ตุ๊กแก ในบันทึกของฝรั่งสมัยพระนารายณ์-รัชกาลที่ 3 

ตุ๊กแก ในบันทึกของฝรั่ง

เผยเรื่องราวของ ตุ๊กแก ในบันทึกของฝรั่ง น่ากลัว ขนลุก และอันตราย

ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยาม ไม่ว่าจะในยุคกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ มักบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของสยามไว้มากมายหลายด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง วิถีชีวิต ภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ธรรมชาติ ฯลฯ 

ชาวต่างชาติหนึ่งในนั้นมี เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล (Frederick Arthur Neale) ชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามายังบางกอกสมัยรัชกาลที่ 3 และได้มีโอกาสรับราชการในตำแหน่งทหารเรือและทหารบกอีกด้วย

Advertisement

เรื่องราวหนึ่งที่สร้างประสบการณ์น่าขนลุกให้กับนีล นั่นคือการได้รู้จักกับ “ตุ๊กแก” ในบางกอก นีลบันทึกเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้เอาไว้ว่า…

“…นอกจากหนูแล้วยังมีสัตว์เลื้อยคลานอีกหลายชนิด ตามริมตลิ่งแม่น้ำก็มีงู กบ และมีอยู่ชนิดหนึ่งที่น่ารังเกียจที่สุดยิ่งกว่าจิ้งจกก็คือ ตุ๊กแก ตุ๊กแกที่บางกอกนี้มีลักษณะประหลาดมาก เพราะในบางฤดูตัวมันจะโตมาก โตยิ่งกว่าทากนา ลักษณะของตุ๊กแกนี้คล้าย ๆ จระเข้ (แม้ว่าตัวจะเล็กกว่ามาก) หนังก็ขรุขระ แล้วเวลามันร้องก็ส่งเสียงชอบกล ตัวข้าพเจ้าเองนั้นเห็นจะลืมไม่ลงทีเดียวเมื่อได้ยินเสียง ตุ๊กแกร้องเป็นครั้งแรก 

คือ คืนหนึ่งเมื่อกำลังนอนหลับสบาย พอถึงประมาณเที่ยงคืน ก็ตกใจตื่นเพราะได้ยินเสียงร้องประหลาด ๆ ว่า ‘ตุ๊กแก ตุ๊กแก’ เสียงนี้ฟังดูอยู่ไม่ไกลเท่าใด คงจะเป็นเหนือศีรษะข้าพเจ้า แต่กลับปรากฏว่าอยู่ในมุ้งนี้เอง โดยที่ในขณะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็มืดไปหมดมองไม่เห็นอะไรเลย ก็เลยไม่ทราบว่าตัวต้นเสียงนั้นเป็นอะไร เทียนก็ดับหมด ข้าพเจ้าจึงรีบออกจากมุ้งไปหาไม้ขีด พอจุดไฟได้ถึงมองเห็นว่ามีนัยน์ตาประหลาดน่ากลัวจ้องอยู่ แล้วเจ้าตัวน่าเกลียดนี้ก็เกาะอยู่ที่เสาเตียงนอน อยู่ห่างจากหมอนที่ข้าพเจ้าหนุนอยู่สักฟุตหนึ่งได้ 

เรือนแพ อยุธยา มี วัดพนัญเชิง
เรือนแพเรียงรายอยู่แน่นขนัดสองฝั่งคลองเมืองที่อยุธยา ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 6

ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ข้าพเจ้าเคยเดินทางเที่ยวไปทั่วประเทศอินเดีย ได้เคยเห็นสัตว์ต่าง ๆ มานับชนิดไม่ถ้วน แต่ยังไม่เคยเห็นตัวอะไรเหมือนอย่างที่มองอยู่ในตอนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกขนลุกขนพองขึ้นมาอีกเมื่อคิดถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น คือ คิดว่ามันอาจจะกระโดดเข้ามาใส่ตัวข้าพเจ้า จึงรีบไปปลุกเพื่อนของข้าพเจ้าชื่อนายเฮย์ส (Hayes) ชายหนุ่มผู้เป็นหุ้นส่วนของนายฮันเตอร์ เขานอนอยู่ในห้องถัดจากข้าพเจ้า แต่แทนที่จะได้รับการปลอบใจ นายเฮย์สกลับหัวเราะชอบใจ แล้วยังบอกว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นปกติธรรมดาทุกวัน 

จากนั้นเรื่องต่อมาที่ข้าพเจ้าเจอก็คือ ถึงจะไม่มีครูสตรีตามโรงเรียนประจำเดินตรวจตามใต้โต๊ะและตู้ในห้องนอน ถึงแม้จะพบสัตว์ตาย ผู้ชาย แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะน่ากลัวมากไปกว่าการพบตุ๊กแกเหล่านี้ยามค่ำคืน 

หลายครั้งหลายหนแล้ว ที่ข้าพเจ้าเคยสู้กับมันก่อนที่จะเอามันออกไปนอกห้องได้ ตุ๊กแกนี้มีลักษณะยืดหยุ่นได้ดีอย่างประหลาด จนมันสามารถกระโดดจากผนังด้านที่มันเกาะออกไปได้ไกลหลาย ๆ หลา ด้วยเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงต้องมีไม้ยาว ๆ เตรียมไว้ใกล้ตัวให้หยิบได้ทันที เขาบอกกันว่าตุ๊กแกนี้เป็นสัตว์ไม่มีพิษ แต่อย่างไรข้าพเจ้าก็ยังไม่ชอบมันอยู่ดี…”

ตุ๊กแก ในบันทึกของฝรั่ง ยังปรากฏในหลักฐานสืบย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย 

ชาวต่างชาติอีกคนหนึ่งคือ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) บาทหลวงฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกเกี่ยวกับ “ตุ๊กแก” เอาไว้ว่า

“…มีสัตว์อีกสองชนิดซึ่งมีพิษร้ายมาก ชนิดหนึ่งเรียกว่าตะขาบหรือ cent-pieds (แปลว่าหนึ่งร้อยตีน) เพราะว่ามันมีตีนหนึ่งร้อยข้าง ตัวดำ และยาวตั้งปิเอด์ พิษของมันแล่นรวดเร็วเท่าแมงป่อง แต่ก็ไม่ร้ายเท่าตุ๊กแก (tocquet) ที่เรียกชื่อกันดังนี้เพราะลางยามในเวลากลางคืน มันร้องเสียงดังชัดเจนหลายครั้งว่า ‘ตุ๊กแก ตุ๊กแก’ คำนี้เนื่องมาจากเสียงในลำคอของมัน อันไม่น่าฟังเลย

รูปร่างมันเหมือนจิ้งจก แต่ตัวใหญ่กว่าในประเทศเรา หัวของมันกว้างและแบนหนังมีสีจัด ๆ หลายสี เราเห็นมันทั้งกลางวันกลางคืน ออกล่าหนูตามหลังคาเรือน มันมีดีอยู่อย่างที่ไม่ทำร้ายใครก่อน แต่ถ้าใครไปรังควานมันเข้าแล้ว มันจะหันหน้าเข้าสู้ทันที และถ้ามันได้ทีกัดได้มันจะงับไว้แน่น เอาออกยากเหลือกำลัง พิษกัดของมันทำให้ถึงตายได้ ถ้าไม่ชิงตัดเนื้อตรงบริเวณที่ถูกกัดทิ้งเสียโดยด่วน…”

ผังเมือง ของ เกาะเมือง อยุธยา ภาพวาด ของ แกมป์เฟอร์
แผนที่เกาะเมืองอยุธยา ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ (ภาพจาก THE NEW YORK PUBLIC LIBRARY DIGITAL COLLECTIONS)

เรื่องราวของ ตุ๊กแก ในบันทึกของฝรั่งทั้งสองคนนี้คงจะฉายภาพให้เห็นแล้วว่า ตุ๊กแกไม่ว่าจะในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ หรือสมัยรัชกาลที่ 3 ต่างก็ทำให้รู้สึกขนพองสยองเกล้าแก่ผู้พบเห็น และเชื่อว่าแม้แต่คนไทยเองไม่ว่าจะยุคโบราณหรือยุคนี้ ก็ต้องมีคนกลัว “ตุ๊กแก” ขึ้นสมองแน่นอน แล้วจะนับประสาอะไรกับฝรั่งมังค่า…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง : 

เฟรเดอริก อาร์เธอ นีล เขียน, ลินจง สุวรรณโภคิน แปละและเรียบเรียง. (2564). “ชีวิตและความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทัศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)”. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

นิโกลาส์ แชรแวส เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. (2550). “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2567