ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวกรีกเป็นชนชาตินักเล่าเรื่อง พวกเขามักผูกโลกความจริงเข้ากับเทวตำนาน แม้แต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่าง “แมงมุม” ก็ถูกอธิบายจุดกำเนิดไว้ในเทพปกรณัมด้วยการเชื่อมโยงนิสัย (สัญชาตญาณ) ชอบถักทอใยว่าเป็นเพราะบรรพบุรุษเคยเป็นมนุษย์ผู้เก่งกาจในงานถักทอผ้ามาก่อน แต่ประสบชะตากรรมน่ารันทด ถูกเทพเจ้าสาปให้กลายเป็นสัตว์น่ารังเกียจ
นี่คือเรื่องราวของ “อารัคเน” หญิงสาวชาวมนุษย์ผู้เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของอันตรายจากการอวดอ้างตนทัดเทียมทวยเทพ
“อารัคเน-อธีนา” ศึกคนชนเทพ
ผ้าเป็นส่วนสำคัญของสังคมมนุษย์ ศิลปะการทอผ้าและปั่นด้ายจึงได้รับการยกย่องอย่างสูงในโลกกรีกโบราณ แม้แต่ทวยเทพยังมีเทพีแห่งการทอผ้าซึ่งเป็น 1 ใน 12 เทพแห่งโอลิมปัส นั่นคือ อธีนา (Athena) ธิดามหาเทพซุส
อธีนามักถูกจดจำว่าเป็นเทพีแห่งสติปัญญากับสงคราม แต่เธอยังเป็นเทพีแห่งงานหัตถกรรมด้วย โดยเป็นช่างทอผ้าสำหรับให้ทวยเทพโอลิมปัสสวมใส่ ผ้าที่ผ่านการถักทอของเธอขึ้นชื่อว่างดงามและประณีต จนผ้าทอของเทพหรือมนุษย์หน้าไหนก็ไม่อาจทัดเทียมได้
กระทั่งเธอถูกมนุษย์ผู้ต่ำต้อยอย่าง “อารัคเน” ท้าทาย
อารัคเน (Arachne – ในภาษากรีกแปลว่าแมงมุม) เป็นลูกสาวของอิดมอน พ่อค้าและช่างผีมือแห่งอาณาจักรลีเดีย (ปัจจุบันคือตุรกี) เธอแสดงให้เห็นถึงทักษะการทอผ้าที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่อายุยังน้อย ผ้าทอของเธอเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของผู้คนทั้งหลาย ถึงขนาดมีชาวบ้านและพวกนางไม้มารวมตัวกันที่บ้านเพื่อดูผ้าที่ทออยู่เสมอ
ความยอดเยี่ยมในทักษะทอผ้าและปั่นด้ายของอารัคเนเป็นเพราะเธอแตกฉานในการเลือกใช้ด้ายสีต่าง ๆ มาถักทอเป็นลวดลายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ชายหาด หรือพระราชวังที่งดงามไร้ที่ติโดยแทบไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองเลย
ชื่อเสียงและคำเยินยอที่อารัคเนได้รับตลอดชีวิต ทำให้เธอเกิดความทะนงตน แต่เดิมมนุษย์ผู้มีพรสวรรค์มักเชื่อว่าตนได้รับอำนวยพรจากเทพเจ้า แต่อารัคเนไม่เชื่ออย่างนั้น เธอประกาศว่าอธีนาควรมาประชันฝีมือกับเธอให้รู้กันไปเลยว่าใครคือช่างทอผ้าที่เก่งที่สุด เทพีอธีนาจึงไม่สบอารมณ์อย่างมากที่ถูกมนุษย์เดินดินดูหมิ่น
อธีนาแปลงกายเป็นหญิงชราแล้วไปหาอารัคเนที่บ้าน แนะนำให้อารัคเนถวายต้นปาล์มแด่เทพีอธีนา เพื่อขอขมาเทพเจ้าจากความโอหังนั้น แต่อารัคเนไม่ปฏิบัติตาม เธอบอกหญิงชราว่าต้องการเผชิญหน้ากับอธีนา หญิงชราจึงคืนร่างเป็นเทพเจ้าดังเดิมเพื่อรับคำท้านั้น
ในขณะที่มนุษย์และนางไม้ซึ่งชุมนุมกันอยู่บริเวณนั้นแสดงความเคารพยำเกรงต่อเทพีอธีนา อารัคเนยังทำหน้าตาย ไม่แยแสต่ออานุภาพของเทพเจ้า
จากนั้นทั้งคู่เริ่มตระเตรียมหูกทอและขึงด้ายยืน แล้วเริ่มถักทอผ้าด้วยด้ายสีสันงดงามดุจสายรุ้งและด้ายเงิน-ด้ายทอง ซึ่งกองอยู่ข้างกาย แวดล้อมด้วยฝูงชนที่เฝ้าดูการประชันฝีมืออย่างตื่นเต้น
อธีนาไม่ยอมอ่อนข้อให้มนุษย์ เธอทอผ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบดังเช่นทุกครั้ง เป็นลายผ้าที่สรรเสริญอำนาจแห่งทวยเทพโอลิมปัส ถ่ายทอดเรื่องราวอันเกริกเกียรติของเทพซุส โพไซดอน และตัวเธอเอง แต่งขอบด้วยลายกิ่งมะกอกสุดวิจิตร ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวเธอ และสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ส่วนงานของอารัคเนที่เสร็จในเวลาเดียวกันก็มิได้ด้อยไปกว่าของอธีนาเลย หากแต่สื่อสารแบบตรงกันข้าม
ลายผ้านั้นบอกเล่าความจริงว่าด้วยบาปของเทพเจ้าที่กระทำกับมนุษย์ นำเสนอเรื่องราวสุดรันทดของหญิงสาวชาวมนุษย์อย่าง ยูโรปา เลดา และอีกหลายคนที่เคยถูกซุสล่วงละเมิด รวมถึงพฤติกรรมผิดศีลธรรมของเทพ (ชาย) โอลิมปัส ที่มักแปลงกายไปล่อลวงสตรี โดยมีลวดลายดอกไม้และไม้เลื้อยตรงขอบผ้าทอ
ผลงานอันน่าทึ่งของอารัคเน ทำให้อธีนาไม่อาจปฏิเสธพรสวรรค์ดังกล่าวได้ ยิ่งได้เห็นอย่างใกล้ชิด ยิ่งประจักษ์แก่สายตา จนยอมรับอยู่กลาย ๆ ถึงความเหนือชั้นของอารัคเน
แต่ความยโสที่อารัคเนถ่ายทอดผ่านลายผ้า ทำให้เทพีบันดาลโทสะอย่างรุนแรง อธีนาฉีกทึ้งผ้าทอนั้นขาดจากกันทั้งผืน แถมใช้กระสวยทอผ้าฟาดศีรษะหญิงสาวให้ได้รับความเจ็บปวดและอับอายต่อหน้าธารกำนัล อารัคเนรู้สึกอัปยศอดสูเหลือกำลังที่เทพเจ้ากระทำกับตนเช่นนั้น จึงตั้งใจจะทำอัตวินิบาตกรรม ผูกคอจบชีวิตตัวเองเสียตรงนั้น
เมื่ออธีนาได้เห็นอารัคเนเลือกจบชีวิตตนเองก็เกิดเวทนาและสำนึกเล็กน้อย เทพีปลดร่างอารัคเนออกจากเชือกแล้วประพรมด้วยน้ำมนต์วิเศษ ส่งผลให้อารัคเนฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง แต่ต้องกลายเป็น “แมงมุม”
อารัคเนและลูกหลานต้องคอยปั่นใยไปตลอดชีวิต แม้นี่คือวิธีหาอาหารตามธรรมชาติของแมงมุม แต่อารัคเนในร่างสัตว์เดรัจฉานได้สูญสิ้นความสามารถในการสร้างงานศิลปะอันงดงามและมีความหมายไปตลอดกาล สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอจึงไม่ต่างจากการลงทัณฑ์โดยเทพเจ้า
อาชญากรรมโดยผู้ด้อย?
ชะตากรรมของอารัคเนนั้น ดูผิวเผินอาจเป็นเพียงเรื่องราวการล้างแค้นและกดให้มนุษย์จำนนต่อทวยเทพแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในปกรณัมกรีก
แต่ในแง่หนึ่ง อารัคเนอาจเป็นหญิงคนแรก ๆ ที่ต่อสู้กับสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคกรีกโบราณ ด้วยการประจานความผิดที่เทพบุรุษก่อ น่าเศร้าที่คู่กรณีของอารัคเนอย่างอธีนาก็เป็นผู้หญิง แต่เธอเองก็อยู่ในฐานะธิดาของมหาเทพแห่งโอลิมปัส เป็นตัวแทนทาง “จารีต” ของสถาบันที่มีราชาเป็นบิดาแห่งการล่วงละเมิดอย่าง “ซุส”
ผ้าทออันวิจิตรที่วิจารณ์เทพเจ้าอย่างโจ่งแจ้งจึงเป็นอาชญากรรมที่มนุษย์กระทำต่อเทพผู้มีอำนาจล้นพ้น และพวกเขาไม่อาจยอมรับได้ การล่วงเกินด้วยการนำเสนอในแง่ลบอย่างเปิดเผยนี่แหละคือเหตุผลหลักที่ทำให้อารัคเนถูกลงโทษ
ดูเหมือนปลายทางชวนหดหู่ของอารัคเนจะเป็นเพราะเธอเลือกยืนหยัดอยู่บนความ “ถูกต้อง” แต่ไม่ “ถูกใจ” คนบางกลุ่ม ก็เท่านั้น…
อ่านเพิ่มเติม :
- “เฮเฟสทัส” เทพแห่งโอลิมปัสที่ถูกบูลลี่มากที่สุด?
- “คิวปิด” กับ “ไซคี” ตำนานรักที่นรกมิอาจกั้น สวรรค์มิอาจขวาง
- ตำนาน “อิคารัส” มนุษย์วิหคประดิษฐ์ บินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ท้าทายเทพอพอลโล
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอดิธ แฮมิลฮัน; แปลโดย นพมาส แววหงส์. (2564). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
Liana Miate, The World History Encyclopedia. Arachne. July 26, 2022. From https://www.worldhistory.org/Arachne/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2567