พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน จากวัดในนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)
มหาปรินิพพานสูตรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นเดียวเท่านั้นที่บอกเรื่องราวเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ข้อมูลทั้งปวงที่ได้พรรณนาในพระสูตรนี้ มีความแตกต่างและขัดแย้งในรายละเอียด
จริงหรือที่พระพุทธองค์ปรินิพพานเพราะเสวย “สูกรมัททะวะ” พระองค์ประชวรและปรินิพพานด้วยโรคใดกันแน่? ความจริงแล้วพระองค์ปรินิพพานเมื่อใด และที่ไหน?
พระสูตรนี้ยังแสดงให้เห็นบุคลิกของพระพุทธเจ้าเป็น ๒ ประการ ที่ขัดแย้งกันเอง คือบุคลิกผู้วิเศษ และบุคลิกชายชราธรรมดา ซึ่งบุคลิกแรกบดบังบุคลิกหลังเกือบสนิท
เรื่องราวเหล่านี้แสดงนัยอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเก่าแก่มีอายุยาวนานกว่า ๒,๕๐๐ ปี เป็นศาสนาที่กำเนิดในประเทศอินเดียซึ่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมีความผูกพันในบุคลิกของผู้ก่อตั้งศาสนาอย่างมาก ไม่ว่าจะมีการประกอบพิธีครั้งใดก็ต้องมีการเริ่มต้นด้วยการแสดงนอบน้อมต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกครั้งไป ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขสูงสุดในศาสนา และเป็นบิดาแห่งพุทธบริษัททั้งหลาย

การจากไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมสร้างความสะเทือนใจแก่ศิษย์อย่างมาก และการจากไปของพระบรมศาสดาในกาลครั้งนั้นได้เป็นเหตุให้ชาวพุทธเริ่มการจาริกแสวงบุญ ไปนมัสการสถานที่สำคัญในพุทธประวัติทั้งสี่แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน และแสดงปฐมเทศนา แม้เป็นยุคสมัยที่การเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลาย การถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับคำสอนในหมู่สาวกยังคงใช้การท่องจำปากต่อปาก โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ เช่นการเสียชีวิตของพระบรมศาสดาผู้เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดนี้ จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดตั้งแต่ในยุคแรกของพระพุทธศาสนา

รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นมาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้นคือ มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ยาวที่สุดสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งนอกจากจะมีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไปแล้วยังทีอรรถาธิบายเชิงพรรณนาในเรื่องสำคัญอีกหลายประการทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองและวัฒนธรรมอินเดีย ธรรมะในหมวดหมู่ที่สำคัญต่างๆ รวงทั้งปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกรวมกันทั้งหมด

กระนั้นเองผู้อ่านพระไตรปิฎกตอนนี้อาจเกิดการสับสนได้ง่าย หากพยายามที่จะแสวงหาความจริง ว่าสาเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงประชวรจนต้องถึงกับปรินิพพานนั้นคืออะไรแน่

นักการศาสนาส่วนหนึ่งมักมุ่งไปที่ประเด็นว่า พระพุทธเจ้าทรงบริโภค “สูกรมัททะวะ” (แปลตรงตัวว่าเนื้อหมูอ่อน) ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทรงประชวรหนักจนต้องปรินิพพานในคืนวันที่ทรงขบฉันอาหารชนิดพิเศษนี้นั่นเอง การศึกษาในเชิงค้นคว้ามักจะสะดุดอยู่เพียงข้อความเท่านี้ แม้การศึกษาในทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์ได้เกิดขึ้นแพร่หลาย นักวิชาการทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกยังมิได้มีการนำข้อมูลทั้งหมดในพระสูตรนี้มาวิเคราะห์ให้ทราบถึงแก่นว่า ความจริงคืออะไร ที่ทำให้พระพุทธเจ้าต้องปรินิพพานในครั้งนั้น

ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นสามารถให้ความกระจ่างนี้ได้ไม่มากก็น้อย วิทยาศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือที่ดีประการหนึ่งในการวิเคราะห์สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของสิทธัตถะ โคตมะ นักบวชแห่งศากยสกุล ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์นี้อาจเป็นพื้นฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ในยุคแรกได้ต่อไป

พระพุทธเจ้าประทับสีหไสยา เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ความสำคัญของมหาปรินิพพานสูตร

มหาปรินิพพานสูตรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นับตั้งแต่สามถึงสี่เดือนก่อนวันสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปจนถึงการแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งแปดแห่ง รวมถึงสถูปเจดีย์ทั้งหลายที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นๆ อีกด้วย

ผู้อ่านส่วนใหญ่มักจะประหลาดใจที่พระสูตรซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้านี้เริ่มเรื่องด้วยการดำริของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่จะยึดครองแคว้นวัชชี ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งอยู่ทางทิศตะวันตกและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตย มีจารีตประเพณีเป็นที่ยึดเหนี่ยวเรียกว่า “วัชชีธรรม” และในท้องเรื่องของพระสูตรตอนนี้ พระเจ้าอชาติศัตรูพระองค์นี้ได้มอบหมายให้วัสสะการพราหมณ์ (แปลตรงตัวว่าพราหมณ์ผู้สร้างฝน) ไปปรึกษาพระพุทธเจ้าว่าตนจะทำการใหญ่ครั้งนี้สำเร็จหรือไม่ และด้วยเหตุใด และก็น่าประหลาดใจว่า ทรงแนะนำวัสสะการพราหมณ์อ้อมผ่านทางการสนทนากับพระอานนท์ ให้วัสสะการพราหมณ์ได้ยิน (เรื่องตอนนี้ต่อมาเป็นมูลเหตุให้เกิดเป็นวรรณกรรมไทยเรื่องหนึ่ง คือ สามัคคีเภทคำฉันท์)

พราหมณ์ผู้นี้เมื่อได้ยินคำสนทนาเข้าแล้วสามารถนำมาสรุปเป็นกลยุทธ์ได้เลยว่า แคว้นวัชชีจะแตกได้โดยอาศัยการยุยงให้คนในแตกกันก่อน จึงได้ลากลับไป

เมื่อทรงเสร็จกิจที่เกี่ยวข้องพระเจ้าอชาตศัตรู พระพุทธเจ้าเสด็จต่อไปทางทิศเหนือ แวะตำบลนาลันทา บ้านเกิดของพระสารีบุตร (อัครสาวกฝ่ายขวาผู้เป็นเลิศทางปัญญา) ผู้ซึ่งออกมาต้อนรับโดยประกาศความศรัทธาอย่างไม่คลอนแคลนในพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นข้อความที่ซ้ำซ้อนกับพระสูตรอีกตอนหนึ่ง และน่าเชื่อได้ว่าเป็นส่วนที่ผู้เรียบเรียงพระสูตรเกิดฟั่นเฟือน เพราะพระสูตรอีกตอนหนึ่งระบุว่า พระสารีบุตรได้นิพพานไปก่อนล่วงหน้านี้แล้ว

เสด็จแวะเมืองปาฏลีบุตร ก่อนที่จะแสดงปาฏิหาริย์ข้ามแม่น้ำคงคาที่เต็มปริ่มฝั่ง โดยการหายตัวจากฟากหนึ่งไปปรากฏตัวอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ พร้อมหมู่พระสงฆ์สาวกหลักจากที่พยากรณ์อนาคตของเมืองใหม่ที่อำมาตย์วัสสะการพราหมณ์สร้างไว้ โดยมีประตูเมืองด้านที่เสด็จผ่านนนั้นเรียกต่อไปว่า “ประตูโคตมะ

ทางการแพทย์ เหตุการณ์ที่สำคัญระหว่างพรรษาคือ การประชวรด้วยอาการปวดอย่างรุนแรงจนเกือบสิ้นพระชนม์ แต่ทรงเอาชนะความเจ็บปวดด้วยความอดทน และระลึกว่ายังไม่ได้ตรัสอำลาสาวกพุทธบริษัททั้งหลาย แต่ทรงปลงอายุสังขารที่จะเสด็จปรินิพพานตามคำเชิญของพญามาร จนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ภายหลังจากที่พระอานนท์ลืมที่จะทูลอาราธนาให้เจริญเจโตสมาธิในอิทธิบาท ๔ แต่ทว่าพระอานนท์ไม่อาจระลึกได้ในนัยที่ทรงบอกใบ้ให้กระทำ (ข้อความที่ทรงตำหนิพระอานนท์ในตอนนี้ค่อนข้างจะรุนแรง)

ต่อมาทรงรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ กัมมาบุตร ผู้ตั้งใจถวายอาหารจานพิเศษ มีชื่อว่า “เนื้อหมูอ่อน” (สูกรมัททวะ) ซึ่งภายหลังที่รับประเคนไปแล้ว ดำริกับนายจุนทะว่า ไม่ทรงเห็นผู้ใดเลยในโลกนี้ที่จะสามารถย่อยอาหารนี้ได้ นอกจากพระองค์เอง จึงสั่งให้นายจุนทะนำอาหารทั้งหมดที่เหลือไปฝังดินทิ้งเสีย

หลังจากที่ฉันอาหารนั้นแล้วทรงประชวรถ่ายออกมาเป็นเลือด (โลหิตปักขันทิกา) ซึ่งจากคำศัพท์หมายถึงการพรั่งพรูของเลือดออกมาจากทางทวารหนัก จนรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้เสวย แต่พระอานนท์รีรอ เนื่องจากเห็นน้ำในลำธารขุ่นมาก เนื่องด้วยเกวียนจำนวนมากเพิ่งข้ามลำธารนี้ไป แต่พระพุทธเจ้าคะยั้นคะยอถึง ๓ ครั้ง และยังสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ขั้นถวายเพื่อประทับ

ต่อจากนั้นเป็นเรื่องราวของปาฏิหาริย์ ของการถวายผ้าสิงคิวรรณ อันเป็นผ้าสีเหมือนทองของนายกองเกวียนสองคน เมื่อทรงห่มผ้านี้แล้วพระฉวีวรรณเกิดผุดผ่องขึ้นเอง ซึ่งทรงอธิบายว่า เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะมีผิวพรรณสว่างไสว หลังจากตรัสรู้ใหม่ และก่อนที่จะเสด็จเข้ามหาปรินิพพาน

วันเวลาที่ปรินิพพาน

เป็นประเพณีที่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทเชื่อกันสืบๆ มาว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในวันเดียวกัน คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (ประมาณวันเพ็ญกลางเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน) แต่ความในมหาปรินิพพานสูตรระบุไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ คือประมาณเดือน ๑๑-๑๒ หรืออาจล่วงเลยได้ถึงเดือน ๑ ของปีจันทรคติต่อมา ซึ่งเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ความตอนหนึ่งยืนยันว่าเป็นฤดูดังกล่าว คือ ปาฏิหาริย์ของต้นสาละ เมื่อทรงเอนพระองค์ลงนอนระหว่างต้นสาละทั้งคู่ว่า ต้นสาละทั้งสอง (ซึ่งเป็นไม้ผลัดใบ) ผลิใบและดอกซึ่งเป็น “อกาล” คือ “นอกฤดูกาล” ออกมา

ความทั้งหมดของปาฏิหาริย์ที่ต้นสาละคู่นี้อาจเป็นเรื่องราวที่ต่อเติมในภายหลัง แต่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ นั้น ชาวพุทธยังจดจำได้ดีว่าเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ซึ่งต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว

สมมติฐานการเจ็บป่วยของพระพุทธเจ้า

นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่อาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสาเหตุทั้งหมดของการประชวรที่นำไปสู่การปรินิพพาน จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าอาหารนั้นน่าจะเป็นพิษในตัวของมันเอง เป็นต้นว่า เป็นอาหารที่ทำมาจากเห็ดชนิดหนึ่งที่เป็นพิษ การที่มีสมมติฐานว่า “สูกรมัททวะ” เป็นเห็ดชนิดหนึ่ง ก็เนื่องจากรากศัพท์ว่า “สุกรได้แก่หมู” และ “มัททวะแปลว่าอ่อนหรือนิ่ม” เมื่อนำมาสมาสกันทำให้ได้อีกความว่า “นิ่มสำหรับหมู” คือเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่หมูชอบ เพราะความนิ่มของมัน การตีความในลักษณะนี้เข้ากันได้กับทิฐิของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานสายจีนซึ่งเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมังสวิรัติ

ทางการแพทย์นั้นการจะสรุปว่าพยาธิสภาพที่ทำให้พระพุทธองค์ปรินิพพานนั้นมาจากลำพังอาหารที่เสวยอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ และอาหารจานสุดท้ายนี้อาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยซึ่งสุกงอมมาเต็มที่แล้วเกิดปะทุขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติการเจ็บป่วยอย่างหนักครั้งหนึ่งมาก่อนหน้านี้แล้ว ข้อมูลที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคืออายุของพระองค์ท่านในขณะนั้นคือ ๘๐ ปี ซึ่งเป็นวัยที่สังขารร่วงโรคเพราะความเสื่อมของอวัยวะภายในหลายอย่าง

เราทราบจากข้อมูลหลายแห่งในพระไตรปิฎกว่า ทรงมีโรคประจำตัว เช่น โรคปวดหลังจนถึงกับไม่อาจเทศน์ต่อไปได้ และตรัสเปรียบกายสังขารของพระองค์เหมือนเกวียนที่เก่าคร่ำคร่า การใช้ชีวิตของพระองค์ตระเวนในแว่นแคว้นต่างๆ ของอินเดีย เทศนาโปรดสัตว์โลกตลอด ๔๕ ปีหลังตรัสรู้ ดำรงพระชนม์ด้วยอาหารบิณฑบาตหลากชนิดที่ไม่อาจเลือกได้ ก็สามารถเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สังขารของพระองค์เสื่อมลงได้เร็ว

อาการเจ็บป่วยระหว่างพรรษาสุดท้ายนั้น มหาปรินิพพานสูตรกล่าวไว้เพียงสั้นๆ ว่า ทรงมีอาการปวดอย่างรุนแรงจนเกือบต้องมรณภาพ แต่ไม่ได้ให้อาการร่วมอย่างอื่นที่ระบุว่าเป็นการปวดที่เกิดที่อวัยวะใด

อาจเป็นการปวดที่หน้าอกอันเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง อันมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดตีบตันซึ่งเป็นโรคแห่งความชราที่พบกันบ่อยอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดได้มาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

อาการป่วยในครั้งนี้ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตาม แต่อาการทั้งหมดนั้นหายไป จนทำให้เสด็จจาริกต่อไปได้หลังออกพรรกษาเหมือนปกติ หากอาการไม่ปกติ นายจุนทะเองคงไม่กล้าที่จะนิมนต์ให้ไปรับบิณฑบาตเป็นแน่ กระนั้นเองพยาธิสภาพดั้งเดิมก็คงเหลืออยู่ แต่อาการที่ระบุในการประชวรครั้งสุดท้ายที่ว่ามีอาการลงพระโลหิต หรือถ่ายเป็นเลือดนั้นเป็นอาการที่เนื่องด้วยระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความยาวมาก ตั้งแต่หลอดคอไปจนถึงทวารหนัก

โรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคหนึ่งที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ้นพระชนม์ได้ เนื่องจากทำให้เกิดการปวดได้มาก โดยเฉพาะหลังอาหารใหม่ๆ และแผลในกระเพาะอาหารนั้นอาจมีขนาดใหญ่และลึกมาก จนทำให้ทะลุไปถึงเส้นเลือด ทำให้เกิดการลงพระโลหิตได้

การที่เป็นภิกษุฉันอาหารเพียงวันละมื้อเท่านั้น ก็ทำให้น่าจะคิดต่อไปได้ว่าเป็นโรคที่ทำให้ประชวรครั้งสุดท้าย

แต่โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนต้นนั้น มักไม่ทำให้ผู้ป่วยถ่ายออกมาเป็นเลือดสด แต่เป็นอุจจาระเหลวสีดำ (melena) ซึ่งมักจะหยุดเองเป็นส่วนใหญ่ และผู้ป่วยมักไม่เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ยกเว้นในกรณีที่แผลนั้นลึกมากจนกระเพาะอาหารหรือลำไส้นั้นทะลุ กรดในกระเพาะรั่วออกมาสู่ช่องท้อง ทำให้เกิดอาการอักเสบในช่องท้องรุนแรงจนถึงกับเสียชีวิตได้ในที่สุด

แต่ในพระสูตรนี้หรือในพระไตรปิฎกมีข้อมูลประกอบเกี่ยวกับอาการปวดท้องเรื้อรัง การถ่ายอุจจาระสีดำของพระพุทธเจ้า รวมทั้งการปวดท้อง หลังหรือก่อนมื้ออาหาร เป็นต้น

ลักษณะที่ระบุว่าเป็นโลหิตออกมานั้นพระสูตรนี้มิได้อธิบายว่าออกมามากน้อยเพียงใด มีมูกเจือปนหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แพทย์ต้องการทราบเสมือนเมื่อซักประวัติผู้ป่วยที่ตกเลือดทางทวารหนัก แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นทำให้เราสามารถอนุมานได้ว่า เลือดที่ออกมาต้องมีจำนวนมากอย่างแน่นอน และมากจนทำให้พระพุทธองค์รู้สึกกระหายน้ำอย่างมาก จนกระทั่งต้องสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้เสวยถึง ๓ ครั้ง แม้พระอานนท์ปฏิเสธว่าน้ำในลำธารขุ่นมาก การเสียเลือดในครั้งนี้พระองค์คงอยู่ในอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่าช็อค (shock) และไม่มีปริมาณโลหิตหมุนเวียนในพระสรีระเพียงพอ ความดันโลหิตน่าจะต่ำมากจนไม่อาจเสด็จไปด้วยพระองค์เองได้

ข้อที่สนับสนุนอีกประการหนึ่งว่าทรงเสียพระโลหิตไปมาก คืออาการหนาว ซึ่งเป็นผลพวงจากการเสียโลหิตไปมาก โดยดูได้จากการที่สั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิหนาถึง ๔ ชั้น

ผ้าสังฆาฏินี้ในภาษาไทยแปลว่า ผ้าซ้อนนอน อันเป็นผ้าที่มีพุทธานุญาตให้พระภิกษุห่มเป็นเสื้อคลุมในฤดูหนาว ในภาษาอังกฤษแปลว่า cloak

ในทางการแพทย์มีโรคไม่กี่โรคที่ทำให้เกิดอาการตกเลือดเป็นเลือดสดปริมาณมากๆ จนทำให้เสียชีวิตได้ และมีโรคอยู่ ๒ โรคที่พบบ่อย คือ

Diverticulosis (เยื่อบุผนังส่วนในของลำไส้ใหญ่งอกออกมาเป็นกระเปาะใหญ่ ซึ่งต่อมาผนังของกระเปาะนี้แตกออกทำให้เลือดสดไหลออกมาได้จำนวนมากเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และพบในสังคมที่ประชาชนบริโภคอาหารที่มีเส้นใยน้อยโดยเฉพาะประเทศในทางตะวันตก)

และอีกโรคหนึ่งคือ Angiodysplasia (เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดใต้เยื่อบุผนังส่วนในของลำไส้ใหญ่ และต่อมาเยื่อบุผนังลำไส้เกิดเป็นแผลฉีกขาด ทำให้เลือดจำนวนมากไหลออกมาสู่ลำไส้ใหญ่)

แต่โรคทั้งสองนี้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดนำที่รุนแรง

ริดสีดวงทวารหัวใหญ่ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตกเลือดได้มาก และเลือดมักหยุดได้เอง แต่อาการก็ไม่สอดคล้องกับที่ระบุไว้ในพระสูตรนี้

การแตกของกระเปาะโลหิตของเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องเข้าสู่ลำไส้ส่วนปลาย (aorta-intestinal fistula) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปวดท้องที่รุนแรง และการตกเลือดจำนวนมากจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร จึงเป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่เป็นไปได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ และเป็นโรคที่พบน้อยมาก

โรคที่มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นอาการนำ โดยเฉพาะโรคที่เกิดอาการหลังอาหารมื้อใหญ่ และมักเกิดกับผู้สูงอายุ โรคดังกล่าวนี้คือ โรคการตายของสายรัดไส้ อันเนื่องมาจากการขาดโลหิต (mesenteric Infarction) ซึ่งพยาธิสภาพเริ่มต้นคือ การอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ออกมาจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้อง (superior mesenteric artery) เหตุพื้นฐานของการอุดตันมักเนื่องมาจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือด (arteriosclerosis) โรคนี้มักเริ่มต้นด้วยการปวดท้องรุนแรง เช่นเดียวกับการปวดเมื่อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง ต่างกันที่ตำแหน่ง คือ เกิดในช่องท้อง (abdominal angina) อาการปวดนี้อาจหายไปได้เอง เมทื่อโลหิตจากเส้นเลือดส่วนอื่นไหลมาทดแทนได้พอเพียง แต่พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ ซึ่งเข้าได้กับประวัติอาการป่วยของพระพุทธเจ้า อาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นมักจะปวดรุนแรงมาก และลำไส้ที่ขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงก็จะตาย ทำให้ผนังลำไส้ตายเป็นเหตุให้โลหิตจำนวนมากไหลเข้าสู่ลำไส้พร้อมกับของเสียในลำไส้ (อาหารที่ยังไม่ได้ถูกดูดซึม กากอาหาร และเชื้อโรคทั้งหลาย) ถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิต

เชื้อโรคต่างๆ ที่ถูกดูดซึมเข้ามาสู่กระแสเลือดเหล่านี้ทำให้โลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นได้มาก และในที่สุดทำให้เกิดการช็อกขึ้นได้อีก เป็นพยาธิแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้อย่างรวดเร็วในระยะต่อมา

การบริโภคอาหารมื้อใหญ่ๆ มักเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการลำไส้ขาดเลือดได้ โดยเฉพาะเมื่อเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงลำไส้นั้นมีอาการตีบตันอยู่แล้ว ลำไส้ที่ต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมากหลังอาหารไม่ได้รับเลือดเพียงพอทำให้ลำไส้นั้นตายลงกะทันหัน อาหารที่บริโภคเข้าไปจึงไม่ใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งไม่ว่าอาหารชนิดใดก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้

ข้อสันนิษฐานที่ว่าสูกรมัททะวะนั้นเป็นเนื้อหมูที่มีพยาธิภายในนั้น ไม่เข้ากับอาการส่วนใหญ่ที่ปรากฏในพระสูตรนี้ และไม่น่าเชื่อว่าเจ้าภาพจะถวายเนื้อดิบ ซึ่งมีตัวพยาธิติดเข้ามาด้วย และพระวินัยนั้นห้ามพระภิกษุบริโภคเนื้อดิบอยู่แล้ว และยังไม่เคยปรากฏว่ามีพยาธิใดที่อยู่ในเนื้อที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการตกเลือดได้มากอย่างเฉียบพลัน

ไม่ว่าสูกรมัททวะนี้จะเป็นอะไรก็ตาม ก็คงไม่ใช่สาเหตุของอาการป่วยโดยตรง แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นจากภายนอกที่ทำให้โรคที่สะสมกันมานาน และเคยกำเริบมาครั้งหนึ่งแล้วปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้สภาพการณ์นั้นเลวร้ายกว่าครั้งก่อน

ลำดับเหตุการณ์ในพระสูตร : ประชวรสู่ปรินิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์ประมาณ ๘๐ ปี เมื่อจำพรรษาสุดท้าย ณ กรุงเวสาวี พระวรกายของพระองค์ได้เสื่อมโทรมลงไปตามสังขารเช่นเดียวกับผู้สูงอายุวัยเดียวกับพระองค์ ทรงประชวรหนักในระหว่างพรรษานั้น ด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนเกือบสิ้นพระชนม์ สาเหตุของการปวดนั้นมีสาเหตุจากการอุดตันบางส่วนของเส้นเลือดใหญ่ของลำไส้เล็กส่วนกลาง (superior mesenteric artery)

อาการนั้นทุเลาจนหายไป จนทำให้เหมือนปกติ

อาการปวดท้องนี้กำเริบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเริ่มเสวยอาหารจานพิเศษ ชื่อสูกรมัททวะ

ระหว่างที่เสวยอยู่นั้นน่าจะทรงรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติบางประการกับอาหารนี้ เพราะความสงสัยและความปรารถนาดีต่อผู้อื่นจึงทรงสั่งให้เจ้าภาพ คือนายจุนทะ กัมมาบุตร นำสูกรมัททะวะที่เหลือทั้งหมดไปฝังเสีย

อาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงขึ้นหลังเสวยอาหารเสร็จ

ขณะเดียวกันนั้นลำไส้ของพระองค์ตายไปเพราะขาดโลหิต ยังผลให้เลือดจำนวนมากไหลซึมเข้าไปในลำไส้ ทำให้ตกเลือดสดๆ ออกมา โลหิตที่ออกมานั้นมากจนทำให้พระองค์เกิดอาการช็อก และหนาวสั่น เนื่องจากเชื้อโรคที่ค้างอยู่ในลำไส้เริ่มถูกดูดซึมเข้าสู่ช่องท้อง ทำให้เกิดการอักเสบของช่องท้อง และเชื้อโรคส่วนหนึ่งเริ่มซึมเข้ากระแสโลหิต

การช็อกทำให้ทรงกระหายน้ำมาก จนทำให้ต้องสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาเสวย แต่เนื่องจากพระอานนท์ไม่เห็นแหล่งน้ำสะอาดจึงปฏิเสธ จนต้องคะยั้นคะยออยู่หลายครั้ง การที่ไม่อาจเสด็จไปตักน้ำได้ด้วยพระองค์เองนั้น เพราะว่าโลหิตในพระวรกายนั้นไม่เพียงพอ ไม่อาจลุกนั่งได้เอง และทรงรู้สึกหนาวมากจึงสั่งให้ปูลานที่ประทับด้วยสังฆาฏิหนา ๔ ชั้น

เรื่องปาฏิหาริย์ที่ปรากฏต่อจากความตอนนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ต่อเติมขึ้นภายหลัง หลังจากปาฏิหาริย์ตอนนี้แล้วพระสูตรไม่ได้ระบุว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างจนกระทั่งเสด็จลงสรงน้ำ และประทับลงระหว่างไม้สาละสองต้น หากพิจารณาด้วยสามัญสำนึก ความตอนนี้ทั้งหมดน่าจะเกี่ยวข้องกับตอนที่เป็นปาฏิหาริย์ทั้งหมด ในขณะที่ทรงประชวรหนักขนาดนี้คงไม่มีอุปัฏฐากใดที่จะนำพระองค์ไปนอนลงกลางแจ้งระหว่างที่ทรงหนาวจัด อ่อนเพลียและกระหายน้ำมาก ความเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ทรงประคองพระองค์ไม่ไหว พระภิกษุผู้ติดตามต้องนำพระองค์ไปรักษาอาการประชวรซึ่งเกิดขึ้นแบบกระทันหัน โดยช่วยกันทำแคร่หามพระองค์ไปหากแพทย์ให้รักษาในเมืองที่ใกล้ที่สุด

แม้ว่าพระสูตรจะกล่าวถึงการปลงอายุสังขารล่วงหน้านั้นแล้วก็ตาม ข้อความในพระสูตรนี้ระบุชัดเจนว่า การป่วยภายหลังการเสวยสูกรมัททะวะนี้มิได้ทรงคาดคะเนมาก่อน การที่รับนิมนต์ไปฉันก็ดี ที่บ้านนายจุนทะก็ดี การตรัสบอกกับนายจุนทะว่าไม่ทรงเห็นผู้ใดที่สามารถย่อยอาหารนี้ได้นอกจากพระองค์เท่านั้น ยืนยันว่าไม่ได้ทรงคาดว่าจะปรินิพพานในวันนั้น

สถานที่ปรินิพพานที่แท้จริง

ความในมหาปรินิพพานสูตรเล่าเรื่องปาฏิหาริย์มากมายเมื่อทรงทอดพระองค์ลงระหว่างต้นสาละทั้งคู่ในป่าใกล้กรุงกุสินารา แต่สิ่งที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ไม่น่าจะเป็นบริเวณแท้จริงที่ปรินิพพาน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

๑. เมื่อทรงประชวรหนักนั้น ภิกษุผู้ติดตามน่าจะขวนขวายพาพระองค์ไปหาแพทย์ที่อยู่ในเมืองมากกว่าที่จะพาไปประทับในป่า โดยเฉพาะเมื่อทรงมีอาการหนาวสั่น ปวดท้อง และกระหายน้ำมาก เนื่องจากสภาพความต้องการของร่างกายผู้ป่วย จะเป็นปัจจัยที่บังคับให้ผู้ใกล้ชิดทั้งหลายขวนขวาย ให้พระองค์ทรงพระชนม์ให้นานที่สุด การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมให้อบอุ่นเป็นความจำเป็นที่ต้องการในการดูแลผู้ป่วยที่หนาวจัด จึงน่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่ว่าสาวกทั้งหลายพาพระองค์เข้ารับการรักษาภายในที่มุงบังที่ให้ความอบอุ่น ซึ่งอาจมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด ผู้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้พระองค์สบายที่สุด ในสภาวะเช่นนี้ผู้ที่ดูแลน่าจะพยายามให้น้ำ (ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นน้ำสมุนไพรบางอย่าง) ให้พระองค์จิบทีละน้อยเพื่อประทังความกระหาย ในสภาพนี้พระองค์เองไม่น่าจะทรงดื่มน้ำได้ทีละมากๆ

๒. เมื่อพระอานนท์ทราบว่า พระพุทธองค์จะปรินิพพานแน่แล้วได้เกิดความเสียใจจนกระทั่งจะเป็นลมไม่อาจประคองตนไว้ได้ ต้องยืนเหนี่ยวกลอนประตูรูปหัวสิงห์อยู่ กลอนประตูนี้อยู่ในป่าตามลำพังไม่ได้แน่นอน นอกจากเสียว่าพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่ในห้องของอาคารที่อยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง

๓. หลังจากปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปประตูทางทิศใต้ แต่ไม่อาจเคลื่อนพระศพได้ มิได้ระบุว่าต้องนำพระศพเข้าเมืองก่อน แสดงว่าสถานที่ปรินิพพานนั้นอยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง

บุคลิกพระพุทธเจ้าในมหาปรินิพพานสูตร

พระพุทธเจ้ามี ๒ บุคลิกในมหาปรินิพพานสูตร
บุคลิกแรกนั้นเป็นบุคลิกของผู้วิเศษซึ่งแสดงปาฏิหาริย์จำนวนมากนับตั้งแต่การหายตัวข้ามแม่น้ำคงคาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ที่ติดตาม จากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากหนึ่งในพริบตา เป็นบุคลิกที่เห็นเหล่าเทพยดาทั้งหลายที่ลงมาตั้งถิ่นฐานในเมืองปาฏลีบุตร เป็นบุคลิกที่พยากรณ์เรื่องราวอนาคตของเมืองนี้ในอนาคต เป็นบุคลิกที่สามารถมีอายถยืนได้ตลอดกัปป์ หรือกว่านั้นหากมีผู้ใดผู้หนึ่งอาราธนา แต่จำต้องปลงอายุสังขารของพระองค์เอง เพราะความผิดพลาดลืมสติของพระอานนท์ และเป็นบุคลิกที่ปรินิพพานในป่าระหว่างไม้สาละสองต้น ในขณะที่มีดอกไม้และผงจันทน์ร่วงหล่นจากสรวงสวรรค์ ท่ามกลางหมู่เทพยดานับไม่ถ้วนมาสให้ความเคารพแม้ใกล้ปรินิพพานก็ยังสามารถโปรดสุภัททะปริพาชกจนมีศรัทธาขอบวชและตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในคืนเดียวกับที่ปรินิพพาน และบุคลิกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์นั้นมิได้ลดลงหลังปรินิพพานแล้ว ยังให้เกียรติแก่พระมหากัสสป ทำให้ไฟที่นำมาจุดถวายพระเพลิงนั้นไม่ยอมติด ต้องรอจนพระมหากัสสปได้ถวายบังคมเสียก่อน ไฟจึงติดขึ้นได้เอง และดับเองเมื่อน้ำพุจากใต้ดินฉีดขึ้นมาเมื่อเผาพระศพแล้วเสร็จ

บุคลิกที่สองนั้นเป็นบุคลิกของชายชราธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งปรินิพพานด้วยสาเหตุการเจ็บป่วยทางธรรมชาติ อันเกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงลำไส้เล็กเส้นสำคัญอุดตัน จนทำให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง จนเกือบสิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ทรงจำพรรษาสุดท้าย และในขณะที่ทรงจาริกหลังออกพรรษาใหม่ๆ โรคเก่านี้กำเริบขึ้นอีกครั้งหนึ่งอย่างไม่คาดฝันหลังอาหารมื้อใหญ่ที่เสวยเข้าไป และปรินิพพานไปในห้องพักเล็ก ในอาคารแห่งหนึ่งในเมืองกุสินารา ภายหลังจากที่หมู่สงฆ์ผู้ติดตามได้ให้การดูแลอย่างสุดความสามารถแล้ว

หากถามว่าความจริงที่เกิดขึ้นคืออะไร?

คำตอบคือ บุคลิกที่สอง ซึ่งบุคลิกแรกนั้นบดบังด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เกือบทั้งหมด โดยผุดขึ้นมาเป็นปริศนาทำให้เกิดความฉงนของชนรุ่นหลัง

แต่ทำไมจึงเกิดบุคลิกและความขัดแย้งของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวขึ้นได้ภายในพระสูตรเดียวกัน สิ่งนี้ยังเป็นปริศนาสำหรับนักค้นคว้าทั้งหลายในอนาคต

พระมหากัสสปและพระอรหันต์ทั้งหลายเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูขอกระทำสังคยานา ซึ่งเป็นการปฐมสังคายนา หลังการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา สะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนงำความขัดแย้งของเหล่าพุทธสาวก (จิตรกรรมฝาผนังวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร)

สรุป

ข้อความในมหาปรินิพพานสูตรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นเดียวที่ให้รายละเอียดการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ข้อมูลทั้งปวงที่ได้พรรณนาในพระสูตรนี้มีความแตกต่าง และขัดแย้งในรายละเอียด สามารถแบ่งได้เป็นสองบุคลิก ซึ่งบุคลิกหนึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ว่าตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และแสดงให้เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งถึงแก่ความตายด้วยการเจ็บป่วยทางธรรมชาติ อันเกิดจากความเสื่อมของหลอดโลหิตแดงที่ไปลำไส้ส่วนกลางเกิดอุดตันอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ตกเลือดทางทวารหนักเป็นเลือดสดปริมาณมาก พร้อมการอักเสบในช่องท้องจนทำให้ต้องเสียชีวิตในที่สุด และความหลายตอนในมหาปรินิพพานสูตรนี้สนับสนุนตรงกันว่าสถานที่ที่ปรินิพพานจริงนั้นน่าจะเป็นห้องพักเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองกุสินารามากกว่าที่จะเป็นป่าไม้สาละนอกเมืองนั้น

แม้ว่ามหาปรินิพพานสูตรนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อน จนสามารถแยกบุคลิกของพระพุทธเจ้าออกได้เป็นสองบุคลิกก็ตาม ที่มาของบุคลิกของผู้วิเศษที่บดบังบุคลิกจริงซึ่งน่าจะเป็นบุคลิกของพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ผู้ปรินิพพานแบบเรียบง่ายและไม่แตกต่างไปจากมนุษย์เดินดินคนหนึ่งเรื่องราวของพระสูตรนี้ยังสมควรที่จะศึกษาต่อไปอีก ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายอันเนื่องด้วยการปรินิพพานนี้มีทิศทางที่สอดคล้องกันและเรียบเรียงไว้เป็นอย่างดี หลายตอนเกิดจากการคัดลอกจากพระไตรปิฎกตอนอื่น แต่ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

นอกจากพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่เล่าถึงการจากไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระสูตรนี้ยังมีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของการทำสังคยนาครั้งที่หนึ่ง และให้อำนาจแก่พระมหากัสสป พระเถระผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าแต่ให้กลับมามีอำนาจในคณะสงฆ์สมัยนั้นอีกด้วย

เป็นไปได้หรือไม่ว่าบุคลิกที่ขัดแย้งกันของพระพุทธเจ้าในพระสูตรนี้เกิดจากความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในยุคแรก ภายหลังจากที่พระบรมศาสดาได้จากไปแล้ว


อ้างอิง
มหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก สยามรัฐ เล่มที่ ๙
ขออนุโมทนา
๑. น.พ.ธวัชชัย สุขสนอง พ.บ., F.A.C.S., F.I.C.S.
๒. น.พ.คณิต สัมบุณณานนท์ พ.บ., F.R.C.S.