แผนปลงพระชนม์ และยึดราชบัลลังก์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์
พระมหากษัตริยาธิราชแห่งกรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โดย De L’Armessin ปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231)

“แผนปลงพระชนม์” และ “ยึดราชบัลลังก์” ปลายรัชสมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” แห่ง กรุงศรีอยุธยา

น่าสนใจที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือฮอลันดา ได้เลือกเอาปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เป็นโอกาสฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 400 ปี กับประเทศไทย เพราะชาวฮอลันดาเดินทางมาถึงปัตตานีเมื่อ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1601 (พ.ศ. 2144) และสามวันต่อมาได้ทำสัญญาการค้ากับราชินีแห่งปัตตานี [1]

ขณะที่กรมศิลปากรอ้างเจรเมียส ฟอนฟลีต (วันวลิต) กล่าวไว้ในหนังสือ Treatise ของเขาว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดามาตั้งสถานีค้าขายที่ปัตตานีเมื่อปี ค.ศ. 1602 (พ.ศ. 2145) ต่อมาในปี ค.ศ. 1604 (พ.ศ. 2147) นายวิกแบนด์ ฟอนเวอร์ลิค ได้ส่งนายคอร์เนเลียส สเปคซ์ มาตั้งสถานีค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา [2] เท่ากับเป็นการไม่ยอมรับว่าปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในเวลานั้น

ชาวเดนมาร์กเดินทางมาถึงตะนาวศรี ค.ศ. 1621 (พ.ศ. 2164) [3] ประเทศเดนมาร์กได้เลือกโอกาสที่จะฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 360 ปี กับประเทศไทยในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)

ส่วนหนึ่งของการฉลองความสัมพันธ์ครั้งนี้ได้จัดให้มีนิทรรศการขึ้นที่สยามสมาคม ระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ได้รีบไปชมตั้งแต่วันแรกที่เปิด แต่น่าเสียดายที่นิทรรศการดังกล่าวแทบจะไม่ได้แสดงอะไรที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮอลันดาที่ดำเนินมาเป็นเวลาถึง 4 ศตวรรษ เป็นแต่เพียงการจัดแสดงความเป็นมาของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา

สอบถามเจ้าหน้าที่ของสยามสมาคมว่า มีการจัดพิมพ์หนังสือพิเศษในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ครั้งนี้หรือไม่ (เมื่อครั้งโอกาสความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์กครบรอบ 360 ปี กระทรวงศึกษาธิการเดนมาร์กจัดพิมพ์หนังสือ Thai-Danish Relations 30 Cycles of Friendship [4] มีเนื้อหาและรูปภาพน่าสนใจ) คำตอบคือไม่มี

ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาโดยชาวดัตช์

วันนั้นไม่ได้หนังสือที่คิดว่าน่าจะมี แต่กลับไปได้หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งจัดพิมพ์โดยสยามสมาคม เป็นภาษาอังกฤษชื่อ Witnesses to a Revolution : Siam 1688 แปลได้ว่า “พยานในเหตุการณ์ปฏิวัติแห่งกรุงสยาม ค.ศ. 1688” ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มี Michael Smithies เป็นผู้แปลเอกสารต่าง ๆ ที่ไปค้นคว้ามาได้ และเป็นบรรณาธิการด้วย

ข้อมูลจากหนังสือนี้เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลอื่นทำให้เห็นด้านหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฮอลันดาและสยาม เกี่ยวกับบทบาทชาวฮอลันดาในแผนปลงพระชนม์และยึดราชบัลลังก์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ บันทึกเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ว่า

“พระปีย์คนนี้เป็นบุตรขุนไกรสิทธิศักดิ์ชาวบ้านแก่น ทรงพระกรุณาเอามาเลี้ยงไว้ในพระราชวังแต่ยังเยาว์ ให้มีนางนมพี่เลี้ยงประดุจลูกหลวง และพระปีย์มีพรรณสัณฐานต่ำเตี้ย ทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย และพระปีย์กอรปด้วยสวามิภักดิ์นอนอยู่ปลายฝ่าพระบาท คอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งอยู่

ครั้นรุ่งเพลาเช้าพระปีย์ลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้ว จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการ ณ ที่มหาอุปราชสั่งให้ขุนพิพิธรักษาชาวที่ผลักพระปีย์ตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว และพระปีย์ร้องขึ้นได้คำเดียวว่า ทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย พอขาดคำลง คนทั้งหลายก็กุมเอาตัวพระปีย์ไปประหารชีวิตตาย

ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังเรื่องพระปีย์ร้องขึ้นมาดังนั้น ก็ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์ ดำรัสว่า ใครทำอะไรกับอ้ายเตี้ยเล่า และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในเพลาวันนั้น เป็นวันพฤหัสบดี เดือน 5 แรม 3 ค่ำ ศักราช 1044 ปีจอ จัตวาศก” [5], [6]

สาเหตุสวรรคตในที่นี้จึงเกิดจากความ “ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์” ทำให้พระอาการประชวรทรุดลงและสวรรคต

พระราชวังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ละโว้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงให้เชิงอรรถเกี่ยวกับวันสวรรคตว่า

“ปีที่สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ตามที่จดไว้ในหนังสือพงศาวดารนี้ผิด ที่จริงอีก 6 ปี จึงสวรรคตเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1050 ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม คริสตศักราช 1687”[6]

วันที่สวรรคตเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า คือวันที่ 11 กรกฎาคม และปีสวรรคตที่ถูกต้อง คือคริสต์ศักราช 1688 (พ.ศ. 2231) ส่วนเวลานั้นจะเห็นได้ว่ายังมีต่าง ๆ กันไป

ร่องรอยบางประการเกี่ยวกับการสวรรคตปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกเหตุการณ์เดียวกันนี้ต่างไปว่า

“เจ้าพระขวัญทรงพระเสลี่ยงขึ้นไปถึง พญาสุรศักดิ์สั่งให้เอาไปวัดซาก พญาสุรศักดิ์ขี่ช้างพังออกไปด้วย จึงให้พนักงานทำเสียสำเร็จแล้วก็กลับเข้ามาพระราชวังเพลาสามยาม พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพทราชา พญาสุรศักดิ์ว่าพร้อมหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วมือขึ้นจากพระองค์ พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เพลา 10 ทุ่ม เสด็จนิพพาน” [7]

ความสำคัญ คือพระราชรักษาถามพญาเพทราชากับพญาสุรศักดิ์ (พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์) ว่า “พร้อมหรือยัง”

คำถามคือว่า พร้อมที่จะทำอะไร?

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงออกว่าราชการ

เมื่อได้รับคำตอบว่า “พร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วมือขึ้นจากพระองค์” การถอนนิ้วมือขึ้นจากพระองค์ สันนิษฐานว่าถอนจากพระโอษฐ์ (พงศาวดารน่าจะคัดลอกพระโอษฐ์ ผิดเป็นพระองค์) เพราะเมื่อถอนนิ้วมือขึ้นแล้ว “พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป”

คำถามคือว่า นิ้วมือของขุนองค์อยู่งานนั้นไปทำอะไรอยู่ที่พระโอษฐ์? บีบพระโอษฐ์? เพื่อ?

กระแสข่าวร่วมสมัย เกี่ยวกับการสวรรคต

“He finally died two days later, at eleven o’clock in the morning, either of his sickness, or through some potion which hastened his death.”

“ในที่สุดพระองค์สวรรคตสองวันต่อมา เมื่อเวลา 11 โมงเช้า จากการทรงพระประชวร หรือโดยโอสถบางอย่างที่เร่งการสวรรคตของพระองค์” [8]

ฉะนั้นที่บีบพระโอษฐ์ เพื่อถวาย “โอสถบางอย่าง” ?

“The king died at the same time. We have definite information that the Dutch were heavily involved in these revolutions, particularly a certain Daniel in their lodge, a native of Sedan, and surgeon by profession, a convinced heretic and disclosed enemy of the catholic religion and the French. It is also held by the same source for which there are testimonies that poison was added to a potion given to the king, which greatly hastened his death.” [9]

“พระมหากษัตริย์สวรรคตในเวลาเดียวกัน เรามีข่าวแน่นอนว่า พวกดัตช์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการปฏิวัติ โดยเฉพาะนายดาเนียล ศัลยแพทย์ ซึ่งมีพื้นเพอยู่ที่เซดาน และเป็นผู้ที่ประกาศตนเป็นศัตรูต่อศาสนาคาทอลิก และชาวฝรั่งเศส แหล่งข่าวเดียวกันบอกว่ามีคำให้การว่าได้มีการผสมยาพิษลงในพระโอสถที่ถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการเร่งให้สวรรคต”

ฉะนั้น มิได้มีแต่เพียงกระแสข่าว แต่มีการระบุตัวบุคคล คือ ศัลยแพทย์ดาเนียล และว่ามีข้อมูลที่แน่ชัดที่เป็น “คำให้การ” ว่า “มีการผสมยาพิษลงในพระโอสถที่ถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการเร่งให้สวรรคต”

คำให้การแผนปลงพระชนม์

“The said Ok-khun Rot declared and told us what follows, that the 10th lunar day of the month of January in the year 1688, being in Luovo in the house of Ok-pra Pechracha, the Dutch captain and Daniel Moculuan came at night to the house of Ok-pra Pechracha and locked themselves in a room together, making me stay in the room near the door, and Ok-luang Sarasy, son of Ok-pra Pechracha asked the Dutch captain, ‘How are we going to undertake this affair?’ The Dutch captain replied to Daniel who served as his interpreter, ‘You must administer a slow poison to the king, and Daniel will prepare it, and Ok-muen Sri Muen Chaya, who is ever about the king, will give it to the king…’ ” [10]

“ออกขุนโรจน์ผู้นี้แถลงต่อพวกเราดังต่อไปนี้ ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1688 ขณะอยู่ที่ละโว้ ที่บ้านของออกพระเพทราชา กัปตันชาวดัตช์ และหมอข้าหลวงดาเนียลได้มาที่บ้านของออกพระเพทราชาเวลากลางคืน และปิดประตูประชุมกันในห้อง โดยให้ข้าอยู่ในห้องใกล้ประตู และออกหลวงสรศักดิ์ ลูกออกพระเพทราชาถามกัปตันชาวดัตช์ว่า ‘เราจะดำเนินการอย่างไรสำหรับการครั้งนี้’ กัปตันชาวดัตช์ตอบผ่านดาเนียล ซึ่งทำหน้าที่ล่ามว่า ‘ท่านต้องให้ยาพิษที่แสดงผลช้า ๆ ต่อพระเจ้าอยู่หัว โดยดาเนียลจะเตรียมให้ และออกหมื่นศรีหมื่นชัย ซึ่งอยู่เฝ้าใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอจะเป็นผู้ถวาย…’ “

คำให้การนี้ระบุแน่ชัดถึงวัน เวลา และสถานที่ วิธีการที่ใช้และผู้ที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะกรณีหมอดาเนียลซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าว) อย่างชัดเจน ในการร่วมกันวางแผนการปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดต่อมา

คำให้การแผนยึดราชบัลลังก์

1. ซ่องสุมกำลัง

“…and when the king will be under its influence, Ok-meun Sri Meun Chaya must give you the king’s seal. Above all, if Ok-pra Vitticamheng brings medicines to give to the king, Ok-meun Sri Meun Chaya must not give them to the king, only those which Daniel would give to him, so long as he could prevent Ok-pra Vitticamheng approaching the king.” [10]

“เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงตกอยู่ภายใต้พิษยา ออกหมื่นศรีหมื่นชัยต้องนำพระราชลัญจกรมามอบให้ เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าออกพระฤทธิกำแหงนำพระโอสถมาถวาย ออกหมื่นศรีหมื่นชัยจะต้องไม่ถวายพระเจ้าอยู่หัว ถวายเฉพาะที่ดาเนียลจัดให้ และต้องกีดกันไม่ให้ออกพระฤทธิกำแหงได้เข้าเฝ้า”

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเริ่มพระอาการประชวรประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมาไม่สามารถว่าราชการได้ ออกพระเพทราชาเริ่มมีบทบาทในการว่าราชการ และออกพระฤทธิกำแหง (คอนสแตนติน ฟอลคอน/ออกญาวิชาเยนทร์) ถูกกีดกันให้เข้าเฝ้าได้น้อยลง

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิชาเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

2. ซุ่มโจมตีกองทหารฝรั่งเศส

“You must always inform Ok-pra Py that you are on his side, and even tell him that he must gather up as many people as he can, and you will send some of your relatives to stay with the king”s two brothers, and when you see the king is very sick, you can tell Ok-pra Py that it would be the moment to send here one hundred Frenchmen who are in Bangkok, and the general can bring them and then warn your relatives that they order on behalf of the king”s brother to bring many people, have the galleys at the ready and well armed, and when the French have reached half-way to Louvo, you must have some two thousand people hidden, and especially have food ready to eat to surprise and kill the French when they are eating.” [10]

“ท่านต้องคอยบอกออกพระปีย์ว่าท่านเป็นพวกด้วย และบอกให้เขารวบรวมกำลังคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และท่านเองจะส่งญาติของท่านไปอยู่กับพระอนุชาทั้งสองของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อท่านเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก ท่านสามารถบอกออกพระปีย์ว่าถึงเวลาที่จะส่งทหารฝรั่งเศสร้อยคนที่อยู่ที่บางกอกมาที่นี่ โดยให้นายพลนำมา จากนั้นบอกญาติของท่านว่ามีคำสั่งพระอนุชาให้นำคน เรือพร้อมทั้งอาวุธไปซุ่มรอพวกฝรั่งเศสที่กึ่งทางมาละโว้ ท่านต้องมีคนสองพันคนซ่อนไว้ และจัดเตรียมอาหารไว้ให้พร้อม แล้วโจมตีพวกฝรั่งเศสที่ไม่รู้ตัวระหว่างกินอาหาร”

ออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ออกอุบายเข้าพวกกับทั้งออกพระปีย์และพระอนุชาทั้งสองพระองค์โดยสัญญาว่าจะสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์หลังพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทหารฝรั่งเศสได้รับคำขอจากออกญาวิชาเยนทร์ให้เดินทางจากบางกอกไปละโว้ แต่เมื่อเดินทางจากบางกอกวันที่ 13 เมษายน มาถึงอยุธยาวันที่ 14 เมษายน มีข่าวลือว่าพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์แล้วและกำลังเกิดความไม่สงบ ทั้งได้ถูกทักท้วงและเกลี้ยกล่อมไม่ให้เดินทางต่อไป แม้จะได้ส่งนายทหารออกไปดูเหตุการณ์ในอยุธยา และเดินทางไปสืบข่าวทั้งที่ละโว้และตลอดเส้นทางจะไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติ ก็ยังตัดสินใจพากำลังกลับไปบางกอก ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสได้รับการตำหนิอย่างมากจากชาวฝรั่งเศสด้วยกัน แต่หากเดินทางต่อไปเหตุการณ์อาจเป็นไปตามแผนการที่ได้มีการเตรียมไว้ก็ได้

3. กำจัดพระราชวงศ์และออกพระฤทธิกำแหง

“The same day have killed before you Ok-pra Pyand make yourselves master of Ok-pra Vitticamheng, who is the most to be feared, and when you have overcome him, have him killed in front of you. When you are in control of the palace and have taken possession of everything, you will send, people you can trust, for the king”s brothers, though one after the other, and when you have them, you will have them killed in front of you, and keep their death secret as well as that of the king.”[10]

“ในวันเดียวกันประหารออกพระปีย์ต่อหน้าท่าน และกุมตัวออกพระฤทธิกำแหง ซึ่งเป็นผู้ที่น่าเกรงกลัวที่สุด เมื่อได้ตัวแล้วให้ประหารเสียต่อหน้าท่าน เมื่อท่านยึดพระราชวังและทุกสิ่งไว้ในครอบครองแล้ว ท่านจึงส่งคนที่ท่านไว้วางใจไปกุมตัวพระอนุชาทั้งสองทีละองค์ และเมื่อได้ตัวแล้ว ให้ประหารเสียต่อหน้าท่าน และปกปิดการสิ้นพระชนม์รวมทั้งของพระเจ้าอยู่หัวไว้”

ต่อมา ออกพระปีย์รู้ว่าถูกหลอกลวงจึงเข้าสารภาพต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์รู้ว่าความแตกจึงเข้ายึดวังในวันที่ 18 พฤษภาคม พระปีย์ถูกจับและถูกประหารชีวิตเป็นคนแรก ออกพระฤทธิกำแหงหรือออกญาวิชาเยนทร์ถูกจับกุมและทรมานอยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงถูกประหารชีวิตวันที่ 5 มิถุนายน จากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสิ้นพระชนม์วันที่ 11 กรกฎาคม ต่อมาพระอนุชาทั้งสองพระองค์ถูกหลอกให้ออกจากอยุธยามาละโว้และถูกจับประหารชีวิต เมื่อกำจัดเชื้อพระวงศ์แล้วพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ

4. ฆ่าทุกเชื้อชาติและศาสนาที่ไม่ใช่ชาวดัตช์

“Then kill all the Frenchmen, the Fathers and the Christian who are at Luovo, and send to Siam your relatives with the orders to kill all the Fathers at Banplahet and the Portuguese camps and all the Christians, except for the young children, and take all the Malays and Moors and send to be killed those who remain in Bangkok. If the French offer some resistance, I shall leave with everyone I have in my factory and take with me all those who are Dutch living around the factory, and I can assure you that not one Frenchman will escape us who is not either killed or burnt in their fort; and furthermore I can assure you that the two vessels the general of Batavia promised you loaded with ammunitions and troops will be at the bar for certain in the month of September.” [10]

“จากนั้นสังหารชาวฝรั่งเศส บาทหลวงและชาวคริสต์ทั้งหมดที่อยู่ที่ละโว้ และส่งญาติของท่านไปที่อยุธยาพร้อมด้วยคำสั่งให้ฆ่าบาทหลวงทุกคนที่บ้านปลาเห็ด และชาวโปรตุเกสที่ค่าย และชาวคริสต์ทั้งหมดเว้นแต่เด็กเล็ก และจับชาวมาเลย์และแขกมัวร์ที่อยู่ที่บางกอกฆ่าเสีย หากพวกฝรั่งเศสต่อสู้ ข้าจะพาทุกคนที่โรงงานพร้อมทั้งชาวดัตช์ที่อาศัยอยู่รอบโรงงานไป และข้าขอรับรองต่อท่านว่า จะไม่มีชาวฝรั่งเศสแม้แต่คนเดียวที่จะหนีพ้นจากการถูกฆ่าหรือเผาตายในป้อมของเขา ยิ่งไปกว่านั้นข้าสามารถรับรองต่อท่านว่าเรือสองลำที่ผู้สำเร็จราชการปัตตาเวียสัญญาไว้พร้อมทั้งกระสุนและทหารจะมาอยู่ที่ปากน้ำอย่างแน่นอนในเดือนกันยายน”

บาทหลวงและชาวคริสต์และคนจำนวนมากถูกจับกุมแต่ไม่ได้ถูกฆ่าอย่างที่กัปตันชาวดัตช์ต้องการ ทหารฝรั่งเศสที่เดินทางกลับไปบางกอกได้ต่อสู้กับฝ่ายพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์อยู่เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะมีการเจรจาตกลงให้ฝ่ายฝรั่งเศสเดินทางออกนอกประเทศไปได้ในวันที่ 2 เดือนพฤศจิกายน

โดยระหว่างการต่อสู้นั้นยังไม่พบหลักฐานว่าชาวดัตช์ได้ร่วมต่อสู้หรือไม่อย่างไร และเรือสองลำที่ผู้สำเร็จราชการปัตตาเวียสัญญาจะส่งมาที่ปากน้ำในเดือนกันยายนมาหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] Dirk van de Cruysse. Siam and the West 1500-1700. Silkworm Books, 2002, p.36.

[2] นันทา วรเนติวงศ์. เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา. กรมศิลปากร, 2541, คำนำ.

[3] สมจัย อนุมานราชธน. การทูตของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา. โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2493, หน้า 46.

[4] Thai-Danish Relations 30 Cycles of Friendship. The Royal Danish Ministry of Education, 1980.

[5] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์. คลังวิทยา, 2515, หน้า 391.

[6] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. คลังวิทยา, 2516, หน้า 121.

[7] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยากลาโหมราชเสนา. โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, หน้า 391.

[8] Michael Smithies. Witnesses to a Revolution : Siam 1688. Siam Society, 2004, p.26.

[9] Michael Smithies. A Resounding Failure : Martin and the French in Siam 1672-1693. Silkworm Books, 1998, p.96.

[10] Michael Smithies. Witnesses to a Revolution : Siam 1688. Siam Society, 2004, p.170-171.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2560