกกระทงทั้งนั้น (กระทงสมัยใหม่ทำจากกระดาษ ขนมปัง ก็มี) ทั้งนี้ ลักษณะสำคัญของกระทงจากใบไม้คือต้องยกขอบสูงสำหรับใส่ของ ถ้าเสริมขอบปากเป็นรูปกรวยเล็ก ๆ โดยรอบ เรียกว่า กระทงเจิม 

ร่องรอยของคำว่า “กระทง” ไม่ได้มีแต่ในภาษาไทย ดังจะพบคำว่า กนฺโทง (อ่านว่า ก็อน-โตง) ในภาษาเขมร หมายถึงภาชนะรูปแบบหนึ่ง และ ขฺทง (อ่านว่า คะ-ต็วง) ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับกระทงในเทศกาลลอยกระทงของคนไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

กรมศิลปากร. ไตรจีวร. สืบค้น 11 พฤศจิกายน 2567. (ออนไลน์)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. กระทง. 13 ตุลาคม 2551. จาก บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2567