“สักวา” มรดกทางวัฒนธรรมที่ใกล้สูญหาย

ย้อนกลับไปในอดีต สังคมไทยนิยมชมชอบการ “ร้องรำทำเพลง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยการร้อง การรำ และการทำเพลง โดยการร้องนั้นหมายถึงการขับลำนำหรือโคลงกลอน ส่วนใหญ่เป็นการ “ด้นสด” ประเพณีการด้นกลอนสดนั้นมีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน หนึ่งในนั้นคือการเล่น สักวา

สักวาคือชื่อคำประพันธ์ชนิดหนึ่งของไทย บทหนึ่งมี 4 คำกลอน ขึ้นต้นด้วยคำว่า สักวา และลงท้ายด้วยคำว่า เอย เป็นการละเล่นทางน้ำอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยอยุธยา มีองค์ประกอบคือ กวี นักดนตรีและนักร้อง โดยกวีจะมีหน้าที่ในการแต่งกลอนสักวา แล้วส่งให้แก่ผู้ขับร้องและผู้กำกับจังหวะ นิยมเล่นบนเรือ เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะ มีการสัญจรทางน้ำเป็นส่วนมาก

สักวาจะถูกนำมาเล่นในฤดูน้ำหลาก หลังจากเสร็จประเพณีทอดกฐิน ระหว่าง เดือน 11 ถึงเดือน 12 เพราะว่าเป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข ปลอดภัยจากสงคราม ผู้คนจึงแสวงหาความบันเทิงกันในช่วงนี้ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีโอกาสได้พบปะกันบ่อยนัก หนุ่มสาวจึงถือโอกาสนี้ในการลอยเรือไปเล่นสักวา แต่งกลอนสดเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกัน ส่วนใหญ่เล่นในหมู่ผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ เพราะผู้เล่นสักวาต้องอ่านออกเขียนคล่อง และสามารถประพันธ์กลอนสดได้อย่างชำนาญ ต่อมามีการนำเนื้อเรื่องในวรรณคดีมาเล่น สมมุติให้แต่ละวงเป็นตัวละครในเรื่องนั้นๆ แล้วแต่งสักวาโต้ตอบกันแทนบทพูด โดยจะเลือกเรื่องที่มีเนื้อหาให้โต้ตอบกันตามจำนวนวงที่เล่น

การเล่นสักวามาซบเซาในสมัยรัชกาลที่ 4 และเสื่อมความนิยมลงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเพียงการเล่นในงานรื่นเริงและงานสมาคมเท่านั้น ไม่ได้มีการเล่นจริงจังอย่างในอดีต กระทั่งปี พ.ศ.2502 สักวาถูกนำกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งโดยกรมศิลปากร นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายเปลื้อง ณ นคร นายมนตรี ตราโมช ฯลฯ เนื้อหาของสักวาได้เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของสังคม เริ่มมีการใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศมากขึ้น มีการล้อการเมือง และล้อโฆษณาที่เป็นกระแส

ในปัจจุบันมีการแสดงเพียงครั้งคราวในงานการกุศลหรือในสถาบันภายในเท่านั้น ไม่ได้มีการเผยแพร่และได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร สักวาถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึง “ค่านิยมและวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต” คงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากวันหนึ่งต้องสูญหายไป ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เข้าไปศึกษาและอนุรักษ์เอาไว้ สักวาอาจเหลือเพียงชื่อให้ได้จดจำ…

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

ประยอม – อรฉัตร ซองทอง. สักวาวิวิธ. 2525. กรุงเทพฯ: พรุ่งนี้

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ร้องรำทำเพลง ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม. 2551. กรุงเทพฯ: กองทุนเผยแพร่ความรู้สาธารณะ

เอกสารโครงการสัมนาทางวิชาการเรื่อง สักวา ความงามแห่งศาสตร์และศิลป์. วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2561