ปูนปั้น “ธรรมะสอนพระ” ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์

ปูนปั้น ครูทองร่วง เอมโอษฐ์
ภาพปูนปั้น “ธรรมะสอนพระ” ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ภาพจาก “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะปูนปั้น)” วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567)

ปูนปั้น “ธรรมะสอนพระ” ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี คือภาพ “มัจฉริยะ 5” ความตระหนี่ 5 ประการ ปั้นประดับเสารั้วของศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง (พิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุวรวิหาร) ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2536 แต่น่าเสียดายที่ล่าสุดปูนปั้นประดับเสา 2 ภาพ ถูกทุบทำลาย เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างร้านกาแฟ? (ทางวัดมหาธาตุฯ ได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า จะก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อประโยชน์นักเรียน มิใช่ร้านกาแฟเพื่อหารายได้ คลิกอ่านข่าวจากมติชน)

ชวนย้อนดูย้อนอ่าน ภาพธรรมะสอนพระ “มัจฉริยะ 5”  ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ จากหนังสือ “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์” ว่า ครูทองร่วงนำเสนอภาพอะไรบ้าง และปัจจุบันภาพไหนที่ถูกทุบทำลาย…

ภาพปูนปั้น “ธรรมะสอนพระ” ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์

1. ภาพปูนปั้นลาภะ มัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ) เป็นธรรมะสอนพระผู้มีลาภสักการะมากไม่ให้ตระหนี่ ผลของความตระหนี่เมื่อตายไปต้องไปเกิดเป็นยักษ์ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ สอนคติธรรมสำหรับพระผู้มีบารมีมาก มีผู้คนนับถือศรัทธา มีเงินและทรัพย์สินก็อย่าหวงผลประโยชน์แค่ตนเอง ผลของการตระหนี่ลาภเมื่อตายไปก็จะได้รับความทุกข์ ดังเช่นภาพยักษ์แบกหีบสมบัติ

ภาพลาภะ มัจฉริยะ ภาพยักษ์แบกหีบสมบัติ ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี (ภาพจาก “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น)” วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567)

2. ภาพปูนปั้นอาสาวะ มัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่) เป็นธรรมะสอนพระที่อยู่อาศัย (อาวาส) ใหญ่ แต่หวงที่อยู่ไม่แบ่งให้พระองค์ อื่น ๆ อยู่ สอนคติธรรมสำหรับพระผู้มีที่อยู่อาศัย (อาวาส) ที่ใหญ่โตกว้างขวางก็ไม่ควรหวงหรือกีดกันผู้อื่นไม่ให้เข้าไปอยู่ ผลของการตระหนี่ที่อยู่เมื่อตายไปก็จะไปเกิดเป็นยักษ์แบกปราสาท

ภาพปูนปั้นอาสาวะ มัจฉริยะ ภาพยักษ์แบกปราสาท ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี (ภาพจาก “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น)” วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567)

3. ภาพปูนปั้นวรรณะ มัจฉริยะ (ความตระหนี่ความดี) เป็นธรรมะสอนพระที่ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นแต่กลับเอาความดีใส่ตนคนเดียว สอนคติธรรมสำหรับพระที่มีคุณงามความดีก็ไม่อยากให้ใครมีคุณงามความดีมากกว่าตน หรือไม่พอใจเมื่อได้ยินคำสรรเสริญคุณงามความดีของผู้อื่น ผลของการตระหนี่ความดี เมื่อตายไปก็จะไปเกิดเป็นยักษ์แบกเจดีย์ แบกพระปรางค์

ภาพปูนปั้นวรรณะ มัจฉริยะ ภาพยักษ์แบกพระปรางค์ ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี (ภาพจาก “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น)” วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567)

4. ภาพปูนปั้นธัมมะ มัจฉริยะ (ความตระหนี่ความรู้) เป็นธรรมะสอนพระที่มีความรู้แต่ไม่บอกไม่สอนใคร ดังภาษิตที่ว่า “โง่แล้วอยากนอนเตียง” สอนคติธรรมสำหรับพระที่มีวิชาความรู้ มีความสามารถพิเศษ เช่น เป็นนักเทศน์ก็ไม่ควรหวงวิชาความรู้ ไม่ยอมสอน ไม่ยอมบอกผู้อื่นกลัวว่าผู้นั้นจะเทียมเท่าหรือเกินตน ผลของการตระหนี่ธรรม หวงวิชาความรู้ เมื่อตายไปก็จะไปเกิด เป็นยักษ์นอนใต้เตียง (ปัจจุบันภาพปูนปั้นนี้ถูกทุบทำลาย)

ปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร
ภาพปูนปั้นธัมมะ มัจฉริยะ ภาพยักษ์นอนใต้เตียง ปูนปั้นที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี ที่ถูกทุบทำลาย (ภาพจากเฟซบุ๊ก วรา จันทร์มณี https://www.facebook.com/photo?fbid=8303231643095396&set=pcb.8303220976429796
ปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร
ปูนปั้นที่ถูกทุบทำลาย (ภาพจากเฟซบุ๊ก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว https://www.facebook.com/NipatpornP/posts/pfbid0EZrT9rrhveNwT46NpqL14KCdxzkJwx78o1EDSvcSjB6bTT4rLkkg551BMEm2UcLUl)

5. ภาพปูนปั้นกุละ มัจฉริยะ (ความตระหนี่หวงสกุล) เป็นธรรมะสอนพระที่หวงสกุลอุปัฏฐาก คอยกีดกันภิกษุอื่น ๆ ไม่ให้เกี่ยวข้องได้รับการบำรุงด้วย กลัวว่าคนอื่นจะรับการปรนนิบัติดูแล ได้รับการบำรุงเลี้ยงดู สอนคติธรรมให้พระต้องรู้จักสละไม่หวงไม่ยึดติดต่อสิ่งต่าง ๆ ที่จะอำนวยสุขให้ตนเองอยู่สุขสบาย กลัวว่าผู้อื่นจะอยู่ดีมีสุขกว่าตนก็ปล่อยปละให้คนอื่นไม่ได้อย่างที่ตนได้ ผลของการตระหนี่หวงสกุลเมื่อตายไปก็จะไปเกิดเป็นยักษ์แบกวิมานของเทวดา

ภาพปูนปั้นกุละ มัจฉริยะ ภาพยักษ์แบกวิมานของเทวดา ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี (ภาพจาก “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น)” วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567)

นอกจากนี้ ยังมีปูนปั้นอีกภาพที่ถูกทุบทำลาย คือ ภาพปูนปั้นหนุมานเทินตราชูสัญลักษณ์ความยุติธรรมไว้บนหัว โดยแทรกคติธรรมเรื่องความยุติธรรมแต่ไม่ยุติธรรม สังเกตจากหัวมันที่นั่งอยู่ในตราชั่ง ฝั่งที่มี 2 หัว กลับหนักกว่า ฝั่งที่มี 3 หัว ครูทองร่วงตั้งชื่อว่า “ชั่งหัวมัน” (ปัจจุบันภาพปูนปั้นนี้ถูกทุบทำลาย)

ภาพปูนปั้นหนุมานเทินตราชูสัญลักษณ์ความยุติธรรมไว้บนหัว ฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี (ปัจจุบันถูกทุบทำลาย) (ภาพจาก “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น)” วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 24 กันยายน 2567