คนแพ้แป้งสาลีเศร้า: “วาติกัน” สั่งแบน “ขนมปังปลอดกลูเตน” ในพิธีศีลมหาสนิท

ชาวคริสต์รับแผ่นปังจากบาทหลวงในพิธีศีลมหาสนิทที่โบสถ์เซนต์แมรี ในเมือง Secunderabad ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2016 (AFP PHOTO / NOAH SEELAM)

ในเหตุการณ์อาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูทรงร่วมรับประทานอาหารกับสาวกทั้ง 12 โดยพระองค์ได้ส่งขนมปัง และไวน์ให้แก่บรรดาสาวก พร้อมกล่าวว่า ขนมปังเหล่านี้เป็นเครื่องแทนกายของพระองค์ ส่วนไวน์ก็เป็นสัญลักษณ์แทนโลหิตของพระองค์เอง

เหตุการณ์นี้กลายเป็นที่มาของพิธีรับศีลมหาสนิทของชาวคาทอลิก ซึ่งมี “ไวน์” และ “ขนมปัง” (แผ่นปัง) เป็นองค์ประกอบสำคัญของพิธี แสดงถึงการได้ร่วมสนิทกับพระผู้เป็นเจ้าด้วยการรับประทาน “กาย” และ “โลหิต” ของพระองค์ พิธีนี้จึงถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวคาทอลิก

Advertisement

แต่ในขนมปังทั่วไปซึ่งทำมาจากแป้งสาลีนั้นมีสารประกอบกลุ่มโปรตีนที่เรียกกันว่า “กลูเตน” (gluten) รวมอยู่ด้วย สารตัวนี้มิได้เป็นอันตรายต่อคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนที่แพ้กลูเตนแล้ว (coeliac) การกินขนมปังที่ทำจากแป้งสาลีทั่วไปอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ แม้โดยทั่วไปจะมิได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ตาม

อย่างไรก็ดี ทางศาสนจักรวาติกัน องค์กรปกครองชาวคริสต์นิกายคาทอลิกได้ออกจดหมายเวียนไปยังบรรดามุขนายก (diocesan bishop) เพื่อย้ำเตือนให้คณะสงฆ์เข้มงวดกับการใช้ขนมปัง ในการประกอบพิธีรับศีลมหาสนิทว่าจะต้องทำมาจากแป้งสาลีบริสุทธิ์เท่านั้น การใช้แป้งชนิดอื่นเพื่อให้คนแพ้กลูเตนรับประทานได้ด้วยจึงถือเป็นขัดต่อกฎเกณฑ์ของศาสนจักร

จดหมายเวียนหมายเลขอ้างอิงที่ 320/17 ได้อ้างกฎเกณฑ์ซึ่งมีการประมวลจากเอกสารหลายชิ้น โดยข้อความที่เกี่ยวข้องกับการใช้ขนมปังมีความตอนหนึ่งระบุว่า

“ขนมปังที่ใช้ในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทจะต้องไม่มีการหมัก [ใช้เชื้อยีสต์เพื่อให้ขึ้นฟู] ทำมาจากแป้งสาลีบริสุทธิ์ที่มีความสดใหม่เพื่อให้ปลอดอันตรายจากการเน่าเสีย ตามหลักการนี้หากขนมปังนั้นทำขึ้นจากวัตถุดิบอื่น ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดธัญพืช หรือสารอื่นใดนอกเหนือไปจากแป้งสาลี ถึงขนาดไม่อาจนับได้ว่าเป็นขนมปังสาลีแล้ว ขนมปังนั้นย่อมขาดซึ่งสารที่ถูกต้องในการประกอบพิธีบูชาศีลมหาสนิทอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง การนำสารอื่นเข้ามาเจือปนในขนมปังที่ใช้ในพิธีศีลมหาสนิทนับเป็นการทุจริตใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลไม้, น้ำตาล หรือน้ำผึ้ง…”

ในส่วนของการใช้ขนมปัง “ปลอดกลูเตน” นั้น ทางวาติกันกล่าวว่า แป้งที่ปลอดกลูเตนโดยสิ้นเชิง ไม่นับเป็นสารที่ถูกต้องสำหรับใช้ฉลองศีลมหาสนิท ส่วนแป้งกลูเตนต่ำ (ใช้แป้งปลอดกลูเตนผสมเป็นบางส่วน) ซึ่งมีกลูเตนเพียงพอสำหรับการทำขนมปังโดยไม่ต้องใช้สารแปลกปลอมอื่นเป็นตัวเสริม และไม่จำเป็นต้องใช้กรรมวิธีที่ผิดธรรมชาติในการทำขนมปัง นับเป็นสารที่ถูกต้อง”

คำประกาศดังกล่าวย่อมทำให้ชาวคาทอลิกหลายคนที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพ (และมีอาการแพ้รุนแรง) ไม่อาจมีส่วนร่วมกับพิธีกรรมสำคัญดังกล่าวได้

ขณะที่ เอริน ไอแซค (Eryn Isaac) นักกิจกรรมศาสนารุ่นเยาว์ในแคนาดาซึ่งมีอาการแพ้กลูเตนเช่นกัน กล่าวกับ CBC สำนักข่าวในแคนาดาว่า มาตรการดังกล่าว แสดงถึงคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ “การรักษาจารีต” ซึ่งทำให้ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมีความยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

“ฉันคิดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้ศาสนจักรคาทอลิกยังคงอยู่ได้ยาวนานถึงขนาดนี้ เพราะว่าศาสนจักรรักษาจารีตของตนเอาไว้ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตามได้ยาก แต่ฉันคิดว่าพวกเขาต้องการที่รักษาความเข้มแข็งเอาไว้ในสังคมที่ค่อนข้างอลหม่านอย่างนี้”


หมายเหตุ: การใช้คำว่า “แพ้แป้งสาลี” เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ เนื่องจากแป้งสาลีเป็นแป้งที่มี “กลูเตน” ซึ่งมีความแพร่หลายสูงสุด อย่างไรก็ดี สารที่คนแพ้จริงๆ คือ “กลูเตน” มิได้มีอยู่แค่เพียงในแป้งสาลีเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในธัญพืชอื่นอีกหลายชนิด


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560