
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เราจะเห็นว่าความหมายของคำว่า ผี ในปัจจุบันมักมุ่งเน้นไปที่พลังงานลึกลับ ไร้ตัวตนหรือกายเนื้อ หากมีก็จะปรากฏในลักษณะของความสยดสยอง

แต่ความหมายของคำว่า ผี ในสมัยโบราณของไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้นิยามและนำ “ผี” มาใช้ในหลากความหมายหลายบริบททีเดียว ดังต่อไปนี้
ศพ
ใน พระไอยการลักษณะโจร ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1903 มาตราที่ 142 ข้อความว่า “ฟันแทงโจรผู้ร้ายนั้นตายแขวนเสียก็ดี มิทันแขวนก็ดี แลมีผู้บังอาจ์มาลักเอาผีโจรนั้นไปเผา ถ้าจับผู้ร้ายลักเอาผีโจรนั้นไปได้” และมาตราที่ 164 ของพระไอยการฉบับเดียวกัน มีข้อความว่า “ผู้ใดทนงอาจ์หามผีข้ามแขวงข้ามด่านข้ามแดนไปฝังไปเผาก็ดี ผีนอกพระนครเอาเข้าไปในพระนครก็ดี ผู้ใดทำดั่งนี้เลมิด ใหไหมทงพวกจงทุกคน”
ใน พระไอยการลักษณะผัวเมีย ตราใน พ.ศ. 1904 มาตราที่ 30 ก็มีข้อความว่า “มาตราหนึ่ง ผัวตายหงายไว้ทั้งโลงสภยังอยู่กับเรือน หญิงเมียนั้นน้ำตาตกแลคล้อยใจกำหนักชักเอาชายมานอน แลผีตายหงายรับกันอยู่ดั่งนั้น”
ผีที่หมายถึงศพยังปรากฏอยู่ในลุ่มแม่น้ำปิง จาก คลองตัดคําพระพุทธโฆสาจารย์ คัดที่ 16 คดีความเมื่อ พ.ศ. 2015 ความว่า “คนฝูงเฝ้าผีตายนั้นทะหอก” รวมไปถึงสำนวนที่ใช้กันในปัจจุบันอย่าง “ตายไปไม่เผาผี” และ “ผีตายซาก” ก็เป็นอีกหลักฐานในความหมายข้างต้นของผี
คำเหยียด
ใช้ระบุกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมต่างหรือต่ำกว่าตน ดังปรากฏในวรรณคดีล้านช้างเรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง และชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ผีตองเหลือง รวมถึงภาษาปากที่เป็นคำด่าในปัจจุบันก็พบคำว่าผีเช่นกัน

สิ่งชั่วร้าย
ตามที่เรียกกันว่า “ผีร้าย” ปรากฏใน พระไอยการเบดเสรจ มาตราที่ 157 ตราขึ้นในมหาศักราช 1146 (พ.ศ. 1767) ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา กล่าวถึง เจ้าเมืองและผู้รั้งเมื่อไต่สวนว่าบุคคลที่เป็นฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง แม้ว่าจะรับเป็นสัจแล้ว อย่าให้เจ้าเมืองผู้รั้งเอาไปฆ่า ให้ส่งตัวลงมาที่กรุงไว้แต่นอกขนอน
จะเห็นว่านามต่าง ๆ ที่สื่อได้ถึงผีไม่ใช่บุคคลที่ตายไปแล้ว แต่เป็นคนที่ยังมีชีวิต ซึ่งเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4-5 ก็ให้ความหมายว่า ปีศาจ คือ ผี ประกอบด้วย ผีฉะมบ, ผีกะสือ, ผีโขมด, ผีป่า, ผีโป่ง, ผีตะกละ, ผีเสื้อ, ผีพราย, ผีตายโหง และผีห่า
ผู้ล่วงลับ
เป็นลักษณะของการกล่าวถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว หรือผู้วายชนม์ ดังใน จารึกวัดช้างล้อม พบข้อความว่า “พ่อนมได้ยอผีพ่อผีแม่ ผีแม่นมเทดผู้เป็นเมีย อันเป็นอันดับแม่ตน ได้ยอผีพี่อ้ายพี่ยี่ ยอผีพี่เอื้อยยอผีลูกผีหลาน” ซึ่งอาจหมายถึง “ผีขวัญ” ในศาสนาผีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิม หรือ “วิญญาณ” ตามหลักศาสนาจากอินเดีย
ผีฟ้า
ผีฟ้า หมายถึงพระราชา พบใน จารึกวัดศรีชุม (หลักที่ 2) ความว่า “ก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ” ใน พงศาวดารล้านช้าง พระเจ้าฟ้างุ้ม ก็มีอีกนามว่า “ผีฟ้า”
เมื่อผีฟ้าหมายถึงพระราชา จึงเกิดการกร่อนคำจนเหลือเพียง “ฟ้า” และกลายเป็นคำนำหน้าพระราชา เช่น ปู่ฟ้าฟื้น ในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด (หลักที่ 45) และ ฟ้างุ้ม กษัตริย์ล้านช้าง รวมถึงบรรดากษัตริย์ในอาหม แต่คำว่า “ฟ้า” ในภาษาอาหม จะเขียนว่า “ผา” เพราะมีแต่รูปพยัญชนะ ผ
ในแง่หนึ่ง คำว่า “ผา” ของคนอาหม จึงเท่ากับคำว่า “ฟ้า” ในภาษาไทย-ลาว และหมายถึง พระเจ้า, พระราชา หรือกษัตริย์
จึงน่าคิดต่อว่า รายนามกษัตริย์องค์สำคัญอย่าง พ่อขุนผา (เมือง) เจ้าเมืองราด, พญาผายู แห่งเมืองเชียงแสน, พญาผากอง แห่งเมืองน่าน หรือแม้แต่ พญาผาแดง ในวรรณคดีล้านช้างเรื่องผาแดงนางไอ่ คำว่า “ผา” ในที่นี้ก็คือ “ฟ้า” นั่นแหละ
เทวดา
พบหลักฐานใน จารึกพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1) ความว่า “มีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้น” รวมถึงคำว่า “ผีฟ้าเทวดา” และเมื่อคำว่า “ผี” มีสถานภาพต่ำกว่า “เจ้า” ผีฟ้าจึงกลายมาเป็นเจ้าฟ้า ดังตัวอย่างใน มหาชาติคำหลวง ที่ออกนามพระอินทร์ว่า “เจ้าฟ้าฟอกไตรตรึงษ์”
เหล่านี้จึงเป็นความหมายของคำว่า ผี ที่เต็มไปด้วยมิติทางภาษาของคนในพื้นที่ประเทศไทยและดินแดนใกล้เคียงแต่โบราณ
อ่านเพิ่มเติม :
- ประสบการณ์เรื่อง “ผี” ที่วังท่าพระ
- ที่มา “ดอกไม้จันทน์” ทำไม “ไม้จันทน์” มักอยู่ในงานผี พิธีศพ?
- กลางคืนกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 น่ากลัว วังเวง และมีคนทำผีหลอก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจาก “ผี: คติ ความหมาย การบูชา” ในเอกสารประกอบการอธิบาย ‘เสื้อเมือง ทรงเมือง หลักเมือง’ เขียนโดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2567