ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันเรามีวิธีแสดงความรักและสานสัมพันธ์ผ่านเทคโนโลยีมากมาย แต่คนโบราณมีนวัตกรรมที่แตกต่างออกไป แม้ “สาร” จะส่งถึงผู้รับได้ไม่รวดเร็วทันใจอย่างในปัจจุบัน แต่ความโรแมนติกที่ “สื่อ” ออกไปนั้นไม่แพ้คู่รักสมัยใหม่แน่
เรากำลังกล่าวถึง “เพลงยาวกรมศักดิ์” พระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” สมัยรัชกาลที่ 3) ครั้งยังเป็น “กรมหมื่นศักดิพลเสพ” ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นจดหมายรักโต้ตอบกับ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระราชสมภพแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่
ด้านพระองค์เจ้าดาราวดี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 11 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1) กับเจ้าจอมมารดาน้อย
ด้วยพระชาติกำเนิดของทั้ง 2 พระองค์ เพลงยาวกรมศักดิ์จึงเป็น “สื่อรัก” ของเจ้านายสูงศักดิ์แห่งราชจักรีวงศ์ ดังที่เพลงยาวของฝ่ายชายทรงพระราชนิพนธ์ถึงสถานภาพของฝ่ายหญิงว่า “ตัวเจ้าก็เป็นวงศ์อสัญเพศ เรียมประเวศจากห้องครรไลหงส์”
แม้เพลงยาวกรมศักดิ์จะเป็นงานวรรณคดีประเภท “เพลงยาว” ที่ฝ่ายชายเขียน “ฝากรัก” ถึงฝ่ายหญิง แต่นอกเหนือจากกลอนเพลงยาวซึ่งเป็นส่วนหลักแล้ว ยังมีกลอนดอกสร้อย โคลง และร่าย ประกอบอยู่ด้วย แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านกวีนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เป็นอย่างดี
บทความ “เพลงยาวกรมศักดิ์ : ความรัก ความหลัง และระฆังวัดพระแก้ว” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2567) เขียนโดย ผศ. ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิเคราะห์ว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มักจะทรงกล่าวถึงดวงดาว หรือ “ดารา” อันพ้องเสียงกับพระนามพระองค์เจ้าดาราวดีไว้ในพระราชนิพนธ์ของพระองค์เสมอ
ดังตัวอย่างจากโคลงสี่สุภาพบทหนึ่ง ทรงกล่าวว่าเมื่อเห็นดวงจันทร์ก็นึกถึงใบหน้า “นางอันเป็นที่รัก” และมองดวงดาวบนท้องฟ้าก็หวนนึกถึงสตรีอันมีนามพ้องกับดวงดาว ดังนี้
◉ จันทรจรัสปรัดนวลแผ้ว พักตร์สมร กูฤๅ
ดาราดาษอัมพร แพ่วฟ้า
ถวิลนามหวลอาวรณ์ แรงเทวษ เรียมเฮย
ดั่งใครเร่งเห็นหน้า สวาดิมุ่งเสน่ห์หมาย
กลอนเพลงยาวอีกตอนหนึ่งระบุว่า แม้ฝ่ายชายติดราชการ แต่เมื่อเห็นดวงดาวบนท้องฟ้า ก็ยังระลึกถึงนางอันเป็นที่รัก (เช่นเคย)
แต่ประถมยามจนยามสอง ประหวัดน้องมิได้ว่างวายถวิล
เห็นฟ้าแผ้วผ่องหล้าไม่ราคิน ดวงดารินฤกษ์ล้นนภนพราย
ยิ่งกระสันนามพระน้องพี่หมองสวาดิ ใจจะขาดเสียแล้วนิชที่สุดกระหาย
เอะแล้วน้องจะประวิงกริ่งระคาย ว่าหนีหน่ายเนานางตำแหน่งใด
การติดต่อของทั้ง 2 พระองค์ เชื่อได้ว่ามี “คนกลาง” ผู้ทำหน้าที่ส่งเพลงยาวเหล่านี้แน่ เพราะฝ่ายชายมักเอ่ยถึง “พระน้อง” หรือ “นายประกัน” ซึ่งน่าจะป็นเจ้านายรุ่นเยาว์ในคำกลอนอยู่บ่อยครั้ง ด้านฝ่ายหญิงเองก็มีกลาวถึง “ยาหยี” คือพระกุมารีผู้คอยช่วยส่งข่าวเช่นกัน
ยาหยี ยังปรากฏอยู่ในโคลงของฝ่ายชาย ที่ทรงฝากให้บุคคลดังกล่าวช่วยถวายสารและแหวน 2 วง ให้ฝ่ายหญิง ดังว่า
◉ ยาหยีแม่จงนำ โคลงถวาย หน่อยรา
กับประวิชวงสอง ด้วยน้อง
แล้วจงทูลบรรยาย เพิ่มรัก พี่เอย
สุภาพสี่โคลงพ้อง ดั้นสอง
ภายหลังทั้งสองพระองค์ได้เสกสมรสกัน มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์” ต้นราชสกุลอิศรศักดิ์ ณ อยุธยา
อ่านเพิ่มเติม :
- กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเสี่ยงทายอธิษฐาน? ก่อนสวรรคต
- เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น ปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม
- “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ มีกี่พระองค์ ใครบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2567