โอลด์ แลง ซายน์ เพลงที่หลายชาติเอาไปร้องมากเป็นอันดับ 2 รองจาก แฮปปี้ เบิร์ธเดย์

โรเบริต์ เบิร์นส์ ศิลปินชาวสกอต ผู้แต่งเนื้อร้องเพลง โอลด์ แลง ซายน์

โอลด์ แลง ซายน์ (Auld Lang Syne) เป็นของสกอตแลนด์ ที่มีอายุกว่า 200 ปี ผู้แต่งเนื้อร้องของเพลงนี้เป็นศิลปินแห่งชาติสกอตชื่อ โรเบิร์ต  เบิร์นส์ (ค.ศ. 1759-1796) ด้วยนิสัยรักการอ่านและความเป็นศิลปิน เบิร์นส์ยังเก็บรวบรวมเพลง, นิทานเก่าแก่ของสกอตที่กระจัดกระจาย บันทึกเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

โอลด์ แลง ซายน์ ได้รับความนิยมไปทั่วโลก นับเป็นเพลงอันดับที่ 2 รองจากเพลง แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ ที่ชาติต่างๆ นิยมนำไปใช้

ประเทศไทย เจ้าพระยาสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล พ.ศ. 2410-2459) นักการศึกษาคนสำคัญ นำทำนองเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” มาใส่เนื้อร้องภาษาไทย แล้วตั้งชื่อเพลงว่า “สามัคคีชุมนุม” ที่มีท่อนฮุคติดหูว่า “อันความกลมเกลียว กันเป็นใจเดียว ประเสริฐศรี  ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ ด้วยสามัคคี” โอลด์ แลง ซายน์ จึงรู้จักดีในฐานะ “เพลงกีฬาสี” หลังจากแข่งขันชิงชัยกัน ถึงวันจบงานทุกสีก็จะร้องเพลงนี้เป็นเพลงอำลา

สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) ในค่ำคืนเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ ไทม์สแควร์ นิวยอร์ก วงดนตรีบิ๊กแบนด์ของ กาย ลอมบาร์โด เล่นเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” เวลาเที่ยงคืน เพื่อเป็นสัญญาณให้วงดนตรีอื่นมารับช่วงต่อ ขณะประชาชนที่มาร่วมงานกลับแสดงความชื่นชอบอย่างล้นหลาม กลายเป็นธรรมเนียมของวงดนตรีของลอมบาร์โด ที่จะเล่นเพลงนี้ทุกปีในเวลาเที่ยงคืน แม้เมื่อลอมบาร์โดจากไปแล้ว ปีใหม่ทุกปีที่ไทม์สแควร์ก็ยังเปิดเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” ของวงลอมบาร์โดที่บันทึกเอาไว้

จีน มีการนำทำนองเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” มาใส่เนื้อภาษาจีน ใช้ชื่อเพลงว่า “友谊地久天长-โหยวอี้ตี้จิ่วเทียนซาง” ที่สื่อถึงมิตรภาพที่ยั่งยืนยาวนาน นักเรียนจีนใช้ร้องกันในหลายวาระ รวมทั้งร้องไห้ให้กับเพื่อนที่จากไปด้วย

ญี่ปุ่น ทำนองเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” ใส่เนื้อร้องภาษาญี่ปุ่น บอกเล่าความทุกข์ของชีวิตนักเรียน-นักศึกษา ตั้งชื่อว่าเพลง Hotaru no hikari (蛍の光) ที่แปลว่า “แสงแห่งหิ่งห้อย”

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในอดีตเคยใช้ทำนองเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” มาใส่เนื้อเพลงใหม่ เพื่อทำเป็นเพลงชาติ มีเนื้อหาปลุกความรักชาติ โดยเนื้อเพลงท่อนแรกว่า “ซาดลาวตั้งแต่เดิมมา ขึ้นซื่อลือซาอยู่ในอาซี ซาวลาวผูกพันไมตรี ฮ่วมสมักคีฮักห่อโฮมกัน…”

นอกจากนี้ ประเทศเกาหลี (ก่อนแยกเป็นเกาหลีเหนือ-ใต้) และ มัลดีฟส์ “เพลงชาติ” ในอดีตของเขาก็ใช้ทำนองเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” มาใส่เนื้อร้องใหม่ในภาษาของชาติตนเองเช่นกัน

แล้วเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” ที่กำเนิดในสกอตแลนด์ คนสกอตร้องกันตอนไหน

เนื้อเพลงโอลด์ แลง ซายน์  ฉบับสกอต กล่าวถึงวันเวลาเก่าๆ และมิตรภาพระหว่างเพื่อน คนสกอตจึงใช้เพลงนี้ในหลากหลายโอกาส เช่น การเลี้ยงอำลา, วันจบการศึกษา, งานคืนสู่เหย้า, การพบปะทะเพื่อน ฯลฯ จนถึงงานที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงอย่าง “งานศพ” ที่หลายๆ ครั้งคนสกอตก็ใช้เพลงนี้เหมือนกัน

ถึงตรงนี้หลายท่านคงคิดว่า ทำไมต้องเพลง “โอลด์ แลง ซายน์” สันนิษฐานเบื้องต้นคร่าวๆ ว่า เพราะความไพเราะ และไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศุภาสิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2566