หลงลับแลและหลินลับแล ทุเรียนดีอุตรดิตถ์ คนกินหลงใหลในรสชาติ

(ซ้าย) เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่าย, (ขวาบน) เนื้อทุเรียนหลินลับแล, (ขวาล่าง) เนื้อทุเรียนหลงลับแล

เมื่อก่อนยามทุเรียนสุกแก่ ชาวสวนจะนำตาข่ายไปขวางตามทางลาดชันของพื้นที่ไว้ เช้าๆ ก็ไปเก็บ

ทุเรียนที่ร่วงลงมาติดตาข่าย ผลผลิตที่สุกลงมาจากต้น เมื่อกระทบกับพื้นดิน ทำให้เนื้อทุเรียนมีอาการเละ ประกอบกับเป็นพันธุ์พื้นเมืองเมล็ดโต คนจากที่อื่นจะกล่าวถึงทุเรียนอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า “ทุเรียนเป็นปลาร้า มีแต่เมล็ด” ด้วยเหตุนี้เอง ราคาของทุเรียนลับแลจึงไม่กระเตื้อง ครั้นเกษตรกรจะหันไปประกอบอาชีพอื่นอย่างการทำนาก็ทำไม่ได้ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตภูเขา บางตำบลสูงชันเอามากๆ

มีการบันทึกไว้ว่า หลวงพิบูล เจ้าเมืองลับแล นำทุเรียนและลางสาดเข้าไปปลูกที่ลับแลเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว เขตอำเภอลับแล ถือว่าอากาศมีลักษณะพิเศษจริงๆ เพราะถึงแม้จะอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีภูเขาสูง แต่อากาศไม่เย็นมาก จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน

เนื่องจากพื้นที่ราบมีน้อย ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการทำนาปลูกข้าว เพราะเป็นอาหารหลัก จึงนำที่ราบมาทำนา ซึ่งก็ทำสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนไม้ผลอย่างลางสาดและทุเรียน เมื่อก่อนไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่ากับข้าว ชาวบ้านจะใช้พื้นที่เนินปลูกไม้ผล แต่นานๆ เข้า ที่เนินหมดไปก็ขยับไปบนภูเขา นานเข้าปลูกกันทั้งลูก เมื่อผ่านไปแถวนั้น ต้นทุเรียนขึ้นผสมผสานกับไม้ป่า มีความรู้สึกว่า บริเวณที่ทุเรียนขึ้นอยู่เป็นป่าธรรมชาติ

งานปลูกทุเรียนและลางสาดของชาวลับแล แรกๆ ก็ปลูกตามหัวบันไดบ้าน โดยใช้จอบเสียมขุดหลุมแล้วฝังเมล็ดลงไป แต่นานเข้าพื้นที่ปลูกเต็มไปด้วยต้นไม้ผล ชาวบ้านใช้วิธีกินเนื้อของผลไม้ แล้วก็ขว้างออกจากประตูบ้าน จากหน้าต่าง

มีอีกวิธีการหนึ่ง ที่ทำให้เมล็ดเดินทางได้ไกลๆ คือการใช้คันสูน ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ธนูและหน้าไม้ ยิงเมล็ดทุเรียนและลางสาด ให้เดินทางไปยังจุดที่ต้องการ ด้วยเหตุที่กล่าวมา สวนของคนลับแลจึงผสมปนเป ไม่เป็นแถว

ส่วนการดูแลรักษาก็ตามอัตภาพ เมล็ดของทุเรียนที่ถูกขว้างหรือยิงออกไป ๑๐๐ เมล็ด หากต้นไหนงอกออกมา ก็ถือว่าเก่งแล้ว ยิ่งยืนหยัดอยู่ได้ออกดอกมีผลให้กับเจ้าของ ถือว่าเป็นฮีโร่ เหมาะที่จะเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป

ถึงแม้ทุเรียนและลางสาดอุตรดิตถ์ ไม่ได้อร่อยเลิศล้ำในยุค ๕๐-๖๐ ปีที่แล้ว แต่พืชผลของที่นี่ก็มีชื่อเสียง ทั้งนี้เพราะผลผลิตที่มีอยู่ ได้ตอบสนองคนบริเวณใกล้เคียง ซึ่งผลผลิตจากถิ่นอื่นเดินทางเข้าไม่ถึง เกษตรกรผู้ปลูกก็ยินดีทำเป็นอาชีพมาต่อเนื่องและยาวนาน

เมื่อก่อนในตำราเรียน เคยท่องกันว่า มีอะไรอยู่ที่ไหน เช่น ส้มโอนครชัยศรี นครปฐม ลางสาดอุตรดิตถ์

ชาวลับแล ปลูกลางสาดและทุเรียนด้วยเมล็ด หลักการก็ง่ายๆ หากต้นไหนอร่อย เนื้อหนา ผลโตก็นำเมล็ดมาปลูกต่อ แต่ตามหลักเกษตรศาสตร์แล้ว ทุเรียนที่ปลูกด้วยเมล็ดจะมีการกลายพันธุ์ แตกต่างไปจากต้นเดิม ทุเรียนที่ลับแลหลายหมื่นไร่ จำนวนหลายแสนต้น จึงมีความแตกต่าง มีหน้าตาไม่เหมือนกัน

อยู่มาช่วงหนึ่ง นักเกษตรได้เล็งเห็นว่า ทุเรียนที่ลับแล เป็นทุเรียนป่า มีความแข็งแรง อึด หากินเก่ง ผลผลิตดก แต่การซื้อขายราคาไม่ดี น่าจะนำทุเรียนยอดนิยมแห่งยุค อย่างชะนีและหมอนทองเข้าไปเปลี่ยนยอดให้ การดำเนินการเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะชาวบ้านไม่มีความเข้าใจ หลังเสียบยอดได้ ๔-๕ ปี ทุเรียนหมอนทองจากนนทบุรี ออกมาเป็นหมอนทองลับแล ถึงแม้รสชาติสู้นนทบุรีไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าทุเรียนพื้นเมืองหลายเท่าตัว

ขณะที่นักเกษตรจากภายนอก เข้าไปศึกษาทุเรียนในเขตอำเภอลับแล นักเกษตรหัวก้าวหน้าพยายามค้นหาจุดเด่นในท้องถิ่น โดยการเลือกเฟ้นทุเรียนประจำถิ่น ซึ่งมีความเชื่อว่า ทุเรียนที่ปลูกด้วยเมล็ดเป็นแสนเป็นล้านต้นน่าจะมีดีๆ เป็นหนึ่งในแสน หรือหนึ่งในล้าน ดังนั้นจึงมีการจัดประกวดทุเรียนลับแลขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็พอรู้ว่าต้นไหนเป็นอย่างไร

เมื่อปี ๒๕๒๐ มีการป่าวประกาศไปทั่วอำเภอลับแลว่า ใครมีทุเรียนดีให้นำมาประกวด ดูๆ ไปก็คล้ายกับประกวดนาวสาวไทย การประกวดครั้งนั้น มีชาวสวนส่งทุเรียนของตนเองเข้าประกวดหลายร้อยตัวอย่าง ทุเรียนชนะการประกวดครั้งนั้น คือทุเรียนของ นายลม นางหลง อุปละ อยู่บ้านเลขที่ ๑๒๖ หมู่ ๑ บ้านนาปอย เขตเทศบาลหัวดง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ทุเรียนขึ้นอยู่ที่สวน บ้านม่อนน้ำจำ หมู่ ๗ ตำบลผามูบ อำเภอลับแล ในการประกวดครั้งนั้น มีทุเรียนพันธุ์โดดเด่น ไม่ได้รางวัลที่ ๑ แต่ได้รางวัลขวัญใจกรรมการและนักชิม คือทุเรียนของ นายหลิน ปันลาด อยู่บ้านเลขที่ ๑๒๖ หมู่ ๗ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล

เพราะความโดดเด่นของทุเรียนที่เจ้าของชื่อ นายลม นางหลง อุปละ คณะกรรมการจึงได้รับรองพันธุ์ทุเรียน เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๑ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ คณะรรมการประกอบด้วย นายเลอเดชเจษฎาฉัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธาน ศ.ดร. บรรเจิด คติการ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นรองประธาน

กรรมการประกอบด้วย นายพิศิษฐ์ ศศิผลิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายอารี แก้วงาม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร นายสมบัติ วงศ์พรหมเมฆ ผู้อำนวยการกองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และ นายฟุ้ง ศศิสนธ์ อดีตผู้อำนวยการกองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร ตามที่ได้เขียนแนะนำมา ตำแหน่งทุกท่านเป็นอดีตไปหมดแล้ว

นอกจากรับรองพันธุ์ ยังมีการตั้งชื่อทุเรียนของนายลมและนางหลง ว่า “หลงลับแล”

ส่วนทุเรียนของนายหลิน เดิมตั้งเป็น “ผามูบ ๑” แต่ต่อมาดังกระหึ่มในนาม “หลินลับแล”

ทุเรียนหลงลับแล จัดเป็นทุเรียนที่มีเชื้อทุเรียนป่า มีความแข็งแรง ข้อแตกต่างจากทุเรียนทั่วไป อยู่ตรงที่ เนื้อมากสีเหลืองสวย เมล็ดลีบต่อผลสูง ชื่อเดิมอีกชื่อหนึ่งของเขาคือ “อีเหลืองหัวห้วย” เนื้อละเอียด รสชาติหวาน น้ำหนักเฉลี่ย ๑.๕ กิโล กรัมต่อผล ผลทรงกลม

ส่วนทุเรียนหลินลับแล นายหลินได้ปลูกด้วยเมล็ดตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ผลมีน้ำหนัก ๑-๑.๘ กิโลกรัม ผลทรงกระบอก เนื้อละเอียดมาก สีเหลืองอ่อน เปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบมีมาก บางผลลีบถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงจำนวนเนื้อที่กินได้มีมากขึ้น

พัฒนาการทุเรียนของอำเภอลับแล มีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ผู้ที่มีส่วนสร้างประวัติศาสตร์งานพัฒนาทุเรียนลับแลคือ ลุงบุญ เกิดทุ่งยั้ง และ ลุงเมือง แสนศรี

ลุงบุญ ปัจจุบันอายุ ๗๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๗๓/๑ หมู่ ๗ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ลุงบุญเกิดที่ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เดิมคุณลุงเป็นคน “แซ่น้า” เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.๑ สมัยก่อน ปัจจุบันคือ ป.๕ เตี่ยของลุงบุญได้ให้ลูกชายไปเรียนภาษาจีนต่อที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นเวลา ๕ ปีด้วยกัน

“ช่วงนั้นเขานิยมภาษาจีนกัน ไปเรียนมา ไม่ได้ทำอะไร ตอนนี้ลืมหมดแล้ว ผมมาแต่งงานกับแม่บ้านที่นี่ เมื่ออายุ ๑๙ ปี เห็นบ้านภรรยาเขามีทุเรียนต้นขนาดใหญ่เท่าคุถังแล้ว ผมช่วยเขาทำสวนทุเรียน ขณะเดียวกันก็รับถ่ายรูปตามที่ต่างๆ ทั้งถ่าย ล้าง และอัด ต่อมาก็หยุดมาทำสวนอย่างจริงจัง” ลุงบุญเล่า

(ซ้าย) ลุงบุญ เกิดทุ่งยั้ง ซ้ายมือของลุงคือทุเรียนหลงลับแล ขวามือคือทุเรียนหลินลับแล, (ขวา) อายุ ๗๙ ปีแล้ว ยังแข็งแรง

ลุงบอกว่า งานทำสวนสมัยเก่าก่อน ต่างจากสมัยนี้พอสมควร สมัยก่อน ราคาผลผลิตถูกมาก ขาย ๑๐ ลูก ๑๘ บาท ต้องใส่จักรยานไปขายที่ตลาด บางช่วงต้องมีคนคอยดันท้ายรถ เพราะหนทางแฉะมาก มีแต่น้ำ ภูเขาสูงชัน ถึงแม้ราคาผลผลิตไม่ดี แต่ครอบครัวลุงบุญไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นได้ เนื่องจากที่ดินไม่เหมาะสม จริงๆ แล้ว ลุงบุญรู้จักทุเรียนของนายลมและนางหลงดี ในนามอีเหลืองหัวห้วย เพราะคุณสมบัติของเขาเนื้อสีเหลือง ขึ้นอยู่ส่วนบนสุดของสวน ลุงเคยซื้อมากิน ๒ ผล ราคาผลละ ๖ บาท

หลังจากมีผลการประกวดทุเรียน อาจารย์สนั่น ขำเลิศ ผู้ค้นพบมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ ๔ และ นายเกรียงไกร คะนองเดชาชาติ เกษตรอำเภอลับแล ตำแหน่งสุดท้ายคือรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งอาจารย์สนั่นและนายเกรียงไกรแวะไปชวนลุงบุญให้ไปตัดยอดทุเรียนหลงลับแล ลุงบุญขณะนั้นยังหนุ่มแน่นอยู่ ปีนขึ้นไปตัดยอดทุเรียนมาจำนวน ๑ ถุง เมื่อได้จึงนำมาเสียบกับต้นตอ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอลับแล การเสียบครั้งนั้นถือว่าเป็นการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศครั้งแรก ซึ่งจะไม่มีการ กลายพันธุ์ หลงลับแลเป็นอย่างไรเมื่อ
มีผลผลิตออกมาก็เป็นอย่างนั้น การขยายพันธุ์ครั้งนั้นเป็นฝีมือของอาจารย์สนั่น

ลุงบุญได้ต้นเสียบยอดมาจำนวนหนึ่ง เมื่อเลี้ยงแข็งแรงดี ลุงรีบนำต้นที่ได้ไปทาบกับทุเรียนพื้นเมืองในสวน ราว ๓-๔ ปี จึงมีผลผลิตออกมา

อยู่มาวันหนึ่ง ลุงเมือง แสนศรี แวะเวียนมาเยี่ยมลุงบุญ

“มีทุเรียนดีๆ กินหรือยัง…” ลุงบุญทักทาย

“มีเยอะแยะ…” ลุงเมืองตอบ

ลุงบุญให้ทุเรียนหลงลับแลลุงเมืองชิม ปรากฏว่า ลุงเมืองติดใจ จึงขอยอดไปเสียบและขยายพันธุ์เป็น
การใหญ่ ถือว่า ผู้ที่เริ่มผลิตทุเรียนหลงลับแลเป็นการค้าจริงจังคือลุงบุญและลุงเมือง นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยเข้าไปคุยกับลุงทั้งสองตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เทคโนโลยีชาวบ้านแวะไปอีก ปรากฏว่าเหลือแต่ลุงบุญ ส่วนลุงเมืองไปปลูกทุเรียนต่อที่เมืองสวรรค์แล้ว

ลุงบุญบอกว่า เมื่อทุเรียนหลงลับแลมีผลผลิต ตนเองได้นำไปให้คนอื่นชิม ปรากฏว่าติดใจ จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายที่ตลาด พร้อมๆ กับทุเรียนหลินลับแล ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น เมื่อปี ๒๕๓๔ ทุเรียนหมอนทองที่ลับแลขายกิโลกรัมละ ๒๕ บาท ทุเรียนหลงลับแลขายได้ ๓๐ บาท

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว…ปี ๒๕๕๕ ทุเรียนหมอนทองที่ลับแลขายจากสวนได้กิโลกรัมละ ๓๕ บาท ทุเรียนหลงลับแลขายได้ ๖๐-๗๐ บาท ทุเรียนหลินลับแลขายได้ ๘๐-๑๐๐ บาท หากของมีน้อย อาจจะขายได้กิโลกรัมละ ๑๒๐ บาท เมื่อถึงคนกินในกรุงเทพฯ อาจจะตก ๒๐๐ บาทต่อกิโลกรัม

“ดีใจมากทุเรียนของเรา เมื่อก่อนเขาบอกว่าทุเรียนของเรามีแต่เมล็ด เป็นทุเรียนปลาร้า เมื่อมีทุเรียนสองพันธุ์ขึ้นมา แก้ไขได้ ทำให้ชาวบ้านขายของได้ ทุเรียนพันธุ์อื่นก็ขายดีอย่างหมอนทอง ชะนี…หลงลับแลมีคนนำไปปลูกที่อื่น ผลโตขึ้น แต่เนื้อแห้งสู้ที่ลับแลไม่ได้ เพราะว่าลับแลเป็นเขา” ลุงบุญบอก

ลุงบุญบอกว่า ตนเองมีทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลราว ๓๐๐ ต้น ผลผลิตแต่ละปีราว ๔,๐๐๐ ผล แต่ปีนี้ พายุพัดโค่นล้มไป ๗๐ ต้น ผลผลิตคงลดลงบ้าง

คุณทินกร เกิดทุ่งยั้ง บุตรชายลุงบุญบอกว่า ตนเองได้สานต่องานจากเตี่ย งานปลูกทุเรียนที่ลับแลคงยั่งยืน อย่างทุเรียนหลงลับแล เป็นทุเรียนป่า อายุของต้นอยู่ได้เป็น ๑๐๐ ปี ปัจจัยการผลิตก็ใช้น้อย น้ำไม่ต้องรด ปุ๋ยใส่ให้นิดหน่อย ถือเป็นผลผลิตที่ปลอดสารพิษ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ทุกวันนี้ ลับแล ยังคงน่าเดินทางไปท่องเที่ยว ที่นั่นมีตลาดกลางทุเรียน ให้ผู้สนใจซื้อหาไปขายต่อ หรือให้ซื้อชิม ทั้งทุเรียนพันธุ์ดีและทุเรียนพื้นเมือง ส่วนลางสาดก็มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกเป็นลองกองจำนวนมาก คุณภาพนั้นเยี่ยมยอดเช่นกัน