สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1

กองทหารบกรถยนตร์ในพิธีรับธงชัยเฉลิมพลที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์ ประเทศเยอรมนี วันที่ 17 มีนาคม 2461 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามระหว่างสยามกับเยอรมนี และออสเตรีย – ฮังการี หลังจากที่พระองค์ทรงใช้เวลากว่าสามปีในการโน้มน้าวให้ประชาชน และข้าราชการซึ่งสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลาง และต้องการให้สยามเป็นกลางในสงครามคราวนี้ ตระหนักว่าการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่สยามมากกว่าการคงสถานะความเป็นกลางของตนไว้

อย่างไรก็ตามการประกาศเข้าร่วมสงครามในคราวนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหาร และเป็นบุคคลที่มีบทบาทมากที่สุดในกองทัพบกสยามเวลานั้น ทรงตระหนักดีว่าศักยภาพของกองทัพสยามในขณะนั้นคงไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการทหารใด ๆ แก่ชาติพันธมิตรได้ ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระดำริที่จะช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตร “ทางด้านจิตใจ”

กล่าวคือ สยามจะไล่ข้าราชการชาวเยอรมัน และออสเตรีย – ฮังการีออกจากราชการ และจะยึดเรือสินค้าของเยอรมันที่จอดเทียบท่าอยู่ที่สยาม รวมถึงการตัดสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาติศัตรู (หจช. ร.6 ต.15.2/2 ลายพระหัตถ์กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวหิน, ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2460)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดพระมหาพิชัยยุทธ ในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงดาบคาบค่าย (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อย่างไรก็ตามหลังจากที่สยามได้ประกาศเข้าร่วมสงครามรัฐบาลสยามได้พยายามแสดงให้เห็นว่าการเข้าร่วมสงครามในครั้งนี้มีความประสงค์ที่จะให้การช่วยเหลือชาติฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างแท้จริง มิใช่การเข้าร่วมแต่เพียงในนามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กระทรวงการต่างประเทศจึงมีหนังสือแจ้งแก่รัฐบาลของชาติสัมพันธมิตรเพื่อให้แจ้งความประสงค์ของชาติต่าง ๆ ว่าต้องการให้รัฐบาลสยามช่วยเหลือสิ่งใดบ้าง

ทางรัฐบาลอังกฤษจึงติดต่อกลับมาทางรัฐบาลสยามเพื่อขอเช่าเรือกลไฟจำนวน 7 ลำซึ่งรัฐบาลสยามได้ยึดมาจากศัตรู นอกจากนี้ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้สยามจัดส่งน้ำมันละหุ่ง (สุจิรา ศิริไปล์, 2528, น. 93) ข้อเรียกร้องทั้งสองข้อดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใดสำหรับรัฐบาลสยามซึ่งได้ดำเนินการจัดส่งเรือ และน้ำมันละหุ่งให้ตามที่ทั้งสองชาติได้ร้องขอมา แต่ข้อเรียกร้องที่กลายเป็นประเด็นสำคัญในเวลาคือข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสที่ต้องการให้สยามจัดส่งหน่วยพยาบาล คนขับรถยนต์ และนักบินไปช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร (หจช., กต. 65.16 ฝรั่งเศสขอไม้สัก, ไม้แก่น, คนพยาบาล, นักบินอาสา ลงวันที่ 5 กันยายน 2460)

แม้ว่าท่าทีในตอนแรกของรัฐบาลสยามจะลังเลกับการส่งทหารเข้าร่วมรบในครั้งนี้ โดยเฉพาะหน่วยพยาบาล และคนขับรถยนต์ซึ่งทางสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีพระดำริว่าคงไม่สามารถส่งกำลังทหารในส่วนนี้เข้าไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรได้ คงมีแต่นักบินที่ทางรัฐบาลสยามจะสามารถจัดหาคนให้แก่ทางกองทัพฝรั่งเศสเพื่อให้ทางกองทัพฝรั่งเศสทำการฝึกทหารเหล่านี้เป็นนักบินอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตามทางสยามจะรับผิดชอบในส่วนเบี้ยเลี้ยง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของทหารในขณะที่ประจำการอยู่ในยุโรป แต่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกทหารเหล่านี้เพื่อเป็นนักบินเอง รวมทั้งยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทางกองทัพฝรั่งเศสต้องจัดหาให้แก่ทหารสยามที่จะเดินทางไปรบ (หจช., กต. 65.16 ฝรั่งเศสขอไม้สัก, ไม้แก่น, คนพยาบาล, นักบินอาสา ลงวันที่ 5 กันยายน 2460)

ในขณะเดียวกันนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการกลับทรงไม่เห็นด้วยกับพระดำริของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โดยพระองค์ทรงมีพระดำริว่าควรทำตามข้อเสนอขอทางรัฐบาลฝรั่งเศส พร้อมกันนี้ก็ได้ทรงตกปากรับคำกับทางทูตฝรั่งเศสว่าจะทำตามความต้องการของทางฝรั่งเศสทุกประการ จึงเป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงยินยอมให้กองทัพสยามส่งแพทย์ทหาร และคนขับรถยนต์เข้าร่วมสงครามในครั้งนี้ (หจช., กต. 65.16 ฝรั่งเศสขอไม้สัก, ไม้แก่น, คนพยาบาล, นักบินอาสา ลงวันที่ 5 กันยายน 2460)

แม้สุดท้ายแล้วสงครามโลกกลับยุติลงก่อนที่นักบินไทยจะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการบินของฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสไม่มีโอกาสที่จะใช้ทหารไทยเหล่านี้ในการร่วมทำสงคราม แต่สำหรับทหารราบสยามที่ทำหน้าที่ขนส่งยุทโธปกรณ์ให้กองทัพชาติพันธมิตร พวกเขาเหล่านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศเกียรติภูมิของกองทัพสยามให้ปรากฎแต่สายตาชาวโลก

สำหรับกองทัพสยามแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปกว่าเกียรติภูมิที่ได้รับจากการส่งทหารเข้าร่วมสงครามในคราวนี้แล้ว ก็คือกิจการการบินของสยามที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลก อันเป็นผลผลิตของนักบินที่ได้รับการฝึกจากฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1

ก่อนที่สยามจะเข้าร่วมสงครามนั้น กองทัพสยามมีนักบินเพียงไม่กี่นายที่สำเร็จจากโรงเรียนการบินของกองทัพฝรั่งเศส เช่น พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ (สุนี สุวรรณประทีบ) น.อ.หลวงทยานพิฆาฏ (ทิพย์ เกตุทัต) และ น.อ. พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (หลง สินศุข) แต่เมื่อสงครามครั้งที่ 1 ยุติลง ปรากฎว่ามีทหารไทยที่ถูกส่งไปฝึกกับโรงเรียนการบินของฝรั่งเศสสำเร็จการศึกษา 94 นาย (Edward E. Young, 1995, น.10) และได้กลายเป็นกำลังสำคัญของกิจการการบินของสยามในเวลาต่อมา

การส่งทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของกองทัพสยามอาจไม่ได้เริ่มจากความเต็มใจของผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น แต่สุดท้ายแล้วการส่งทหารเข้าร่วมสงครามในคราวนี้ได้ทำให้สยามมีโอกาสยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติผู้แพ้สงคราม และได้เป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในเวลาต่อมา