ตามรอย “ขนมแดกงา” ชื่อไม่น่ากิน ทำไม่ง่าย แต่อร่อย สู่การเปลี่ยนชื่อให้ไพเราะ

ภาพถ่ายเก่าบรรยากาศการจับปลาใน “ฤดูปลาขึ้น” ที่สุโขทัย

ถ้าท่านไปเที่ยวจังหวัดสุโขทัยนอกจากจะได้ชมเมืองเก่าสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว (ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage)) ขากลับบ้านถ้าท่านเสาะแสวงหาของกินท้องถิ่น ก็จะมีให้ท่านเลือกซื้อได้มากมาย ถ้าท่านรู้จักแหล่งผลิต ท่านอาจจะได้ของใหม่ๆ ไม่เก่าค้างวันค้างคืนไปกิน แต่ถ้าไม่รู้จักแหล่งผลิต จะมีร้านค้าสำหรับขายของกินต่างๆ เป็นผู้จำหน่าย อาจจะไม่ใหม่เหมือนซื้อตามร้านที่ผลิต แต่ก็เป็นสินค้าของสุโขทัยที่กินอร่อยได้เช่นกัน

ของกินที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของสุโขทัยมีมากมายหลายชนิด ล้วนแต่อร่อยๆ ทั้งนั้น เช่น ขนมผิง ทองม้วนบ้านกงไกรลาศ ขนมเกลียวครูแอ๊ว ถั่วทอดศรีสำโรงที่มีร้านลอนศิลป์และร้านครูสายหยุด ขนมปั้นขลิบสวรรคโลก ฯลฯ

ของฝากอร่อยที่จะมีเฉพาะในฤดูกาลก็มี เช่น พุทรากวน ส้มลิ้ม ส้มแผ่น พุทรากวนที่ว่านี้คือ พุทราสุกตากแห้ง แล้วนำมาตำป่นทั้งเนื้อทั้งเมล็ด ร่อนเม็ดหยาบๆ ทิ้งไป เหลือเนื้อปนเมล็ดละเอียดๆ แล้วนำมากวนกับน้ำตาลปี๊บ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ห่อกระดาษแก้วเหมือนท็อฟฟี่ ขนาดหัวแม่มือ แล้วทำเป็นพวงๆ รสชาติจะเปรี้ยวอมหวาน กินได้ไม่หยุดปาก จะมีขายหลังหน้าพุทราสุก ราวๆ หลังฤดูหนาวผ่านพ้นไป

ส่วนส้มลิ้ม ส้มแผ่น จะมีเฉพาะฤดูกาล คือหน้าร้อน ที่มีมะม่วงกำลังสุก ที่ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก เขาจะรวมตัวแม่บ้านตั้งเป็นคล้ายสหกรณ์รวมตัวกันมากวนมะม่วงและจัดจำหน่าย เมื่อได้มะม่วงมากวนกับน้ำตาลจนได้ที่แล้ว เขาจะตักเป็นก้อนๆ พอคำละเลงให้ยาวสัก ๑ องคุลี บนแผ่นพลาสติค ตากแดดสักแดดสองแดด มะม่วงก็จะแห้ง แกะล่อนจากแผ่นพลาสติค รวบรวมใส่ถุงขายในหน้าฤดูกาล มะม่วงกวนเช่นนี้เรียกว่าส้มลิ้มถ้ากวนแล้วละเลงตากแดดเป็นแผ่นบางๆ เมื่อแห้งจะแกะล่อนจากแผ่นพลาสติคเป็นแผ่นๆ พับเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวๆ หรือม้วนเป็นม้วนเล็กเหมือนทองม้วน เราจะเรียกว่าส้มแผ่น

ส้มลิ้ม ส้มแผ่น หรือพุทราป่นกวน จะมีขายเฉพาะในหน้าหรือฤดูที่มีผลผลิตเท่านั้น จะไม่มีวางขายตลอดปีเหมือนสินค้าขนมอื่นๆ ที่สามารถผลิตได้ทุกวันไม่มีฤดูกาล ฤดูกาลที่ผลิตได้คือหน้าแล้งเท่านั้น หมดฤดูกาลก็ไม่มีวางขายในท้องตลาด ผิดกับขนมแห้งๆ เช่น ขนมผิง ทองม้วน ที่ผลิตได้ทั้งปี

คนสุโขทัยจะนำผลผลิตตามฤดูกาลมาทำขนม ทั้งทำกินและทำขาย แต่ขายเฉพาะวันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายเป็นของฝากอย่างขนมแห้งๆ ได้ ขนมเหล่านั้นได้แก่ ขนมกล้วย ขนมตาล มีมาแปลกคือ ขนมแตง

แตงที่ว่า คือแตงไทยลูกห่ามๆ ที่เนื้อยังไม่เละ เขาจะขูดเป็นเส้นๆ แล้วผสมกับแป้งและน้ำตาล นำไปนึ่งเหมือนขนมกล้วย จะเป็นขนมที่หอมแตงไทย และกินอร่อยเหมือนขนมกล้วย

ขนมที่อร่อยอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อเสียงฟังดูไม่น่ากิน เป็นขนมที่ทำไม่ง่ายนักแต่กินอร่อย ขนมนั้นได้แก่ ขนมแดกงา ขนมนี้จะทำด้วยข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว ตำจนเหนียวเป็นแป้ง มีไส้ข้างในเป็นหน้ากระฉีก คือมะพร้าวอ่อนขูดเป็นเส้นๆ กวนกับน้ำตาลปึก พอเหนียวตักได้เป็นคำๆ เอาข้าวเหนียวที่ตำเหนียวเป็นเนื้อเดียวกันมาปั้นเป็นก้อนแล้วแผ่ออก เอาหน้ากระฉีกใส่ตรงกลางแล้วปั้นหุ้มไส้เป็นก้อนกลมๆ ตบให้แบนๆ แล้วเอาไปคลุกกับงาดำที่ตำจนแหลก ใส่เกลือพอออกรสเค็ม ก็จะเป็นขนมแดกงา

คำว่าแดกไม่ใช่เป็นคำหยาบเหมือนการกินมูมมาม รีบกินเอาๆ ที่เราเรียกว่าแดกแต่คำว่าแดกหมายถึงเอามาคลุก เอามาผสมเป็นเนื้อเดียว คือ เอาข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ มาตำในครกให้เป็นแป้งเหนียว ตำให้เป็นเนื้อเดียว ใส่เกลือเค็มๆ เล็กน้อย แล้วมีไส้หน้ากระฉีก หวานๆ กินผสมกัน นับว่าเป็นขนมที่อร่อยอีกชนิดหนึ่ง แต่ชื่อเสียงฟังดูไม่น่ากิน ดูหยาบๆ เหมือนจะกินมูมมาม คือยัดเข้าปากไป ซึ่งไม่ใช่ เวลากินเนื่องจากก้อนจะใหญ่เกินคำเขาจะกัดครึ่งคำ จะได้รสหวาน เค็ม มัน ผสมกันไป เวลาขาย เขาจะเอาขนมแดกงานี้คลุกกับงาดำป่นใส่เกลือเค็มปะแล่มๆ

เด็กปัจจุบันจะไม่รู้จัก ถ้า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่บอกเล่าไว้ ขนมอะไรฟังชื่อดูก็ไม่น่ากิน แต่กินแล้วรสชาติอร่อย หวานๆ มันๆ เค็มๆ เด็กสมัยใหม่จึงไม่รู้จักทั้งหน้าตาและรสชาติ แถมมีชื่อที่ฟังดูหยาบคาย ขนมแดกงาจึงขายได้เฉพาะคนรู้จักเก่าๆ เท่านั้น

ปัจจุบันมีคนขายเรียกชื่อเสียใหม่ให้ดูเพราะพริ้งสุภาพ เขาเรียกว่าขนมทานงาแทนแดกงาแต่คนเก่าๆ ก็ยังเรียกขนมแดกงาตามเดิมก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ถ้ารู้ความหมายของคำว่าแดก


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 10 กันยายน 2561