ที่มาเพลงเกษียณอายุ “กันยา-อาลัย” เพลงที่ครูแจ๋วแต่งให้เพื่อน

จากซ้าย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, อาจารย์บุญรัตน์ โรจนศักดิ์ (อดีต ผอ.รร.ลำปางกัลยาณี), เกษม โรจนศักดิ์ (อดีตผู้บริหารกฟผ.)

มาถึงเดือนกันยายนของปีอีกแล้วครับ เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งครบกำหนดการเกษียณอายุราชการ ๖๐ ปี จะต้องทำงานอีกหนึ่งเดือนเต็ม จากนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคมทุกท่านก็กลับไปเป็นคนธรรมดาเหมือนก่อนที่จะเข้ามารับราชการ

สมัยผมยังทำงานประจำอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์กรนี้เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ ตอนนั้นมีพนักงานและลูกจ้างอยู่ทั่วประเทศเกือบสามหมื่น แรกๆยังคิดว่า โห! แล้วมันจะรู้จักกันหมดไหมเนี่ย? แน่ละครับคนมากมายขนาดนั้นไม่มีทางรู้จักหมดแน่นอน เหตุเพราะเจ้าหน้าที่จะอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ถ้าไม่มีงานเกี่ยวข้องกันก็ไม่มีทางเจอะกัน ยิ่งพวกทำงานด้านสำรวจแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง

หน่วยงานใหญ่ขนาดนี้คนเยอะขนาดนั้นจึงมีทั้งคนเข้าคนออกอยู่บ่อยๆ จำได้ว่าพวกที่อยู่จนเกษียณอายุตอนนั้นยังไม่แยะ แต่พอทำมาได้สักสี่ห้าปี คราวนี้แหละเห็นพวกพี่ๆ เขาเกษียณออกกันเป็นแถวบางปีมากบางปีน้อยตามแต่ใครจะถึงก่อนถึงหลัง

จำได้ตอนโน้นผมทำงานประจำที่เขื่อนจุฬาภรณ์ มีช่างไฟฟ้ารุ่นใหญ่อยู่คนชื่อชอบ คนในเขื่อนเรียกอาจารย์ชอบ แม้จะตัวเล็กๆผิวดำๆแต่เวลาพูดจาจะเฮี้ยวๆเสียงดัง เพราะนอกจากจะอาวุโสแล้วแกยังมาจากโรงเรียนช่างกลเกรดเอของเมืองไทย ก็ช่างกลปทุมวันนั่นแหละที่ทำให้ทั้งเพื่อนๆน้องๆผู้ร่วมงานต้องย่ำเกรงฝีมือและประสบการณ์ เมื่อผมเข้าทำงานที่เขื่อนได้สักสามสี่ปีอาจารย์ชอบคนนี้แกถึงวัยเกษียณอายุราชการก่อนใคร ทางผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานจึงจัดงานเลี้ยงเกษียณให้อาจารย์เพื่ออำลาเป็นครั้งสุดท้าย จำได้เวลามีเพื่อนๆขึ้นไปร้องเพลงเขาร้องหนึ่งในร้อยให้แกฟัง ตอนนั้นเห็นแกนั่งนิ่งๆจนจบเพลง

อย่างที่บอกครับ การไฟฟ้าเป็นหน่วยงานใหญ่มากมีที่ทำการอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะภาคเหนือที่ทำการใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นเหมืองถ่านหินอำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปาง และที่นี่พ่อ ครูแจ่ว-สง่า อารัมภีร ได้รู้จักผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าชื่อ คุณเกษม โรจนศักดิ์  นายช่างคนนี้คุ้นเคยสนิทสนมกับ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เวลาคุณชายไปแอ่วเมืองเหนือคุณเกษมจะมาต้อนรับทุกครั้ง จากนั้นไม่นานคุณชายก็ชวนมารู้จักพ่อ ผมเห็นสามคนเขาคุ้นกันเร็วมาก สาเหตุเพราะคอเดียวกันคือชอบตั้งวงก่งก๊ง ชอบดริ้งชอบดื่มชอบเที่ยวเหมือนกัน

มีอยู่หนหนึ่งหลายสิบปีแล้ว พ่อชวนเพื่อนๆในแวดวงบันเทิงหลายคนขึ้นไปเยี่ยมชาวการไฟฟ้าที่แม่เมาะ ศิลปินที่ไปตอนนั้นมี ครูแก้ว อัจฉริยะกุล คุณชายถนัดศรี คุณกำธร-คุณนันทวัน สุวรรณปิยะศิริ คุณรอง เค้ามูลคดี คุณปทุมวดี โสภาพรรณ โดยคุณเกษมเป็นโต้โผในการต้อนรับ ซึ่งประทับใจศิลปินที่ไปอย่างมากขนาดคุณรองเวลาเจอะหน้าผมยังคุยเรื่องเที่ยวเหมืองแม่เมาะครั้งนั้นให้ฟังบ่อยๆ

คุณเกษมใช่จะเป็นนายช่างระดับสูงของการไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังชอบขีดชอบเขียนเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารรายสัปดาห์หลายฉบับ  มีสมัยหนึ่งแกเขียนถึงนักเขียนใหญ่ศิลปินแห่งชาติฉายาพญาอินทรีย์แห่งวงวรรณกรรม ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ผันตัวเองและครอบครัวจากย่านปากเกร็ดเมืองนนท์ไปปักหลักสร้างบ้านที่สวนทูนอินโป่งแยงนครเชียงใหม่ งานที่เคยปรากฏในนิตยสารก็อย่างเรื่อง อนุสาวรีย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ ลานกตัญญูบนสวนทูนอิน, เรไรระงมวันสมโภชอนุสาวรีย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สวนทูนอิน, เยี่ยมหอคำของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่โป่งแยง โดยเรื่องราวที่เขียนมักกล่าวถึงความคุ้นเคยของผู้เขียนกับพญาอินทรีย์ที่เป็นเสมือนเพื่อนฝูงในแวดวง

ห้วงเวลานั้นอายุอานามคุณเกษมจะล่วงเข้าหลักไมล์สโตนที่ 60  ตอนนั้นพ่อคิดจะแต่งเพลงอำลา-อาลัยให้เพื่อนรักคนนี้สักเพลง คิดไปคิดมาจนได้เพลงสำหรับผู้เกษียณอายุมาเพลงหนึ่ง ในเริ่มแรกกะใช้ชื่อ เกษียณ-เกษม เพราะเข้าเวลาเข้าเหตุการณ์ แต่เอาไปเอามาก็เปลี่ยนเป็น กันยา-อาลัย ที่ร้องว่า

 กันยา-อาลัย

เมื่อสิ้นกันยาของทุกๆปี        เป็นประเพณีที่จะต้องจากกัน

เกษียณอายุคือแนวคอยขีดคอยคั่น     ให้พี่น้องเรานั้นต้องจับมือกล่าวอำลา

ผองเราจะไม่เมินและหันหลังให้          มิตรภาพจากใจยังมั่นคงหนักหนา

รำลึกถึงกันอยู่ทุกราตรีทิวา   น้ำใจไมตรีนั้นหนาคู่ดินคู่ฟ้านิรันดร

 (ดนตรีบรรเลงทำนองเพลง Auld Lang Syne)

รำลึกถึงกันอยู่ทุกราตรีทิวา   น้ำใจไมตรีนั้นหนาคู่ดินคู่ฟ้านิรันดร

เพลงนี้พ่อเคยเล่าให้ฟัง ที่ใช้ชื่อเช่นนั้นก็เพราะใครๆที่เกษียณอายุ 60 ปีก็เอาไปใช้ไปร้องในงานเลี้ยงกันได้ จากนั้นจึงต่อเพลงให้คู่ขวัญ กำธร-นันทวัน สุวรรณปิยะศิริ ซึ่งรู้จักคุณเกษมเป็นคนร้อง

เวลาผมเจอะคุณกำธร-คุณนันทวัน เมื่อคุยถึงเพลงนี้ทั้งสองมักจะบอก

 “ลุงแจ๋วเข้าใจนะ ตรงท่อนบรรเลงเอาทำนอง Auld Lang Syne มาใส่ ได้อารมณ์สามัคคีชุมนุม”

จึงบันทึกไว้ในวงการเพลงของเมืองไทยว่า กันยา-อาลัย เป็นเพลงแรกเพลงเดียวที่ครูเพลงแต่งให้คนเกษียณอายุราชการในสมัยนั้น

ใครที่เกษียณอายุในสิ้นเดือนนี้ ลองเอาไปร้องในงานเลี้ยงงานอำลาดูครับ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 23 กันยายน 2562