“ถนนหยดน้ำ” ถนนแบบใหม่แก้รถติด กทม. ตามพระราชดำริ ร. 9

ภาพถ่ายจากดาวเทียม แสดงตำแหน่งของถนนหยดน้ำ (ภาพจาก สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปี แห่งการครองราชย์)

เนื่องจากสภาพการจราจรบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีติดขัดหนาแน่นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถที่มาจากถนนบรมราชชนนี ถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนอมรินทร์ ต้องเผชิญรถติดเวลานาน

เมื่อพุทธศักราช 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทอดพระเนตรสภาพการจราจรที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเผชิญรถติดเป็นเวลานาน มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า การระบายรถบริเวณทางลงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครมีสภาพเป็นคอขวด รถต้องหยุดชะงักและรอสัญญาณไฟถึง 4 จังหวะ เพื่อเลี้ยวขวาไปสนามหลวง เมื่อถึงสัญญาณไฟเขียว รถแย่งทางและเบียดผ่านไปได้จำนวนน้อย ปริมาณรถสะสมที่เชิงลาดสะพานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงถนนบริเวณดังกล่าวพร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 5 ล้านบาท

ถนนหยดน้ำ เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร (ภาพจาก สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปี แห่งการครองราชย์)

กรุงเทพมหานครรับสนองพระราชดำริ โดยประสานกับกรมธนารักษ์รับมอบพื้นที่สำหรับปรับปรุงเป็นเส้นทางเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรตามแนวพระราชดำริ เริ่มก่อสร้างวันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2536 เมื่อจัดทำร่างแบบปรับปรุงในครั้งแรกมีข้อระบุว่า ต้องตัดต้นไม้ใหญ่ 9 ต้น ย้ายป้ายและเสาไฟฟ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงพระราชทานรูปแบบใหม่โดยไม่ต้องตัดต้นไม้หรือย้ายเสาไฟ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง

ทั้งได้มีพระราชดำริว่าเส้นถนนตามแบบนั้นมีช่วงโค้งแคบ อาจเกิดปัญหากับรถโดยสารที่มีช่วงรถยาว จึงได้แก้ไขแบบใหม่ให้โค้งกว้างขึ้น

ถนนหยดน้ำสามารถเปิดการจราจรให้รถเดินได้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2537


ข้อมูลจาก : สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปี แห่งการครองราชย์. กรมศิลปากร. 2551