ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ |
เผยแพร่ |
ความตายมิใช่เป็นเพียงจุดสิ้นสุดของชีวิตโดยสมบูรณ์เท่านั้น แต่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพจากโลก
ที่อาศัยอยู่ หรือจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่ไปสู่อีกโลกหนึ่งหรืออีกสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยพิธีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพของศพ เช่น การปล่อยให้เน่าเปื่อย ให้นกกากินเหลือแต่กระดูก หรือการเผา (ปรานี วงษ์เทศ. สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์. 2543, น. 232.)
และตัวพิธีกรรมได้สร้างบทบาททางสถานภาพใหม่ให้กับผู้ตาย ที่แสดงการแบ่งแยกระหว่างคนตายและคนเป็น ดั่งมีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วว่า ผู้คนในอุษาคเนย์เชื่อว่าคนตายจะไปอยู่ในดินแดนบรรพบุรุษ เช่น ภาพสลักบนหน้ากลองมโหระทึกชิ้นหนึ่งแสดงการเดินทางของวิญญาณผู้ตายไปยังดินแดนบรรพบุรุษโดยทางเรือ บรรพบุรุษในดินแดนแห่งนี้คือพลังชีวิต หรือพลังที่ก่อให้เกิดความงอกงามบนพื้นโลก อาจติดต่อกับลูกหลานในโลกได้ด้วยผ่านพิธีกรรม และตราบเท่าที่ลูกหลานยังรักษาความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษไว้ พลังชีวิตก็จะหลั่งลงมาแก่ชีวิตและแผ่นดินของลูกหลานต่อไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์. “วัฒนธรรมสุวรรณภูมิในงานพระเมรุ,” ใน พระเมรุ ทำไม? มาจากไหน. 2441, น. 145.)
งานช่างของใช้ที่เกี่ยวเนื่องในพิธีกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับเรื่องความตาย ถือเป็นงานช่างที่สนองรับใช้ทั้งเชิงสัญญะด้านมิติทางวัฒนธรรมแห่งลัทธิความเชื่อและเรื่องประโยชน์การใช้สอย โดยทั้งหมดแสดงออกผ่านรูปรอยการออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะสถาปัตยกรรมทางศาสนา ด้วยรสนิยมตามสายสกุลช่างต่างๆ ซึ่งในดินแดนอีสานแห่งอดีตสมัยจักพบเห็นเจดีย์ หรือที่ภาษาปากในวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทยอีสานและ สปป.ลาวเรียกว่าธาตุ โดยมีรูปแบบในด้านเอกลักษณ์สำคัญที่เรียกว่าเจดีย์ หรือธาตุแบบทรงบัวเหลี่ยม ทรงลุ้งคว่ำ บ้างก็เรียกทรงโกศ หรือที่นักวิชาการฝั่งลาวเรียกว่าทรงหัวน้ำเต้า หรือยอดดวงปลี ทรงหมากปลีก็เรียก และในส่วนจินตนาการของชาวตะวันตกตีความ และเรียกธาตุทรงลักษณะนี้ว่าทรงเหยือกน้ำ
โดยรูปทรงดังกล่าวนี้ถือเป็นบทสรุปแห่งภาพตัวแทนกระแสหลักด้านเอกลักษณ์เชิงช่างรูปแบบประเภทชนิดต่างๆ ของเจดีย์หรือธาตุในกลุ่มวัฒนธรรมลาวโดยเฉพาะอีสาน บทความนี้มุ่งประเด็นการศึกษาถึงพัฒนาการรูปแบบทางกายภาพของธาตุสามัญชน ที่โดดเด่นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักที่เรียกว่าธาตุปูนถังน้ำ
ซึ่งในมุมมองผู้เขียนจากที่ได้ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบ สามารถอธิบายได้ว่าเป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องส่งต่อจากคตินิยมการสร้างอูบมุง ที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือรูปเคารพ (แม้แต่องค์พระธาตุพนมก็มีพัฒนาการมาจากอูบมุงดังที่ปรากฏในบันทึก) หรือที่ภาคกลางเรียกวิหารแกลบ หรือที่เก็บอัฐิธาตุทรงอูบมุง ดังที่พบอยู่ที่วัดบ้านนาซาว อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
และสุดท้ายคือรูปแบบของธาตุปูนของสามัญชนซึ่งเป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องมาจากหลักเสฝังธาตุ และธาตุไม้ ธาตุปูนของสามัญชน โดยทั้งหมดของศาสนศิลป์เหล่านี้ได้ผสานส่งต่ออิทธิพลให้กันและกัน ผ่านรูปแบบเชิงช่างแห่งสถาปัตยกรรม ทั้งขนาดรูปทรงและองค์ประกอบทั้งสามส่วนไตรภาคไม่ว่าจะเป็นส่วนฐาน ส่วนตัวเรือน และส่วนยอด
ในด้านประโยชน์ใช้สอย ธาตุปูนถังน้ำเป็นผลผลิตสร้างจากการผสานแนวคิดในเรื่องคติความเชื่อ
งานช่างหลังความตายในจารีตการสร้างธาตุ ที่คนเป็นสร้างให้ผู้วายชนม์ ผนวกกับสภาพแห่งข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อเกิดนวัตกรรมงานช่างที่มีประโยชน์ใช้สอยใหม่ที่ลงตัว ซึ่งสัมพันธ์ไปกับบริบททางสังคมด้านการพัฒนาการในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านวัสดุและการก่อสร้าง ที่ซึ่งวัสดุประเภทปูนได้เข้ามามีบทบาทแทนงานไม้ และแน่นอนว่าช่วงเวลาดังกล่าวช่างญวนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในพื้นที่การเมืองอีสาน
สอดรับกับข้อจำกัดการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตในทุกมิติ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตสร้างอยู่ตามพื้นที่สาธารณ์ทางจิตวิญญาณ ที่อยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนอย่างวัด ผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับธาตุปูนถังน้ำมีความน่าสนใจ กล่าวคือปกติก็เป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่าธาตุเหล่านี้ต้องถูกผลิตสร้างจากเครือญาติที่ใกล้ชิด เช่น ลูกหลานผู้วายชนม์ เป็นเจ้าศรัทธาว่าจ้างช่างมาผลิตสร้าง
แต่มีข้อมูลบางส่วนที่บอกเล่าถึงการสร้างโดยเจ้าศรัทธาที่ไม่ใช่กลุ่มเครือญาติกับผู้วายชนม์ เช่นกรณีของ วัดชัยสุนทร อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีจารึกที่ธาตุถังน้ำกลุ่มหนึ่งจารึกว่า สร้าง พ.ศ. 2491 พระปลัดภูริ พร้อมด้วยคณะสงฆ์และทายกทายิกาทั้งหลาย ได้มีศรัทธาพร้อมกันออกปัจจัยช่วยกันมาก่อสร้างไว้ในพระพุทธศาสนา ขอความสุขความเจริญทุกเมื่อ สิ้นเงินไป 1,650 บาท ซึ่งตีความได้ว่าอาจจะเป็นการสร้างมอบถวายแด่พระเถระรูปสำคัญซึ่งอาจหมายถึงอดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพรูปก่อนๆ หรือแรกเริ่มสร้างมีวัตถุประสงค์เพื่อไว้เป็นถังเก็บน้ำ เพื่อประโยชน์สาธารณ์ของวัดชุมชน และเมื่อบุคคสำคัญเหล่านั้นเสียชีวิตลงทางวัดก็ระลึกถึงคุณงามความดีจึงจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นที่เก็บอัฐิธาตุผู้วายชนม์ก็เป็นได้
น้ำ ในเชิงวัฒนธรรมเป็นสัญญะสำคัญที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสถานภาพในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างประเพณีที่มีน้ำเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับการตายได้แก่ การอาบน้ำศพ ที่ในอดีตนั้นอาบกันจริงๆ ซึ่งสืบคติการชำระล้างร่างกาย ที่ว่าตอนเกิดทำอย่างไรตอนตายก็ให้ทำอย่างนั้น หรืออย่างพิธีตีหม้อน้ำและหม้อไฟ ที่อธิบายเป็นปริศนาธรรมว่า หม้อน้ำได้แก่ธาตุดิน น้ำหมายถึงธาตุน้ำ คุมกันเข้าเป็นรูป เมื่อตีด้วยไม้ย่อมแยกสลายหมดฉันใด ชีวิตก็ฉันนั้น จะเหลืออยู่แต่หม้อไฟนำหน้าศพเป็นเครื่องให้คนพิจารณาให้เห็นธรรมสังเวช ถึงท้ายสุดเมื่อเผาศพเป็นเถ้าถ่าน ก็จะเลือกเก็บส่วนสำคัญ เช่น อัฐิศีรษะ แขน หรือลำตัว
โดยต้องชำระล้างด้วยน้ำสะอาดที่ปรุงพิเศษ เช่น ผสมเป็นน้ำมะกรูดหรือน้ำนมก่อนนำไปเก็บรักษาบูชาระลึกถึงตามประเพณี อย่างกรณีที่เผาในป่าช้า ชาวอีสานนิยมสร้างเสาหลักไม้เป็นสัญลักษณ์และเรียกหลักไม้นี้ว่าหลักเสฝังธาตุ บางแห่งเรียกหลักจูมกร เพื่อใช้เป็นเครื่องกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในการเก็บรักษาอัฐิ โดยส่วนมากนิยมรวมไว้ในหม้อดิน และฝังไว้ใต้ไม้หลักเสดังกล่าว จนเมื่อเปลี่ยนมาถือคติการเผาศพในวัด ก็ปรับเปลี่ยนการเก็บรักษาอัฐิเหล่านั้นไปไว้ตามธาตุไม้ ธาตุปูนหรือเจดีย์ที่สร้างอยู่ตามริมรั้วหรือบริเวณที่วัดนั้นๆ เห็นสมควร (ด้วยอีสานจะถือคติไม่นำอัฐิผู้วายชนม์เข้าบ้าน)
คติดังกล่าวนี้ถือเป็นการสืบต่อพิธีศพครั้งที่ 2 ในแง่ประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังในดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหินที่ทุ่งไหหินในลาว หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไปแต่ขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแบบ “แค็ปซูล” ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดีพบภาชนะใส่กระดูกที่ทำด้วยหินก็มี ทำด้วยหินเผาแกร่งก็มีปัจจุบันก็คือโกศ (สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิ. 2549, น. 63.)
โดยเถ้าถ่านกระดูกส่วนที่เหลือจะนำไปทิ้งแม่น้ำ ซึ่งสมมุติตามคติความเชื่อโบราณว่าเป็นแม่น้ำคงคา และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีเผาศพ ผู้ที่เข้าร่วมต้องล้างหน้าหรืออาบน้ำเสีย ประเพณีนี้เกี่ยวกับเรื่องปลดเปลื้องมลทินที่ไปเผาศพ เพื่อล้างจัญไรที่อาจติดมาให้สะอาดหมดจดกลับเป็นมงคลอีก ในอดีตตามชนบทเขาจะตักน้ำใส่ครุมาตั้งไว้หลายๆ ครุ สำหรับให้ผู้เข้าร่วมพิธีวักล้างหน้าล้างศีรษะ หรืออาบล้างร่างกายทั้งชุดผ้านุ่งโดยไม่มีการเปลี่ยนเสื้อผ้า (สรุปความจาก เสฐียรโกเศศ. ประเพณีเนื่องในการตาย. 2539, น. 139.) ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ใช้น้ำในประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับความตาย
ดังนั้น คติการทำธาตุปูนถังน้ำเท่าที่เหลือให้ศึกษาทั้งจากภาพถ่ายเอกสารอ้างอิง และสิ่งปลูกสร้างจริงที่พอสืบเสาะหาได้อาจสรุปในเบื้องต้นนี้ได้ว่า เป็นรสนิยมเฉพาะของคนท้องถิ่นที่ผสานส่งต่อให้กับกลุ่มสายสกุลช่างญวนในแถบเมืองกาฬสินธุ์ ที่ได้สร้างสรรค์จนกลายมาเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของลักษณะธาตุสามัญชน ดังที่ได้นำเสนอไว้ในเนื้อหา หรือจะเป็นแบบที่ใช้โอ่งน้ำขนาดใหญ่ประกอบสร้างร่วมกับธาตุปูนของผู้วายชนม์ อย่างที่พบที่วัดหนองบัว อำเภอกมลาไสย ส่วนเมืองมหาสารคาม ก็มีตัวอย่างอยู่ที่วัดอุดมวิทยา อำเภอเชียงยืน
ซึ่งทั้งหมดเป็นคติการสร้างธาตุในระดับชาวบ้านที่น่าสนใจ สะท้อนการผสานเชื่อมส่งต่อเป็นพลังชีวิตระหว่างโลกของคนเป็นและคนตาย เช่นการแก้ปัญหาเรื่องของปากท้องอย่างปัจจัยเรื่องน้ำในการดำรงชีพ ร่วมกับคติความเชื่อหลังความตาย ก่อเกิดเป็นรสนิยมความชอบในเชิงช่างเฉพาะถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนในห้วงเวลาหนึ่งๆ แห่งอดีตสมัยไทยอีสานบ้านเฮา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2560