ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยว่า “วันวิสาขบูชา” จะต้องเป็นวันที่เราไปเวียนเทียน ทำบุญ ตักบาตร แต่ที่จริงแล้ว วันวิสาขบูชากลับมีพิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญอย่างมากในราชสำนัก นั่นคือ “โคมตรา วิสาขปุรณมีบูชา” หรือ “การถวายโคมตรา”
“วันวิสาขบูชา” หรือภาษาบาลีว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” เป็นวันที่เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน นั่นคือ วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 (แต่หากปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเลื่อนไปวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7) โดยวันนี้เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งในหมู่ชนชั้นนำและราษฎร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีการฟื้นฟูประเพณีวันวิสาขบูชาขึ้น หลังจากปฏิบัติประเพณีดั้งเดิมมาเนิ่นนาน พระองค์ทรงให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้
และมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตกแต่งโต๊ะหมู่บูชา โคมเทียน และเทียนต้นประดับดอกไม้สด ตั้งและแขวนรายรอบศาลา ระเบียงและกำแพงแก้วพระอุโบสถ โดยให้จัดแบบเดิมทุกประการ
“โคมตรา วิสาขปุรณมีบูชา” หรือ “การถวายโคมตรา”
จนสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ได้มีการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมถึงมีการถวายโคมตรา หรือที่เรียกกันว่า “โคมตรา วิสาขปุรณมีบูชา” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยสามารถทำโคมมาถวายได้อีกด้วย ดังที่ปรากฏใน “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๗ : หมายรับสั่ง แลบาญชีโคมตรา ในการพระราชพิธีวิสาขบูชา รัชกาลที่ ๔” ว่า…
“…แลในวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำมีพระธรรมเทศนาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๓ คืนเหมือนอย่างทุกปี… อนึ่งให้พันจันทนุมาศ จัดดอกไม้เพลิงไปบั่กนอกพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันออก… นิมนต์พระสงฆ์ที่ทรงธรรมกถึกให้สำแดงธรรมเทศนา… ครั้นเพลาค่ำตามโคมประทีปทุกน่าบ้าน ทุกร้าน ทุกเรือน ทุกแพ จงทุกแห่ง… แล้วให้หมายบอกข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทำโคมรูปตราสำหรับตำแหน่งที่ผู้กินเข้ามาแขวน ณวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำทั้ง ๓ คืน”
นอกจากจะทำโคมตราแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีการจัดแข่งขันโคมตราและมีรางวัลพระราชทาน เพื่อกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้กับหน่วยงานที่มาเข้าร่วม
โคมตรานี้ อย่างที่ทราบดีก็คือโคมที่ให้แสงสว่าง ส่วนตรานั้นก็คือเครื่องหมาย ที่เป็นสัญลักษณ์แทนบุคคลหรือองค์กร โคมตรานี้ส่วนใหญ่จึงมักออกแบบให้มีตราสัญลักษณ์สัตว์ต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำหน่วยงานในปัจจุบัน อย่างโคมตรารูปราชสีห์ที่เป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทยหรือโคมตรารูปคชสีห์ของกระทรวงกลาโหม
พระราชพิธีและธรรมเนียมการถวายโคมในประเพณีวันวิสาขบูชายังดำเนินต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นรัชสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรัตนโกสินทร์ศกเป็นพุทธศักราช ก็ได้มีการทำบัตรอวยพรในวันวิสาขบูชา
จน พ.ศ. 2513 กระทรวงศึกษาธิการก็มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำโคมสำหรับจุดเป็นพุทธบูชา ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
ประเพณีดังกล่าวจึงถือว่าอยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโคมตราไปบ้างตามยุคสมัย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในเรื่องพุทธศาสนาของคนไทย
อ่านต่อได้ที่นี่ :
- รู้หรือไม่ “วิสาขบูชาครั้งแรกของรัตนโกสินทร์” เกิดขึ้นเมื่อใด
- พุทธเหมือนกัน ไฉนบางกรณีมี “วันวิสาขบูชา” คนละวันกัน-คนละความหมาย?
- วันอาสาฬหบูชา “วันพระรัตนตรัย” ครบองค์สามบริบูรณ์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรินดา ป้องกงลาด. วิจิตรโคมตราวิสาขปุรณมีบูชา กรมศิลปากร. “ศิลปากร” นิตยสารรายสองเดือน ปีที่ 66 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม, 2566.
https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/73/iid/3401
https://www.finearts.go.th/pranakornkeereemuseum/view/42922-ตามประทีปโคมไฟ
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2567