ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | องค์ บรรจุน |
เผยแพร่ |
ภาชนะหรือหม้อน้ำพร้อมกระบวยหรือภาชนะตักน้ำวางคู่กันริมทางสำหรับผู้สัญจรผ่านไปมาได้ดื่มดับกระหาย เป็นการแบ่งปันแก่คนเดินทางโดยไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำเป็นต้องรู้จักมักคุ้น ถือเป็นทานอันยิ่งใหญ่ ธรรมเนียมที่เป็นดั่งกฎเกณฑ์ซึ่งสังคมเห็นพ้องกันมาแต่โบราณ ในเมืองไทยวันนี้อาจเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย ขณะที่ในสังคมคนเมียนมา นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้แทบทุกระยะรั้วบ้าน ยิ่งในแถบชนบทนั้นมีประจำทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นข้างรั้ว ใต้ถุน และชานเรือน ที่เจ้าของเตรียมไว้เผื่อแผ่สำหรับผู้มาเยือนเสมอ
สมัยผู้เขียนเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัด เวลามีแขกไปใครมาหรือแค่เดินผ่าน เจ้าของบ้านต้องรับรองตามธรรมเนียมเรียกให้แวะพักดื่มน้ำ อย่างน้อยจีบหมากจีบพลูส่งให้คำสองคำ หรือตักน้ำในตุ่มสักขันส่งให้ดับร้อนจากการเดินทาง ถ้ามีเวลาก็ต้องเลี้ยงข้าวกันสักมื้อ เรื่องน้ำดื่มนี้คนแก่คนเฒ่าถือมาก การให้น้ำนั้นเป็นกุศลมหาศาล ตรงข้ามกับการหวงน้ำที่จะเป็นบาปกรรมและน่าละอาย (ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด) เชื่อกันว่า คนที่หวงน้ำเมื่อตายไปจะตกนรกหมกไหม้ อดอยากหิวโหย ไม่มีน้ำดื่ม ดังนั้นใครไปใครมาก็ต้องหาน้ำท่ารับรอง ไม่ว่าคนบ้านใกล้บ้านไกล หาน้ำมารับรองก่อน ผู้รับจะดื่มหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง
ธรรมเนียมใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ การสร้างอโรคยศาลา (โรงพยาบาล) หรือที่พักรายทางนี้พบทั่วไปแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา น้ำจิตน้ำใจในการต้อนรับผู้มาเยือนไม่แตกต่างกัน เฉพาะในเมืองไทยนั้นมีแต่เดิมมา เพียงแต่ขาดหายไปบ้างภายหลัง เมื่อพูดถึงธรรมเนียมร้านน้ำในเมืองไทยจึงอาจจะต้องกล่าวอ้างถึงอดีตที่เริ่มลืมเลือนกัน
“ร้านน้ำ” ความหมายในพจนานุกรมก็คือ “น. ร้านที่ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เป็นทาน” ก็คือการให้น้ำดื่มแก่ผู้คนโดยไม่คิดมูลค่า (แม้จะหวังในบุญ) ทั่วทุกภูมิภาคของไทยเคยมีดาษดื่น แต่อาจพบเห็นได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน คงเหลืออยู่บ้างแถบล้านนาหรือทางภาคเหนือของไทย ที่กลายเป็นภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวเหนือในทุกวันนี้ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของผู้คนมอญพม่าล้านนา และล้านช้างที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน ด้วยอาจเป็นลักษณะนิสัยใจคอของคนภูมิภาคนี้ที่มีความเอื้อเฟื้อ นึกถึงผู้อื่นเป็นทุนอยู่แล้วก็เป็นได้ ทำให้วัฒนธรรมร้านน้ำยังคงมีให้เห็นอยู่ทางเหนือของไทยและแถบประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง
“ร้านน้ำ” ในสำเนียงของคนทางเหนือก็คือ “ฮ้านน้ำ” ซึ่งเป็นที่ตั้งวางของ “โอ่งน้ำตาน” หรือ “น้ำต้น” ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำ พจนานุกรมแปลคำไทยถิ่นเหนือของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายว่า “น้ำต้น น. คนโทดินบรรจุน้ำ” ที่เป็นมากกว่าภาชนะบรรจุน้ำดื่ม
คนพื้นเมืองเชียงใหม่รวมทั้งพื้นที่แถบล้านนาทั้งหมดเรียกภาชนะบรรจุน้ำดื่มที่มีลักษณะอ้วนป้อม ช่วงคอสูงชะลูดขึ้นไป ด้านข้างแกะสลักลวดลายไว้อย่างสวยงามว่า “น้ำต้น” ส่วนคนล้านนาดั้งเดิมทั่วไปจะเรียกว่า “น้ำต้นเงี้ยว” เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นงานฝีมือที่สืบทอดมาจากช่างชาวเงี้ยว หรือไทใหญ่ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเหมืองกุง บ้านขุนเส อำเภอหางดง และบ้านน้ำต้น อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บรรพชนของชาวเงี้ยวกลุ่มนี้มีทั้งที่อพยพและถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุและเมืองสาดในรัฐชาน ประเทศเมียนมา ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 ระหว่าง พ.ศ. 2399-2413
“น้ำต้น” เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่กับวิถีชีวิตของคนล้านนาอย่างมาก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า น้ำต้นเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนล้านนา นอกจากจะใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำดื่มแล้ว ยังใช้เป็นภาชนะจัดใส่ดอกไม้ประดับประดาแท่นบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นเครื่องประกอบยศของเจ้านายอีกด้วย
ในบางครั้ง น้ำต้นและหม้อน้ำดื่มของคนล้านนายังใช้คู่กับ “ส้อหล้อ” ที่ทำจากไม้ไผ่ซางขนาดใหญ่สาน ใช้สำหรับตั้งภาชนะบรรจุน้ำดื่มเมื่อมีงานในวัดหรือชุมชนต่างๆ ทั่วบริเวณงาน เพื่อให้ผู้มาร่วมงานทั่วไปได้ดื่มกินอย่างทั่วถึงเพียงพอ
นอกจากทางภาคเหนือแล้ว ทางภาคอีสาน (รวมทั้งคนลาวบางส่วน) เรียกร้านน้ำหรือหม้อน้ำดื่มริมทางเช่นนี้ว่า “แอ่งดิน” หรือ “แอ่งน้ำ” หรือ “แอ่ง” ส่วนของทางภาคใต้ คือ “เพล้ง” และตามที่กล่าวแล้วว่าทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีธรรมเนียมร้านน้ำอยู่โดยทั่วไป เช่นเดียวกับ “ตน็อล” ของคนเขมร ที่เพิ่งมีในระยะหลังเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยวัฒนธรรมคนเขมรดั้งเดิมจะไม่นิยมตั้งร้านน้ำให้ทานหรือยกน้ำรับรองเนื่องจากผู้มาเยือนมักจะปฏิเสธ ด้วยระมัดระวังในเรื่องคุณไสยเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของคนมอญเรียก “ด้าจก์ต่าน” หรือ “น้ำทาน” และคนพม่าก็เรียกว่า “เยโออะหลู่” หรือ “น้ำหม้อทาน”
สังคมเมียนมายังคงบุคลิกลักษณะน้ำใสใจจริง นิยมให้ทานตามหลักการสร้างทานบารมีในทางพุทธศาสนา ที่สำคัญสภาพสังคมยังมีความดั้งเดิมอยู่มาก ระบบการประปาของประเทศเข้าถึงเพียงเฉพาะบางพื้นที่ในย่านเขตเมือง ประชากรส่วนใหญ่อุปโภคบริโภคน้ำบ่อเป็นหลัก และการหาซื้อน้ำดื่มก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก ทั้งความสะดวกในการซื้อหาและราคา บ้านเรือนในชนบทจึงมักจะมีหม้อน้ำตั้งอยู่ที่ชานเรือนบนบ้านสำหรับเจ้าของบ้านและแขกที่มาเยือนเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใต้ถุนบ้านหรือหน้าบ้านก็มีหม้อน้ำในร้านน้ำสำหรับคนผ่านไปมาแวะดื่มได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องบอกกล่าวเจ้าของบ้าน เพราะเป็นธรรมเนียมที่รู้กันดี ส่วนในเขตเมืองหรือชุมชนหนาแน่น ก็มักพบเห็นหม้อน้ำในร้านน้ำที่ตั้งอยู่ตามรายทางในที่สาธารณะแบบให้ทานเป็นความต้องการน้ำดื่มดับกระหายของผู้เดินทาง ขณะที่ผู้ให้ก็ต้องการแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์เพื่อสร้างสมบารมีทาน
หม้อน้ำมักจะตั้งอยู่ในร้านน้ำเพื่อไม่ให้หม้อซึ่งโดยมากทำจากดินเผาถูกกระทบแตกร้าวป้องกันฝุ่นผงเจือปนและสัตว์เลี้ยงรบกวน รวมทั้งอยู่ในระดับความสูงที่พอเหมาะแก่การตักดื่ม ร้านน้ำมีหลายระดับ ทั้งประเภทที่ตั้งอยู่หน้าบ้านหรือในเขตบ้านของใครของมัน กับในพื้นที่ส่วนรวมตามชุมชนหมู่บ้าน และวัดวาอารามที่หัวหน้าหมู่บ้านชาวบ้าน และชาววัดช่วยกันสร้างและดูแล
เจ้าของหม้อน้ำจะตักน้ำจากบ่อเทใส่หม้อน้ำผ่านผ้าขาวบางหรือตะแกรงตาถี่กรองฝุ่นผงและแมลงต่างๆ ปิดฝาหม้ออย่างมิดชิด กระบวยตักน้ำคว่ำครอบไว้บนฝาหม้อ หลายแห่งผูกเชือกฝาครอบและกระบวยป้องกันปลิวตกหล่นหรือสูญหาย เจ้าของจะคอยนำน้ำมาเติมให้เต็มเมื่อพบว่าปริมาณน้ำพร่องไปตลอดเวลา และหมั่นขัดล้างทำความสะอาดภาชนะสม่ำเสมอ ด้วยถือว่าสิ่งของที่ให้เป็นทานยิ่งต้องพิถีพิถันอย่างดี เมื่อผู้รับได้รับสิ่งดีๆ ก็จะอนุโมทนาสาธุ สิ่งดีๆ ก็จะสะท้อนถึงผู้ให้ทบเท่าทวีคูณ
นอกจากวัฒนธรรมร้านน้ำซึ่งนับเป็นธรรมเนียมการรับรองผู้มาเยือนและทานน้ำใจที่งดงามแล้ว สิ่งซึ่งงดงามอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ รูปแบบงานศิลปะที่ปรากฏบนร้านน้ำ มักได้รับการสร้างและตกแต่งด้วยวัสดุคงทนถาวรอย่างประณีตสวยงาม รูปแบบแตกต่างกันไปตามฐานะและฝีไม้ลายมือผู้เป็นเจ้าของ ที่บรรจงประดิดประดอยร้านน้ำของตน บางร้านทำรูปทรงแปลกสะดุดตา บางร้านทำอย่างเรียบง่ายตามมีตามเกิด เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาดื่มได้โดยไม่ขัดเขิน บางร้านเน้นการแกะสลักไม้หรือลายปูนปั้นอย่างวิจิตรประดับกระจกสี บางร้านตกแต่งด้วยลายเขียนสีสดใสชวนมอง รวมทั้งการเลือกหาหม้อน้ำ ฝาครอบ และภาชนะตักน้ำที่น่ารักสวยงามวางไว้ให้ใช้คู่กัน เพื่อให้ผู้รับทานดับกระหายคลายร้อน แถมพกพาความเจริญตาเจริญใจกลับไป
ความเจริญตาเจริญใจของผู้รับทาน นอกจากจะได้ดื่มน้ำเย็นฉ่ำดับกระหายที่ตักจากบ่อซึ่งซึมผ่านชั้นหินขังอยู่ใต้ผิวดิน รสชาติจืดสนิท ไม่มีสี และกลิ่น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในหม้อดินเผา และจำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้หลังคาคลุมของร้านน้ำป้องกันเปลวแดด แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ทั้งหม้อดินและหลังคาเรือนน้ำสามารถเก็บรักษาความเย็นของน้ำได้ดี เมื่อตักน้ำจากหม้อดินเผาขึ้นดื่มก็จะได้รับความฉ่ำเย็น พลันความสำนึกในบุญคุณเจ้าของน้ำก็บังเกิดโดยไม่ต้องกะเกณฑ์
ผู้เขียนเข้ามาศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. 2535 ตอนนั้นยังทันเห็นร้านน้ำและหม้อน้ำดื่มริมทางอยู่สัก 2 แห่ง คือ หน้าร้านขายรองเท้ายูนิเวอร์ส บางลำพู และหน้าร้านน้ำอบนางลอย ตรงประตูผี ข้างป้อมมหากาฬ แต่เท่าที่สังเกตดูไม่พบว่าคนผ่านทางตักน้ำจากร้านน้ำเหล่านี้ดื่มกินกัน น่าจะด้วยหาซื้อน้ำดื่มชนิดขวดหรือเครื่องดื่มชนิดถุงได้ง่าย ที่สำคัญ ผู้คนอาจไม่มั่นใจในความสะอาด ทั้งภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะตักน้ำที่วางอยู่ริมถนนซึ่งมีฝุ่นควันรถยนต์แล่นผ่านตลอดเวลา รวมทั้งอาจไม่เชื่อใจพวกจิตอกุศลที่แกล้งใส่สิ่งแปลกปลอมลงไปในหม้อน้ำอย่างที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา ดังนั้นหม้อน้ำร้านน้ำในเมืองไทยที่หายไปก็คงเป็นด้วยเหตุผลนี้ แม้มีผู้อยากให้แต่ไม่มีผู้กล้ารับจำต้องเลิกรากันไปเมื่อหมดหน้าที่รับใช้สังคม
ขณะที่น้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกร้องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น และกำลังได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นกลางชาวเมียนมามากขึ้นทุกขณะ แต่ประชากรส่วนใหญ่ในเมียนมายังคงดื่มน้ำจากร้านน้ำริมทางกันเป็นปกติ ด้วยน้ำดื่มบรรจุขวดยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้ใช้แรงงาน หม้อน้ำดื่มริมทางจึงยังคงมีความสำคัญต่อสังคมเมียนมาอย่างยิ่งในทุกวันนี้
สิ่งที่ตามมาหลังการเปิดประเทศของเมียนมา เป็นต้นว่า เทคโนโลยี โครงข่ายระบบเศรษฐกิจข้ามชาติ ตลอดจนข่าวสารสารสนเทศที่ไหลบ่าเข้ามาพร้อมวัฒนธรรมจากภายนอกปะทะกับสังคมเมียนมาแบบดั้งเดิม เป็นต้นว่า ค่านิยมเรื่องความสะอาด ชีวิตอันรีบเร่งแก่งแย่งแข่งขันของสังคมเมือง สอดรับกับการเกิดขึ้นของธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวด ที่ล้วนเรียกร้องและรอคอยการเปลี่ยนแปลงนี้ ธรรมเนียมร้านน้ำดั้งเดิมท่ามกลางภาวะเปลี่ยนผ่านจึงมีความซับซ้อนหลากหลายชวนเฝ้ามองการคงอยู่และเป็นไปของธรรมเนียมร้านน้ำในเมียนมานับเวลาต่อจากนี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560