ฝรั่งสงสัย คนไทยสมัยกรุงศรีฯ ถือ “ศีล 5” แบบเลี่ยงบาลี 

เกี้ยวผู้หญิง ผู้ชาย พูดคุย ศีล 5
ภาพประกอบเนื้อหา - ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

ฝรั่งสงสัย คนไทยสมัยกรุงศรีฯ ถือ “ศีล 5” แบบเลี่ยงบาลี 

ศีล 5” เป็นหนึ่งในคำสอนเบื้องต้นในศาสนาพุทธ ที่กำหนดว่า 1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ 2. งดเว้นจากการลักทรัพย์ 3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม 4. งดเว้นจากการพูดเท็จ 5. งดเว้นจากการเสพสุราเมรัยและของมึนเมา ปัจจุบันเราทำกันได้บ้างไม่ได้บ้างนั้น แล้วการถือศีลทั้ง 5 ข้อนี้ ในสมัยกรุงศรีเป็นอย่างไร

พระสังฆราชแห่งตาบรากา ประมุขมิสซังกรุงสยาม และมิชชันนารีอื่นๆ ที่เคยพำนักในกรุงศรีอยุธยา บันทึกเรื่องการถือศีล 5 และเรื่องอื่นๆ ที่พบเห็นไว้ ต่อมา ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง นักเขียนชาวฝรั่งเศส เรียบเรียงข้อมูลดังกล่าว เป็นหนังสือชื่อ Histoire du Royuame de Siam พิมพ์ครั้งแรกที่ปารีส เป็นภาษาฝรั่งเศส มีทั้งหมด 2 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2314

Advertisement
ภาพเขียน กรุงศรีอยุธยา
ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาโดยชาวตะวันตก

โดยเนื้อหาเกี่ยวกับ “ศีล 5” นั้น อยู่ในเล่มที่ 1 ซึ่งกรมศิลปากร มอบให้ ปอล ซาเวียร์ แปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม (กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, พิพม์ครั้งที่ 2, 2593) กล่าวไว้ว่า

“ชาวสยามยอมรับกฎสองอย่าง คือ อย่างแรกเรียกว่า Oessora (?) เป็นกฎธรรมชาติที่สรุปความว่าให้ทำดีและให้หนีชั่ว เขาเชื่อว่ากฎนี้จารึกอยู่ในใจมนุษย์ทุกคน และเป็นกฎที่อยู่ทั่วไป เหมือนดังพระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดกฎนี้ ดังนั้น ผู้ที่ละเมิดกฎดังกล่าว ก็แก้ตัวไม่ได้ว่าไม่รู้

ส่วนกฎที่เขียนไว้ คือ กฎที่พระสมณโคดมทรงมอบให้ไว้ เป็นกฎที่ถือยากและเข้มงวด แต่คนที่เชื่องมงายก็ยังหลีกเลี่ยงความเคร่งครัดของกฎนี้โดยตีความเอาตามใจชอบ

เช่นที่ ห้ามมิให้ฆ่าคนฆ่าสัตว์ และห้ามมิให้ฆ่าคนฆ่าสัตว์ และห้ามจนกระทั่งมิให้ฆ่าต้นพืชและเมล็ดพันธุ์ ถ้าเขาถือบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ก็จะกินได้แต่ผลเท่านั้น และยังจะต้องระวังไม่กินเมล็ดเข้าไปหรือทำให้เมล็ดนั้นแตก เพราะเท่ากับเป็นการทำลายเชื้อกำเนิดทั้งสิ้น

กฎอันเคร่งครัดนี้คงทำให้การดำรงชีวิตของเขาเป็นไปอย่างอึดอัดลำบากใจอยู่มาทีเดียว ดังนั้น เขาจึงยืนยันว่า คนที่มิได้ฆ่าสัตว์จะกินเนื้อของมันก็ได้ และคนที่มิได้เก็บผักและผลไม้ ก็กินได้โดยบาป เหตุผลที่เขาอ้างก็คือ เมื่อวิญญาณถูกขับออกจากร่าง การทำลายก็เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราแย้งเขาว่า ถ้าไม่มีคนกินเนื้อนายพรานก็จะไม่ไปฆ่าสัตว์เหล่านั้น เขาจะตอบว่า เมื่อเขาไม่ได้สั่งให้ฆ่า เขาก็ไม่มีส่วนในการฝ่าฝืนกฎ

…เนื่องจากปลาเป็นอาหารปกติของชาวสยาม การจับปลาจึงเป็นเรื่องที่เขาชอบมาก แต่เนื่องจากศาสนาห้ามมิให้ฆ่าไม่ว่าอะไรที่มีชีวิต เขาจึงหลีกเลี่ยงบัญญัติอันเข้มงวดนี้โดยกล่าวว่า เขาเพียงแต่เอาปลาขึ้นมาจากน้ำ ไม่ได้ทำให้เลือดมันออก แล้วเหตุผลนี้ก็เพียงพอที่จะขจัดความตะขิดตะขวงใจทุกอย่างของเขา แต่ถ้าผู้ใดถูกจับได้ว่าจับปลาในวันพระ ก็จะถูกตำหนิในฐานเป็นผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของวันพระ

เป็นการยากที่จะถือว่า ชาวสยามประพฤติตรงกับที่ศาสนาบัญญัติ ห้ามเกี่ยวกับความอุลามก บัญญัติของเขาเคร่งจนเกินไป ห้ามความสัมพันธ์ทางเพศทุกอย่างโดยไม่เลือก และตามหลักการของเขา การสมสู่ฉันสามีภรรยาก็เป็นความผิด [เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ถือศีล 8 ในวันนั้น-กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์]

แต่ถึงเขาจะเคร่งครัดในคำสั่งสอน เขากลับหย่อนยานในความประพฤติและทำแย้งกับที่เขาพูดเสมอ กล่าวคือ เขาถือว่าเป็นบาปก็เฉพาะการข่มขืนและการผิดประเวณี ซึ่งเขาลงโทษโดยวิธีการประจานให้เสียชื่อและด้วยการทรมาน กฎหมายปรานีไม่เคยเอาโทษการลักลอบสมสู่กัน ถ้าทั้งชายและหญิงเต็มใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่การทำลามกแบบผิดธรรมชาติ นั้นถูกลงโทษอย่างหนัก…

แม้ว่าโดยทั่วๆ ไปความประพฤติอย่างบริสุทธิ์ในเรื่องเพศตามฐานะของบุคคล (chastity) เป็นคุณธรรมที่ถือกันเป็นปรกติและดูถือได้ง่ายๆ แต่การพูดอย่างไม่ระวังปากย่อมกลายเป็นการพูดแบบตรงไปตรงมา ดังนั้นคำพูดที่ชนชาติอื่นถือว่าน่าขวยอายนั้น ชาวสยามกลับเห็นว่าไม่สกปรกและลามกแต่อย่างใด

บัญญัติที่ห้ามมิให้พูดปดนั้น ชาวสยามมิใคร่จะถือนัก ไม่มีประเทศไหนที่มีการพูดสองแง่สองง่าม และการพูดแบบให้ผู้ฟังตีความผิดไปได้ยิ่งกว่าในประเทศนี้ มโนธรรมของเขาลุ่มหลงและเสื่อมเสีย แล้วไม่กลัวที่จะใช้วิธีการที่ผิดเช่นนี้

เขาถือว่าการพูดปดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการติดต่อคบค้ากันในสังคม แม้ว่าศิลปะการบิดเบือนความจริงเป็นข้อเสียประจำชาติ แต่คำสบประมาทที่เจ็บแสบที่สุดก็คือ เรียกชาวสยามคนหนึ่งว่าเป็นคนขี้ปด

บัญญัติที่ห้ามมิให้เมาและมีให้ดื่มสุราแรงๆ นั้น ชาวสยามถืออย่างเลื่อมใสที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับการอบรมดี บรรดาเจ้าขุนมูลนายก็มีความตะขิดตะขวงใจที่จะดื่มเหล้าแม้กับยา ที่มักต้องกินปนกับเหล้าในประเทศร้อนเหล่านี้อยู่บ่อยๆ เจ้าหน้าที่ในพระราชวังเป็นคนเคร่งครัดที่สุด ที่จะไม่ฝ่าฝืนการอดเหล้านี้ ใครได้กลิ่นหายใจก็รู้ว่าเขากินเหล้า และถ้ามีหลักฐานว่าเขาดื่มเหล้า ก็จะถูกพระเจ้าแผ่นดินลงพระอาญาอย่างหนักและลดตำแหน่ง เพราะเชื่อได้แน่ว่าคนที่เมาย่อมปล่อยตัวประกอบอาชญากรรมได้ทุกอย่าง

ศาสนาของสยามเคร่งครัดในคำสั่งสอนมาก ก็ย่อมทำให้มีคนทำผิดมาก เขาเชื่อว่าคุณธรรมที่เคร่งครัดและดีพร้อมนั้นมิได้กำหนดไว้ให้สามัญชนถือ และบรรดาพระภิกษุเท่านั้นต้องมุ่งบรรลุถึงความดีพร้อม ประชาชนมอบให้พระภิกษุทำหน้าที่ทำการใช้โทษ อีกทั้งชดใช้ความผิดและบาปที่เขาทำด้วยการถือเคร่งครัดและทรมานตน 

และก็เพื่อให้พระภิกษุทํำกิจปฏิบัติ ศรัทธาเหล่านี้เอง ที่ประชาชนนำของมาถวายวัด นำผลิตผลที่เกิดจากดิน และน้ำพักน้ำแรงที่เกิดจากงานของเขามาถวายพระ” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ภาพโคลงภาพ “สร้างกรุงศรีอยุธยา” เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2566