ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
บุพนิมิต หมายถึง ลางที่บอกเหตุขึ้นก่อน หรือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า (บุพ- แปลว่า ก่อน, เบื้องหน้า นิมิต- หมายถึง ลาง, เค้ามูล) รากฐานความเชื่อเรื่องบุพนิมิตปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายฉบับ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “บุพนิมิต 32” ในพุทธประวัติ ว่าด้วยเหตุอันอัศจรรย์ที่เกิดด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่เคยอุบัติและจะอุบัติขึ้นบนโลก
อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่าถึงบุพนิมิตว่าเกิดขึ้นในเหตุการณ์สำคัญ 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระราชมารดา ครั้งที่ 2 เมื่อประสูติ ครั้งที่ 3 คราวตรัสรู้ และครั้งที่ 4 คือตอนที่ทรงแสดงธรรมปฐมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
อย่างไรก็ตาม บุพนิมิตทั้ง 4 ครั้ง ในวรรณกรรมพุทธประวัติฉบับต่าง ๆ ให้รายละเอียดไว้ต่างกันบ้าง เพราะบางฉบับมีเกิน 32 ประการ บางฉบับก็ไม่ถึง 32 ประการ จึงขอยกฉบับ อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์ ที่แจกแจงบุพนิมิตเมื่อคราวพระพุทธเจ้าประสูติไว้ถึง 38 ประการ ดังนี้
1) หมื่นโลกธาตุสะเทือนหวั่นไหว 2) เทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกัน 3) เมื่อพระมหาสัตว์ (พระพุทธเจ้า – ผู้เขียน) ประสูติ มีเทวดามารับพระองค์ก่อน มนุษย์รับในภายหลัง 4) พิณและอาภรณ์เครื่องประดับกระทบกันบรรเลงเป็นเสียงไพเราะ 5) เครื่องพันธนาการหลุดออก 6) โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ กลับหาย 7) คนตาบอดกลับมามองเห็น 8) คนหูหนวกกลับมาได้ยิน 9) คนใบ้แต่กำเนิดกลับระลึกสติได้
10) คนขาพิการกลับเดินได้ 11) เรือแล่นถึงท่าที่หมาย 12) รัตนะต่าง ๆ ทั้งบนอากาศและบนดินเปล่งแสงเรืองรอง 13) ไฟนรกดับ 14) กระแสน้ำหยุดไหล 15) เกิดแสงสว่างในโลกันตนรก 16) มหาสมุทรสงบไร้คลื่นและน้ำเค็มกลับมีรสอร่อย 17) ลมพายุสงบ 18) ต้นไม้ทั้งหลายออกดอกบานสะพรั่ง 19) ดวงจันทร์และดวงดาวจรัสแสง 20) ดวงอาทิตย์ไม่ร้อน
21) ฝูงนกละจากฟ้าและต้นไม้มาเดินบนพื้นดิน 22) เกิดฝนที่มีรสกร่อยตกใน 4 ทวีป 23) เทวดาทั้งหลายพากันฟ้อนรำในภพของตน 24) ประตูเปิดออกเอง 25) ความอดอยากหิวกระหายของมหาชนระงับลง 26) สัตว์ทั้งหลายจองเวรกันเกิดเมตตาจิต 27) ฝูงกาเที่ยวไปกับฝูงนกเค้าแมว 28) ฝูงหมาป่าเล่นยิ้มแย้มกับฝูงหมู 29) งูพิษและงูไม่มีพิษเล่นหัวกับพังพอน 30) ฝูงหนูอยู่ร่วมกับแมว
31) ความกระหายน้ำของปีศาจที่ไม่ได้น้ำมาเป็นเวลาพุทธันดร (ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา) กลับระงับ 32) คนค่อมกลับมากายสมส่วน 33) คนใบ้พูดได้ไพเราะ 34) มหาชนกล่าวปิยวาจาแก่กัน 35) ฝูงม้าส่งเสียงร้องร่าเริง 36) ฝูงช้างส่งเสียงร้องกึกก้อง 37) หมื่นโลกธาตุเต็มไปด้วยจุรณจันทน์ (ผงจันทน์หอม) กลิ่นหอมดอกไม้ หญ้าฝรั่น ธูป และ 38) เกิดธงชัยเป็นดั่งมาลัยอันงดงามปรากฏไปทั่วแผ่นดิน
จะเห็นว่าบุพนิมิตแทบทุกประการล้วนเป็นเรื่องอัศจรรย์ ผิดแผกจากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่จะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ปรากฏการณ์ชวนพิศวงเหล่านี้มีความหมายหรือสื่อนัยอะไร?
รหัสนัยใน “บุพนิมิต 32”
ในคัมภีร์อรรถกถา ส่วนที่อธิบายความจากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ผู้แต่งได้แทรกการตีความบุพนิมิตต่าง ๆ เพื่อสะท้อนว่า วรรณกรรมพุทธศาสนามิได้รจนาเรื่องเหนือธรรมชาติในบุพนิมิต 32 ขึ้นมาลอย ๆ หรือมุ่งแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์เป็นสำคัญเท่านั้น แต่เป็นความจงใจเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ในพุทธประวัติและหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น หมื่นโลกธาตุสะเทือนหวั่นไหว เป็นบุพนิมิตจากการได้สัพพัญญุตญาณ (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) ของพระพุทธเจ้า
หรือ เครื่องประดับกระทบกันบรรเลงเป็นเสียงไพเราะ เป็นบุพนิมิตสื่อถึงเสียงแห่งธรรมที่มนุษย์ทั้งหลายจะได้สดับฟัง โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ กลับหาย เป็นบุพนิมิตของการได้ผลแห่งอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ หัวใจของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และ คนขาพิการกลับเดินได้ เป็นบุพนิมิตของการได้อิทธิบาท 4 คือธรรมอันเป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ 4 ประการ เป็นต้น
บุพนิมิตทั้งหลายจึงเป็นการอธิบายเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการยกภาวะตรงกันข้าม ภาวะอิสระ ความอุดมสมบูณ์ ความประเสริฐต่าง ๆ ในอุดมคติ หรือเรื่องน่ายินดี แต่ขณะเดียวกันก็น่าอัศจรรย์ใจมาใช้สื่อความ เพื่อยกย่องพระพุทธคุณอันจะเกิดจากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมานั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- สถานที่ “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง
- “สหชาติ” ทั้ง 7 สิ่งมงคลอันเป็นอัศจรรย์ ที่เกิดพร้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- “สนทนากับเทวดา” วัตรปฏิบัติประจำวันของ “พระพุทธเจ้า” หมายถึงกิจอะไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544. (ออนไลน์)
วกุล มิตรประพันธ์. บุพนิมิต 32 ในวรรณกรรมพุทธประวัติ. นิตยสาร ศิลปากร ฉบับกรกฎาคม – สิงหาคม 2565. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2567