พิษรักต่างขั้วในการเมืองไทย “แฟนนี่ น็อกซ์” เมียฝรั่งฝั่งวังหน้า-พระปรีชากลการวังหลวง

แฟนนี่ น็อกซ์ พระปรีชากลการ
(ซ้าย) แฟนนี่ น็อกซ์ (ขวา) พระปรีชากลการ ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ภาพถ่ายทางเครื่องบินเมื่อ พ.ศ. 2489 ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิษรักต่างขั้วในการเมืองไทย “แฟนนี่ น็อกซ์” เมียฝรั่งฝั่งวังหน้า กับ “พระปรีชากลการ” วังหลวง

ช่วงการเมืองระหว่าง วังหลวง-วังหน้า นอกจากจะเป็นเหตุการณ์เชิงอำนาจภายในโครงสร้างของไทยแล้ว ท่ามกลางขั้วอำนาจยังมีเรื่องราวความรักระหว่างหญิงสาวหัวนอกที่มีแนวคิดและวิถีชีวิตซึ่งรับอิทธิพลมาจากตะวันตก อย่างกรณีความรักของ แฟนนี่ น็อกซ์ กับ พระปรีชากลการ

แฟนนี่ น็อกซ์เป็นธิดามิสเตอร์โทมัส ยอร์จ น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจําประเทศไทย เกิดจากภรรยาคนไทยชื่อปราง บิดาส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

ส่วนพระปรีชากลการ เป็นบุตรพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เสนาบดีคนสําคัญในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปรีชากลการได้รับการศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์จากสกอตแลนด์ เป็นข้าราชสํานักหนุ่มรุ่นใหม่ที่ทรง โปรดปรานมากคนหนึ่ง

ความรักของทั้งคู่เกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมในวงสังคมชั้นสูง เริ่มรู้จักกันเมื่อทั้งสองฝ่ายซึ่งนิยมกีฬาขี่ม้าเหมือนกัน ได้ขี่ม้าเล่นเพื่อออกกําลังกายในเวลาเช้า

ฝ่ายชายอยู่ในกลุ่มข้าราชบริพารที่โปรดปราน ขี่ม้าตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายหญิงก็ขี่ม้าเล่นกับนายน็อกซ์ ผู้เป็นบิดา แม้ว่าฝ่ายชายจะมีภรรยาและบุตรชายหญิงอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสรู้จักกัน ครั้งแรกจึงอยู่ในฐานะมิตรสหาย แต่ต่อมาเมื่อภรรยาพระปรีชากลการถึงแก่กรรม การรู้จักกันฉันเพื่อนทําให้มีโอกาสได้เข้าไปแสดงความเห็นอกเห็นใจ และสานความสัมพันธ์ต่อจนกลายเป็นความรักในที่สุด

ความรักของหนุ่มสาวทั้งคู่น่าที่จะดําเนินไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างราบรื่น หากไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ขณะนั้นการเมืองไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วอํานาจ คือ ฝ่ายวังหลวง และฝ่ายวังหน้า

วังหลวงมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเพิ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ อํานาจทางการเมืองส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในฐานะผู้สําเร็จราชการ มีอํานาจเต็ม ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์อยู่

ส่วนวังหน้ามีกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งผู้สําเร็จราชการเป็นผู้สนับสนุนให้ดํารงตําแหน่งนี้ และนายน็อกซ์ ชาวอังกฤษเมื่อเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก ได้ทําหน้าที่ฝึกทหารแบบยุโรปให้วังหน้าอยู่ระยะหนึ่ง และต่อมาได้รับตําแหน่งกงสุลอังกฤษประจําประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ทั้งสมเด็จเจ้าพระยาฯ และนายน็อกซ์ จึงมีความสนิทสนมกับวังหน้าเป็นอย่างมาก นับเป็นกลุ่มอํานาจที่สําคัญอีกกลุ่มหนึ่ง

ในขณะที่วังหลวงมีเพียงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ รุ่นหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนแนวคิดที่ทันสมัย ซึ่งทรงโปรดใช้สอยและมอบความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติงานต่างๆ หนึ่งในจํานวนนั้นมี พระปรีชากลการ รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติหน้าที่สําคัญๆ รวมทั้งควบคุมการทําเหมืองทองที่ปราจีนบุรี

ดังนั้น ความรักของ แฟนนี่ น็อกซ์ และ พระปรีชากลการ จึงดําเนินไปท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกของกลุ่มอํานาจทั้งสอง แต่หนุ่มสาวมิได้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญไปกว่าเรื่องของความรัก

พระปรีชากลการมิได้รําลึกถึงความควรไม่ควรในฐานะข้าราชสํานักวังหลวง ส่วนแฟนนี่ก็ไม่สนใจในคําตักเตือนของบิดามารดาถึงผลเสียอันจะเกิดจากอํานาจของผู้สําเร็จราชการ ซึ่งมีความประสงค์ที่จะให้เธอแต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่งของท่าน อันจะเป็นการผูกพันอํานาจทางการเมืองระหว่างตัวท่าน วังหน้า และกงสุลอังกฤษให้แน่นแฟ้นต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระทัยถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากลายพระราชหัตถเลขา ที่พระราชทานถึงสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเล่าถึงเรื่องความคิดอ่านของนายน็อกซ์และสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไว้ว่า

“มีผู้ที่ควรจะเชื่อได้ ทราบความมาว่า เขากะสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นแน่ว่าหม่อมฉันคงจะตายในเร็วๆ นี้เป็นแน่ ด้วยผอมนัก วังหน้าคงได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถ้าวังหน้าได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว เหมือนกับลูกเขาๆ สงสารจะต้องอุปถัมภ์ช่วยว่าการงานทุกอย่าง ลูกเขานั้นคนใหญ่ที่ไปเรียนหนังสือเมืองนอกคนเดียวเขาจะให้เป็นฝรั่ง แต่ลูกนอกนั้นตามแต่ภรรยาเขาจะให้มีผัวไทยก็ตาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ พลอยเห็นจริงด้วย ได้บอกมอบฝากบ้านเมืองถ้าสิ้นท่านแล้ว วังหน้าจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เขาช่วยทะนุบํารุงบ้านเมือง และ ฝากบุตรหลานของท่านด้วยเถิด การเป็นดังนี้สมกับคําที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ พูดอยู่เสมอว่า หม่อมฉันคงตายในปีนี้ๆ หลายปีมาแล้ว ว่าวังหน้าคงมาเป็นเจ้า คํานี้ท่านพูดอยู่ดังๆ กับบุตรหลานนั้นก็ให้มาฝากตัวอยู่ที่กงสุลอังกฤษจริง เป็นการสมกับที่คําพูด แต่คําที่ฝ่ายภรรยามิสเตอร์น็อกซ์กงสุลพูดนั้นว่า ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย..”

ความสนิทชิดเชื้อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง สมเด็จเจ้าพระยาฯ และนายน็อกซ์นั้น ก่อให้เกิดความยากลำบากในการบริหารประเทศ การงานในบ้านเมือง กงสุลอังกฤษย่อมทราบได้ อาจต้องอลุ่มอล่วยกันไป

หนุ่มสาวหัวนอกทั้งคู่ยังเพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีก เมื่อครั้งมีงานพระราชพิธีฉลองพระราชวังบางปะอิน พ.ศ. 2421 พระปรีชากลการ ได้พา แฟนนี่ น็อกซ์ นั่งเรือส่วนตัวไปในงานฉลองและค้างแรมด้วยกันบนเรือ แม้จะมีบ่าวไพร่อยู่บนเรือด้วยกันหลายคน และทั้งคู่ก็มิได้อยู่ร่วมห้องกันก็ตาม การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นความเสียหายร้ายแรง เพราะฝ่ายหนึ่งคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกฝ่ายหนึ่งคือลูกสาวกงสุลใหญ่ ซึ่งถือเป็นการหยามเกียรตินําความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศชาติ และยิ่งเมื่อพระปรีชากลการได้พาแฟนนี่กลับกรุงเทพฯ ในขณะที่งานฉลองพระราชวังบางปะอินยังไม่เสร็จสิ้น โดยมิได้กราบบังคมทูลลาหรือกราบทูลให้ทรงทราบ อันมิบังควร

ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ได้บีบคั้นให้ทั้งสองต้องเข้าสู่พิธีสมรส โดยมิได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามขนบประเพณีแห่งราชสํานัก ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการหมิ่นเกียรติยศกงสุลในการที่พาธิดาสาวไปค้างแรมทําให้เกิดความเสียหายและข้อครหา จึงเป็นการทําผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหนุ่มสาวทั้งคู่ เพราะนอกจากจะผิดประเพณีอันจะทําให้เกิดความเข้าใจผิดกับกงสุลของประเทศที่มีอํานาจเช่นอังกฤษแล้ว ยังเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฐานที่เป็นข้าราชการในพระองค์ แต่ทําการต่างๆ ตามอําเภอใจ มิได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานที่คู่สมรสเป็นลูกครึ่งต่างชาติ มีบิดาที่สามารถให้ผลได้ผลเสียแก่บ้านเมือง จึงถือเป็นการละเมิดอํานาจแผ่นดินอย่างร้ายแรงอย่างไม่เคยมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติเยี่ยงนี้มาก่อน

เมื่อหนุ่มสาวทั้งคู่แต่งงานกันแล้ว ทั้งสองได้พากันไปอยู่ที่ปราจีนบุรี ซึ่งฝ่ายชายมีหน้าที่ควบคุมการขุดทองส่งเมืองหลวง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่พอพระทัยในการที่ข้าราชการที่ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยไปแต่งงานกับสตรีซึ่งอยู่คนละกลุ่มอํานาจ มิหนําซ้ำยังเป็นกลุ่มอํานาจที่คิดปองร้ายต่อพระองค์ และแผ่นดินไทย ถึงขั้นมีแผนจะแบ่งแผ่นดินไทยออกเป็นสองส่วนเพื่อให้วังหลวงและวังหน้าปกครององค์ละส่วน ซึ่งโดยอํานาจ และสิทธิหน้าที่ในฐานะประมุขของชาติ ทรงต้องพยายามแก้ปัญหานี้อย่างนุ่มนวลและแนบเนียน แต่การแต่งงานของหนุ่มสาวทั้งคู่กลับเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง

ในส่วนผู้สําเร็จราชการแผ่นดินก็ย่อมจะต้องไม่พอใจในการแต่งงานของหนุ่มสาวคู่นี้เช่นกัน เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามความประสงค์ของตนในอันที่จะให้แฟนนี่แต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่งของท่านเพื่อผูกพันสายสัมพันธ์ระหว่างสกุลบุนนาค วังหน้า และกงสุลอังกฤษให้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งขึ้น นอกจากการณ์จะไม่เป็นไปดังประสงค์แล้ว มิหนําซ้ำแฟนนี่ ยังไปแต่งงานกับชายหนุ่มที่อยู่กันคนละกลุ่มอํานาจ

แม้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะคืนอํานาจการบริหารแผ่นดินให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแล้ว แต่วาสนาบารมีของท่านก็ยังเต็มเปี่ยมในฐานะผู้ใหญ่ของแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงกราบบังคมทูลแนะนําเรื่องการลงโทษพระปรีชากลการ โดยอ้างเรื่องการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นสําคัญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้เท่าทันการเมืองเกมนี้เป็นอย่างดี ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แม้จะได้รับการยืนยันจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังไม่วายที่จะตอกย้ำต่อไปว่า

“…ธรรมดาเป็นผู้ครอบครอง ถ้าเห็นว่าการสิ่งใดจะเป็น หนามขึ้นในอาณา ก็ต้องรักษาอย่าให้กําเริบลุยลายได้…”

การโต้ตอบระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็พอจะเห็นได้ถึงความยุ่งยากในกระบวนการขั้นตอนจับกุมดำเนินคดี

ในระหว่างการดําเนินคดีนั้น พระปรีชากลการได้ถูกคุมขัง โดยยังคิดแต่เพียงว่าโทษลงอาญา โบย 30 ที ที่ได้รับจากพระราชโองการนั้น เกิดจากความกริ้วของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อข้าราชสํานักที่ทรงโปรด และเข้าใจว่าโทษโบยนั้นสาสมกับความผิดของตน และคงจะทําให้ทรงคลายพระพิโรธลงได้

แต่ทั้งพระปรีชาฯ และ แฟนนี่ น็อกซ์ หารู้ไม่ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ได้ถูกกระพือโหมให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะนายน็อกซ์ ผู้เป็นพ่อตาซึ่งมีความประสงค์จะช่วยเหลือบุตรเขย พยายามเจรจากับสมเด็จเจ้าพระยาฯ และขอเข้าเฝ้ากราบทูลขอพระราชทานอภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เป็นผล เพราะคดีนี้มิใช่ความผิดธรรมดาแต่กลายเป็นเรื่องการประลองกำลังระหว่างขั้วอํานาจทั้งสอง โดยมีพระปรีชากลการเป็นเสมือนเป้านิ่ง

นายน็อกซ์ ซึ่งหมดหนทางที่จะช่วยลูกเขย จึงคิดหาทางออกขั้นสุดท้ายซึ่งคาดว่า จะได้ผล นั่นคือการขู่จะนําเรือปืนอังกฤษเข้ามาปิดปากอ่าวไทยตามอํานาจกงสุล ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ การขู่เช่นนี้แทนที่จะได้ผลดีกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องรีบแก้ไขเหตุการณ์โดยด่วน ด้วยการส่งคณะทูตพิเศษมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้า นําเรื่องราวความเป็นจริงไปชี้แจงให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจ

เรื่องการพิจารณาคดีก็ยังคงดําเนินต่อไป ได้มีการขยายผลกว้างขวางอันเนื่องมาแต่ได้มีราษฎรร้องเรียนกล่าวโทษพระปรีชากลการเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ มีทั้งการแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง และพวกพ้อง การกดขี่ทารุณทําร้ายราษฎรและอื่นๆ อีกถึง 27 เรื่อง ข้อหาที่พระปรีชาฯ ได้รับคือ

1. เบิกเงินมาหลายหมื่นชั่ง แต่ได้ทองถวายเพียงไม่กี่ลิ่ม
2. ทําการทารุณเลขหัวเมืองที่เกณฑ์ให้ตัดฟันตอในน้ําซึ่ง กีดขวางทางเดินเรือบรรทุกทอง โดยใช้ง่ามถ่อค้ําคอคนที่ดําลงไปตัด ตอจนขาดใจตาย และทําการทารุณกรรมแก่ราษฎรอย่างร้ายแรงหลาย ประการ
3. แล่นเรือตัดหน้าฉานขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน
4. แต่งงานกับคนต่างประเทศโดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต

ในส่วนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้สรุปความผิดของพระปรีชากลการไว้ว่า

“การหลวงที่ไม่ได้อยู่ช่วย ทูลลาก็ไม่ทูล… ดูถูกในหลวงมาก พระปรีชามิได้คํานับผู้ใหญ่ในตระกูลฝายหญิงและฝ่ายชาย มิได้กราบทูลในหลวง เป็นการหมิ่นประมาท..”

คดีพระปรีชากลการเป็นคดีที่ทุกคนจับตามองอย่างจดจ่อถึงผลการตัดสิน เพราะรู้อยู่ว่ามิใช่คดีความผิดธรรมดา เรื่องนี้นายน็อกซ์ ได้รายงานไปยังลอร์ดซอลส์เบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ในขณะนั้นว่า

“พระปรีชาฯเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 มาก อาจจะโปรดมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงลงโทษพระปรีชากลการด้วยความฝืนพระทัย เนื่องจากทรงทราบว่าการกระทําของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นการทําลายข้าราชบริพารฝ่ายพระองค์…”

แม้คดีจะมีเงื่อนงําซ่อนเร้นประการใดก็ตาม ผลการตัดสินก็คือ การประหารชีวิตพระปรีชากลการ

ในตอนท้ายสุดของชีวิตนั่นเองที่พระปรีชากลการได้แสดงถึงความเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องถูกตัดสินประหารชีวิต ดังที่รองอํามาตย์โท หลวงบํารุงรัฐนิกร ได้บันทึกไว้เป็นความทรงจําเกี่ยวกับเหตุการณ์ ก่อนประหารชีวิตพระปรีชากลการ ความว่า

“พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้า แล้วทิ้งลงดิน พูดออกมาอย่างน่าสงสารว่า โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่ง ตัวจึงตาย…”

ขณะที่นายน็อกซ์ถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ และได้พาครอบครัวเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2422

แต่สิ่งที่เป็นสายใยยึดโยงความผูกพันและรําลึกถึงพระปรีชากลการไว้ก็คือบุตรชายที่เกิดจาก พระปรีชากลการ ชื่อ สแปนเซอร์ หรือ จํารัส และยังมีบุตรชายหญิง ของพระปรีชากลการซึ่งเกิดจากคุณล้ายภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นคือ ตระกูล และ อรุณ 2 พี่น้อง แฟนนี่ น็อกซ์ ได้นําเด็กทั้ง 2 เดินทาง กลับไปอังกฤษด้วย

คุณตระกูล และคุณอรุณ เติบโตขึ้นท่ามกลางความรักและความเอาใจใส่จากแฟนนี่เป็นอย่างดี และเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนเมื่ออายุได้ 13 ปี มีความรู้ด้านภาษาทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นเลิศ เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณฐานะล่ามสตรีในพระราชสํานักฝ่ายใน และได้พิสูจน์ความเป็นสายเลือดอมาตยกุลที่ซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชวงศ์ และผืนแผ่นดินไทยมาแต่บรรพบุรุษอย่างไม่มีเสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อจากส่วนหนึ่งในหนังสือ ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก พิมพ์ครั้งที่ 3 เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย สำนักพิมพ์มติชน, 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561