“คาปิบารา” ชอบกิน “อึ” เรื่องน่ารักของเจ้าตัวขน ที่คุณ (อาจ) ไม่รู้มาก่อน!

คาปิบารา
คาปิบารา

หลายคนอาจรู้จัก “คาปิบารา” ในฐานะสัตว์โลกน่ารักที่แสนเป็นมิตร ไม่ว่าจะกับจระเข้ แมว หรือสัตว์อื่น ๆ มากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าในความน่ารัก เจ้าสัตว์ขนยาวสีน้ำตาลตัวนี้ชอบกิน “อึ” ของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ!

คาปิบารา (capybara) เป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่อาณานิคมไอบีเรีย (สเปนและโปรตุเกส) ค้นพบขณะสำรวจพื้นที่อเมริกาใต้ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 พวกเขาเจอสัตว์ไม่คุ้นตามากมาย หนึ่งในนั้นคือคาปิบารา และให้คำอธิบายเจ้าคาปิบาราไว้ว่า “หมูชนิดหนึ่ง”

เมื่อไม่คุ้นเคย พวกเขาจึงยังไม่มีชื่อเรียกเฉพาะให้สัตว์ตัวนี้ แต่เรียกตามคนท้องถิ่น โดยคนโปรตุเกสเรียกว่า capijuara (คาปิฮัวรา) ส่วนคนสเปนเรียกว่า capiyûára (คาปิวารา) มาจากชื่อเดิมของมันซึ่งมีที่มาจากภาษาทูปิ (Tupi) หรือภาษาท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเจ้าคาปิบารา โดยคำว่า “คาปิบารา” มีรากฐานมาจากคำว่า ka’pii ที่แปลว่าหญ้า และ gwara ที่แปลว่านักกิน

คาปิบารามีความยาว 50-130 เซนติเมตร มีน้ำหนักราว 25-80 กิโลกรัม พวกมันชื่นชอบการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทั้งยังชื่นชอบน้ำเป็นพิเศษ ที่อยู่อาศัยของมันจึงมักอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ทำให้ได้ฉายาว่าเป็น “เจ้าหมูน้ำ” เพราะคาปิบาราว่ายน้ำท่าทางคล้ายหมู

คาปิบาราเป็นสัตว์กินพืช อาหารที่เหล่าหนูยักษ์ยังชีพจึงล้วนเป็นพืชน้ำ หญ้า เปลือกไม้ อ้อยหรือรากพืชต่าง ๆ ขณะเดียวกันอาหารเหล่านี้นี่แหละที่เป็นเหตุให้เจ้าคาปิบาราต้องกิน “อึ” ตัวเอง

เหตุผลที่คาปิบาราต้องกินอึ ก็เพราะระบบย่อยอาหารของมันไม่สามารถย่อยพืชได้ดีเท่าไหร่ คาปิบาราจึงต้องกินอึของตัวเองเข้าไป เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างเต็มที่ เนื่องจากอึมีแบคทีเรียมากมายที่ตัวมันต้องการนั่นเอง

เช่นที่ อลิซาเบธ คองดอน (Elizabeth Congdon) นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบทูน คุกแมน ผู้สนใจและศึกษาเรื่องคาปิบารา ได้อธิบายถึงพฤติกรรมแปลก ๆ ของเหล่าคาปิบาราไว้ว่า

“…พฤติกรรมการกินมูลสัตว์เป็นอาหาร…คือกลไกในการรับสารอาหารทั้งหมด แต่ว่าสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถย่อยอาหารจำพวกหญ้าได้ดีนัก ดังนั้นเพื่อให้ได้รับสารอาหารสูงสุด พวกมันจึงต้องกินเข้าไปซ้ำสอง”

พฤติกรรมดังกล่าวอาจเกินความคาดหมายของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์โลกน่ารักอย่างคาปิบาราไปสักหน่อย แต่ก็เป็นกลไกในการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด และอึของคาปิบาราก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อตัวมันแต่อย่างใด แถมยังมีประโยชน์หลายอย่างอีกต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Rachel Becker. “Capybaras are cute, even though they eat their own poop.” Access February 27, 2023. https://www.theverge.com/…/capybara-florida-invasive…

National Geographic. “Capybara.” Access February 27, 2023. https://www.nationalgeographic.com/…/facts/cabybara-facts.

Emmanuel Kingsley. “Capybara Poop: Everything You’ve Ever Wanted to Know.” Access February 27, 2023. https://a-z-animals.com/…/capybara-poop-everything…/.

Taxonomy, Natural History and Distribution of the Capybara

José Roberto Moreira,Katia Maria P.M.B. Ferraz, Emilio A. Herrera, and David W. Macdonald. Capybara

Biology, Use and Conservation of an Exceptional Neotropical Species. Springer: New York, 2013.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566