ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หากมองข้ามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้สมัยใหม่ออกไป เคยสงสัยกันไหมว่า “ประจำเดือน” ของผู้ที่มีเพศสรีระเป็นหญิงอยู่ตรงไหน หรือมีสถานะอย่างไรในทางความเชื่อกันแน่?
มีความเห็น (ส่วนตัว) ของชาวพุทธบางกลุ่มมองว่า เหตุที่ผู้หญิงไม่ควรบวชเป็นภิกษุณี เพราะหากประจำเดือนเปื้อนจีวร จะทำให้ศาสนามัวหมอง ทำให้คนอีกกลุ่มฟังแล้วก็ได้แต่สงสัยว่า คุณค่าของจีวรนั้นมากกว่าผู้ถือครองเชียวหรือ ในเมื่อเปื้อนก็แค่ซัก แถมจีวรสมัยพุทธกาลยังเป็นเพียง “ผ้าห่อศพ” ที่ถูกนำมาปะย้อมใหม่ด้วยซ้ำ มิใช่ของสูงค่ามาจากไหน
ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่สาเหตุที่ภิกษุณีไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย หรือเป็นเหตุผลที่ทำให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ประทานพระอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนาในตอนแรกแต่อย่างใด
ยังมีกรณีวัดพุทธบางแห่งที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปถึงเขตชั้นใน บริเวณพระธาตุ หรือการห้ามสตรีที่มีประจำเดือนเข้าร่วมพิธีกรรมศักดิสิทธิ์ในวัดพราหมณ์
ยังไม่นับการเอาผ้าอนามัยเปื้อนเลือดไปไว้ตามจุดเป้าหมาย โดยหวังผลทางจิตวิทยา คือข่มขวัญ บั่นทอนกำลังใจ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองก็มี
เรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนจึงเป็นหัวข้อพูดคุยและถกเถียงกันมานาน และคำตอบ (ส่วนมาก) ก็ดูจะโน้มเอียงไปในทางเป็น “ของต่ำ” ของมีมลทิน และนำพาความเสื่อม แต่นั้นก็เป็นเพียงเรื่องของความรู้สึกอย่างหยาบ ๆ เท่านั้น
เพราะประจำเดือนในทางศาสนาคือเหรียญสองด้านที่มีมิติ “โลดโผน” กว่านั้นมาก!
“ประจำเดือน” ในคติพราหมณ์-พุทธ
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เล่าไว้ในคอลัมน์ ผี-พราหมณ์-พุทธ เรื่อง “สองด้านของ ‘ประจำเดือน’ ” (มติชนสุดสัปดาห์, 30 ธันวาคม 2559 – 5 มกราคม 2560) ว่า พุทธศาสนาไม่เคยมองว่า “ประจำเดือน” เป็นของต่ำทราม
ความเชื่อเรื่องมลทินจากประจำเดือนจึงเป็นเรื่องนอกพุทธศาสนา เป็น “ไสยศาสตร์” พื้นบ้าน
“ที่จริงความเชื่อแบบนี้ออกจะเป็น ‘ไสยศาสตร์แบบผู้ชาย’ อยู่มาก หรือศาสนาผีที่มีผู้ชายเข้าไปยึดครองพื้นที่และคำอธิบายใหม่แล้ว (โดยร่วมกับศาสนาผู้ชายที่มาจากอินเดียได้แก่พุทธศาสนาและพราหมณ์) ซึ่งนั่นทำให้ผมนึกไปถึงศาสนาฮินดู ซึ่งมีท่าทีสองแบบต่อประจำเดือน ทั้งรังเกียจและเคารพ”
อ. คมกฤช เล่าว่า ชาวฮินดูในอินเดียเองก็ห้ามสตรีมีประจำเดือนเข้าเทวสถาน ร่วมพิธีกรรม หรือแม้แต่ทำงานบ้าน ในแง่หนึ่งคือเจตนาดีที่ให้ผู้หญิงได้ “พัก” ไม่ต้องทำอะไรหรือไปไหน แต่การห้ามโดยไม่ให้ทางเลือกเลยนั้นชวนให้คิดว่าเป็นการตีความใหม่ (โดยผู้ชาย) มากกว่า
แต่ใน “นิกายศักติ” ที่นับถือเหล่าเทวี-เจ้าแม่ กลับมีมุมมองต่อประจำเดือนต่างออกไป เพราะซ่อนความหมายการเป็น “สัญลักษณ์” ศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ด้วย
นิกายนี้เชื่อว่า ประจำเดือนคือสัญญาณบ่งบอกว่าเด็กหญิงได้กลายเป็นหญิงสาวที่พร้อมจะตั้งครรภ์แล้ว ภาวะที่ก้าวข้ามจากเด็กมาเป็นแม่ จึงมีความศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าเทพมารดาที่ให้กำเนิดสรรพสิ่ง
“สีแดง” สีประจำเจ้าแม่ที่ถูกอธิบายว่าเป็นสีมงคล ก็หมายถึง “เลือด” แห่งชีวิตจากมารดา (หมายรวมถึงเลือดประจำเดือน) นั่นเอง
“เวลาท่านไปไหว้เจ้าแม่ที่วัดแขกสีลมหรือที่อื่น ๆ เขาจะเจิมหน้าผากให้โดยใช้ผง ‘กุงกุม’ ทำจากขมิ้นผสมสมุนไพรบางอย่าง มีสีแดง ทำเป็นจุดหรือ ‘พินทุ’ ถ้าถามพราหมณ์ พราหมณ์จะบอกว่า นี่คือสัญลักษณ์ของเจ้าแม่… ใช้แทนโลหิตศักดิ์สิทธิ์ ความหมายชั้นลึกอีกทีคือ โลหิตจากการบูชายัญสัตว์ และโลหิต ‘ประจำเดือน’ อันสูงส่งของเจ้าแม่” อ. คมกฤชกล่าว
ที่วัดกามขยาเทวี รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย มีการประดิษฐาน “สวายัมภูโยนี” หินธรรมชาติที่รูปร่างคล้ายอวัยวะเพศหญิง ผู้คนจะเอาผงกุงกุมเจิมพระโยนีของเจ้าแม่ ทั้งที่เป็นตัวหินและองค์เทวรูป ก่อนจะเอาเจิมหน้าผากของตนต่อเพื่อความสิริมงคล
ที่รัฐอัสสัมยังมี “อัมพุวาสีบูชา” หรือเทศกาลเจ้าแม่มีประจำเดือนในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำพรหมบุตรจะกลายเป็นสีแดง เพราะเจ้าแม่กามขยามีประจำเดือน
นอกจากนั้น คัมภีร์ตันตระของฮินดูยังถึงกับบอกไว้ว่า “สิ่งใดออกมาจากกายหญิงให้นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น”
มุมมองต่อ “ประจำเดือน” ของผู้หญิงในทางศาสนา จึงเต็มไปด้วยความโลดโผน ทั้งรังเกียจและเคารพ ส่วนคำถามที่ว่า อำนาจระหว่างเพศและการเมืองในศาสนาส่งผลต่อทัศนคติเหล่านี้มากน้อยเพียงใดนั้น… ขอผู้อ่านพิจารณาเอาเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “กุมารี” เทพเจ้าในร่างเด็กหญิงก่อนมีระดู
- คนฮินดูวรรณะต่ำในอินเดีย นับถืออะไรกัน?
- ปัญหาการไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ในไทย แต่เหตุใดจึงบวชได้ในศรีลังกา?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2567