เปิดที่มาคอลัมน์ดัง “เสพสมบ่มิสม” และ “สิ่งพิมพ์เรื่องเพศ” ในสังคมไทยแต่ละยุค

ชายหญิง จิตรกรรมฝาผนัง วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

สิ่งพิมพ์เรื่องเพศ เป็นช่องทางหนึ่งที่กระจายความรู้เรื่องเพศในมิติต่างๆ สู่สังคมไทย ตามวิถีทางการแพทย์และสาธารณสุขจากโลกตะวันตก ขณะเดียวกันสิ่งพิมพ์ก็สะท้อนความคิดเรื่องเพศของสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ไปพร้อมกัน ที่สังคมไทยอาจพอจำได้คือคอลัมน์ “เสพสมบ่มิสม” โดย “หมอนพพร” ที่ให้ความรู้เรื่องเพศผ่านหนังสือพิมพ์ จนมีแฟนคอลัมน์จำนวนมาก

สิ่งพิมพ์เรื่องเพศในไทยเริ่มจากเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 หนังสือแสดงกิจจานุกิจ โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2410 เสนอวิธีคิดที่มองธรรมชาติชาย-หญิงแตกต่างกัน และเห็นด้วยกับสังคมผัวเดียวหลายเมีย เช่น เสนอว่าชายมีหลายเมียเป็นเรื่องสอดคล้องกับธรรมชาติ เพราะหากมีเมียเดียว เมื่อชายเกิดความต้องการทางเพศ แต่เมีย/หญิงมีประจำเดือน ความต้องการของชายก็จะไม่ได้ปลดปล่อย

Advertisement

เมื่อความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่แพร่เข้ามา ตำราเสน่หา ว่าด้วยความรักอย่างสูงสุดในโลก โดย นายแพทย์ เหล็ง ศรีจันทร์-หัวหน้าคณะ ร.ศ. 130 ตีพิมพ์ราว พ.ศ. 2453-2463  ก็เสนอว่า “กามคุณเป็นกิจแห่งความเจริญของมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ธรรมชาติสร้างสมมาให้ซึ่งสัตว์และมนุษย์ธรรมดาจะละเว้นไม่ได้…ถ้าสัตว์ใดถูกตัดกามคุณออกแล้วชีวิตก็ง่วงเหงา ปราศจากความรื่นเริง…มนุษย์เราถ้าถูกตัดกามคุณออกแล้ว อายุสั้นเหมือนกัน ตามซึ่งแพทย์ได้จดรายงานไว้เป็นจำนวนมาก” สะท้อนว่าการมองเรื่องเพศในฐานะสิ่งชั่วร้ายตามธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนไป

ทว่ามุมมองต่อการร่วมเพศที่เป็นความสุขก็ไม่ใช่กิจกรรมที่จบในตัว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มมีบรรยากาศความคิดว่าประชากร, ครอบครัว เป็นหน่วยผลิตของสังคม การมีเพศสัมพันธ์จึงเชื่อมโยงไปสู่การสืบเผ่าพันธุ์ ดังที่ กามวิโกรม โดย จันทรมหาจักร  และ ก.กมลาภินันท์ ตีพิมพ์ พ.ศ. 2478 เสนอว่า “ผลของการประกอบเมถุนกิจเปนไปเพื่อการสืบพันธ์ุที่ดี มิใช่เพื่อการสนุกสนานในชีวะภาพอย่างเดียว”

แนวคิดนี้สืบเนื่องไปถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่พยายามเชื่อมโยงความสำคัญของครอบครัวไปสู่การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยส่งเสริมการมีบุตร เช่นหนังสือ วิชาการครองเรือนครองรัก โดยหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2494 เสนอว่า “เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นสามีภริยา ก็จะต้องมีลูก ขออย่าได้กลัวในเรื่องการมีลูก…การคุมกำเนิดตั้งแต่เริ่มแรกที่แต่งงานกัน เป็นการเห็นแก่ตัว เป็นบาป และเป็นการตัดทอนความเจริญในอนาคตของตนเอง”

ประมาณทศวรรษ 2460-2490 หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศแพร่หลายขึ้นอย่างมากในสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งแสดงถึงการแพร่ขยายความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ไปสู่สาธารณะมากขึ้น และมีการแพร่หลายของงานเขียนเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เรียกว่าเพศศาสตร์ หรือ เพศวิทยา ทั้งในรูปแบบตำราและนิตยสาร เช่น นิตยสารปัญหาชีวิต เริ่มจำหน่าย พ.ศ. 2490 และนิตยสารวิทยาศาสตร์ทางเพศ พ.ศ. 2493

ประมาณปลายปี 2493 ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบบเผด็จการ หนังสือพิมพ์ลดพื้นที่เสนอข่าวการเมือง โดยให้พื้นที่กับข่าวอาชญากรรม, ข่าวพฤติกรรมทางเพศ และข่าวบันเทิงแทน ขณะที่นิตยสารก็ให้พื้นที่กับนวนิยาย, เรื่องสั้น, สารคดีความรู้ ส่วน “สิ่งพิมพ์เรื่องเพศ” ก็เจอกับข้อถกเถียงว่าเป็น “อนาจาร” หรือ “วิชาการ” เช่น นิตยสาร รวมข่าวจักรวาลรายสัปดาห์ (เริ่มออกตั้งแต่ พ.ศ. 2513) เผชิญกับปัญหาลักษณะดังกล่าว จน พ.ศ. 2514 บรรณาธิการต้องประกาศยุติคอลัมน์ “วิทยาศาสตร์การแพทย์” ของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “หมอนพพร” (ชื่อจริง นพ.นวรัต ไกรฤกษ์ เสียชีวิตในปี 2555 ในวัย 95 ปี) ที่เนื้อหาเป็นความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา

ทว่า หมอนพพรและทีมงานจักรวาล รวบรวมบทความของเขาที่เผยแพร่ในจักรวาลตีพิมพ์เป็นหนังสือ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ฉบับหนุ่มสาว และคู่สมรส (ราวทศวรรษ 2510) นอกจากนี้ยังร่วมกับกลุ่มแพทย์อื่นออกนิตยสารรายเดือนระบบบอกรับสมาชิกชื่อ เพศศึกษาและปรัชญา (พ.ศ. 2515)

แต่ที่สร้างชื่อให้อย่างแท้จริงแก่หมอนพพรและวงการ คือคอลัมน์ตอบปัญหาเพศในหนังสือพิมพ์ที่ใช้ชื่อว่า “เสพสมบ่มิสม” (พ.ศ. 2519) ซึ่งเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องปกปิดอีกต่อไป ทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เก็บความจาก ณภัค เสรีรักษ์. “สิ่งพิมพ์เรื่องเพศในเชิงการแพทย์กับประวัติศาสตร์เพศวิถีไทย: ข้อสังเกตจากงานเขียนแนวเพศศึกษาในทศวรรษ 1960-70” ใน, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566