ขันทีแห่งกรุงศรีอยุธยา : นักเทษ-นายกำนัล-ยูนุค ถูกตอนจริงไหม ตอนที่ไหน?

ขันที
ภาพขันทีแขกที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่อแบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)

กรุงศรีอยุธยามี “ขันที” ไหม ถ้ามีแล้วเรียกขานว่าอะไร มาจากไหน คำตอบทั้งหมดนี้ อาจารย์จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ เคยเขียนอธิบายไว้อย่างดีในบทความ “ขันทีแขก ในราชสำนักอยุธยา” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ปี 2543 

ขันที มีรากศัพท์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “ขัณฑะ” แปลว่าตัด เป็นคำเรียกผู้ชายซึ่งถูกตอน หรือตัดอวัยวะเพศ ตรงกับคำในภาษาจีนว่า “ไท้ก่ำ” เอกสารเก่าสมัยอยุธยาบางทีก็ใช้คำว่า “ขัณฑี” แปลว่าผู้ถูกตัดนั่นเอง

หลักฐานเก่าที่สุดเกี่ยวกับขันทีในราชสำนักสยามคือ กฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา (ช่วงอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง) ซึ่งมีข้อความกล่าวว่า “ถ้าเสด็จหนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีและทนายเรือลง” จากข้อความดังกล่าวแสดงว่ามีเจ้าพนักงานทำหน้าที่เฝ้าติดตามเจ้านายฝ่ายในซึ่งเป็นสตรี เรียกว่า “นักเทษขันที”

นักเทษขันที เป็นคำที่มักพบคู่กันในเอกสารสมัยอยุธยา ยกตัวอย่างกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา กล่าวถึงแบบธรรมเนียมการเข้าเฝ้าของข้าราชสำนักฝ่ายในไว้ดังนี้

“ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช และพระศรีอภัย ขุนราชาข่าน ขุนมโน ปลัดทั้ง 4 นักเทศแลขันที หมื่นศรีสรรักษ์ หมื่นสรรเพธ นายจ่า นายกำนัล มหาดเล็กเตี้ยค่อม”

จากข้อความดังกล่าวได้อ้างถึงนักเทษแลขันที (ในเอกสารเก่าใช้ทั้งคำว่า นักเทษ และนักเทศ) ทั้งยังพูดถึงข้าราชการอีกตำแหน่ง คือ “นายกำนัล” และ “มหาดเล็กเตี้ยค่อม”

“ขันที” ในละคร “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” แต่งกายแบบมุสลิม และเหน็บกริช (ภาพจาก www.khaosod.co.th)

นายกำนัล หมายถึงคนรับใช้ผู้ชาย ส่วนมหาดเล็กเตี้ยค่อม อาจหมายถึงหัวหน้าผู้ควบคุมผู้ใช้แรงงาน เช่นเดียวกับนางเตี้ย นางค่อมของฝ่ายใน หรืออาจจะได้แก่ กลุ่มขันทีแคระ ซึ่งถูกเลี้ยงไว้เป็นตลกหลวง สำหรับให้ความบันเทิงกับเจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายใน อันเป็นธรรมเนียมที่พบอยู่ในฮาเร็มของราชสำนักสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมาน

นายกำนัลคงไม่ได้สังกัดอยู่ในกรมขันที แต่น่าจะขึ้นอยู่กับหัวหน้ามหาดเล็กคือ จมื่นศรีสรรักษ์และจมื่นสรรเพชรภักดี ซึ่งเป็นหัวหน้ามหาดเล็กหลวง ส่วนมหาดเล็กเตี้ยค่อม ถ้าหมายถึงขันทีแคระ ก็ต้องสังกัดอยู่ในกรมขันทีเช่นเดียวกับขันทีอื่นๆ

แม้คำว่า นักเทษขันที มักจะเขียนไว้คู่กัน แต่นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าสองคำนี้อาจเป็นคนละพวก เนื่องจากพบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงเก่ากล่าวถึงพระราชพิธีสมโภชแม่อยู่หัว ซึ่งเป็นตำแหน่งพระชายาของกษัตริย์ มีข้อความกล่าวถึงนักเทษขันทีดังนี้

“พระราชกุมารสมเด็จพระอรรคมเหษีเจ้าขวา พระราชบุตรีซ้าย ลุกเธอหลานเธอแม่เจ้าสนม ออกกำนัลซ้ายนักเทศขวาขันทีซ้าย”

ข้อความดังกล่าวแสดงว่ามีเจ้าพนักงานฝ่ายในที่เป็นชายอยู่ 2 กลุ่มคือ “นักเทษ” กับ “ขันที” เมื่อเวลาเข้าเฝ้านักเทษจะอยู่ฝ่ายขวา ส่วนขันทีอยู่ฝ่ายซ้าย นอกจากนี้ยังมีที่พักคือ “ทิม” แยกกันเป็น 2 ฝ่าย

กาญจนาคพันธุ์ สันนิษฐานว่า นักเทษและขันทีคงเป็นคนละพวก โดยขันทีน่าจะเป็นพวกจีนหรือได้แบบอย่างมาจากจีนเป็นฝ่ายซ้าย เมื่อติดต่อกับแขกก็มีการรับเอาพวกยูนุคของแขกมาใช้ เรียกว่าพวกนักเทษ เป็นฝ่ายขวา ทำนองเดียวกับกรมท่าที่มีกรมท่าซ้ายฝ่ายจีน กับกรมท่าขวาฝ่ายแขก ต่อมาคงมีการรวมนักเทษและขันทีเข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายกัน

กาญจนาคพันธุ์ยังเชื่อว่า นักเทษกับขันทีน่าจะรวมกันในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) เนื่องจากในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน (เชื่อว่าตราในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ไม่มีตำแหน่งนักเทษ มีเฉพาะขันที

อย่างไรก็ตาม เราไม่พบหลักฐานว่ามีขันทีจีนอยู่ในราชสำนักสยาม แต่พบว่าในสมัยอยุธยาโดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ขันทีในวังล้วนเป็นแขกทั้งสิ้น แสดงว่าอาจจะมีการรวมนักเทษกับขันทีเข้าเป็นหน่วยงานเดียวกันแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์

กรม “ขันที”

กรมขันที เป็นหน่วยงานเล็กๆ ขึ้นตรงกับกรมวัง  มีสายการบังคับบัญชาไม่ซับซ้อนนัก เจ้ากรมคือ ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยลวัล (อาจเป็นศรีปลัดวัง-ผู้เขียน) ถือศักดินา  1,000 ปลัดกรมคือหลวงราชานภักดี ชาวพนักงานประกอบด้วย ปลัดจ่านุชิด ปลัดพิพิธ ปลัดมรกต และหัวหน้าองครักษ์คือหลวงศรีมโนราชภักดีองคเทพรักษาองค์ กับหลวงเทพชำนาญภักดีศรีเทพรักษาองค์รักษ์ ซึ่งถือศักดินาเท่ากับออกพระศรีมโนราชฯ ผู้เป็นเจ้ากรม แสดงว่าทั้งสองท่านมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญทีเดียว นอกจากนี้ในกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงเก่ายังระบุชื่อขุนนางในกรมนี้อีก 3 ท่านคือ พระศรีอภัย ขุนราชาข่าน และขุนมโน

ในกฎมณเฑียรบาลกรุงเก่ากล่าวถึงหน้าที่ของนักเทษและขันทีไว้หลายแห่ง เช่นในการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค “ถ้าเสด็จหนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายลง”
ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์อธิบายไว้เช่นกันว่า

“ส่วนห้องประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น ตัวเจ้าพนักงานเป็นสตรีทั้งสิ้น เจ้าพนักงานเหล่านี้จำพวกเดียวมีสิทธิที่ล่วงล้ำเข้าไปได้ เป็นผู้แต่งที่บรรทมและแต่งเครื่องพระกระยาหาร ทรงเครื่องพระองค์ท่านและคอยบำเรอพระยุคคลบาทเวลาเสวย แต่ไม่มีใครจะต้องพระเศียรพระองค์ได้เลยในขณะที่แต่งเครื่องถวาย หรือจะส่งสิ่งไรข้ามพระเศียรก็ไม่ได้ดุจกัน บรรดาผู้รับส่งเครื่องโภชนาการให้แก่ขันที (ยูนุค) ขนไปให้ผู้หญิงห้องเครื่องต้น”

“บรรดานารีในพระบรมมหาราชวังนั้น จะออกไปข้างนอกไม่ได้เลยนอกจากตามเสด็จพระราชดำเนิน พวกขันที (ยูนุค) ก็เหมือนกันไม่ออกไปภายนอก นอกจากจะเชิญกระแสพระราชดำรัสไปจัดการตามพระราชโองการเท่านั้น  ว่ากันว่าพระองค์ทรงมีขันที (ยูนุค) อยู่เพียง 8 ถึง 10 คนเท่านั้น มีทั้งคนผิวขาวและผิวดำ”

นักเทษขันทีคงมีหน้าที่อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในโดยส่วนใหญ่ ทั้งจำกัดบริเวณไม่ให้ออกไปเพ่นพ่านนอกพระราชฐานเช่นเดียวกับนางในทั้งหลาย มีระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดไว้ว่า “อนึ่ง พระราชกุมาร พระราชบุตรี นักเทษขันทีในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนด่านผิดไอยการ”

ขันทีแขก (ของนำเข้า) จากโลกมุสลิม

ปัญหาที่คลุมเครือน่าสงสัยคือ ขุนนางและข้าราชการเหล่านี้ถูกตอนหรือไม่ ถ้าตอนจะถูกตอนที่ไหน ในสยามหรือถูกตอนจากที่อื่น จากข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ นำมาปะติดปะต่อได้เค้าเงื่อนดังนี้

  1. ขุนนางเหล่านี้น่าจะถูกตอนจริง เนื่องจากความจำเป็นที่ขุนนางและข้าราชการกลุ่มนี้ต้องรับใช้ใกล้ชิดกับเจ้านายสตรี ทั้งยังต้องอยู่กับฝ่ายในเกือบตลอดเวลา
  2. สันนิษฐานว่าขันทีในสมัยอยุธยาน่าจะถูกตอนจากที่อื่น คือไม่ใช่ในสยาม บุคคลเหล่านี้น่าจะเป็นพวกที่ทำอาชีพขันทีโดยตรง ซึ่งถือเป็นวิชาชีพหนึ่งในโลกอาหรับ

ระหว่าง ค.ศ. 15-18 ราชสำนักมุสลิมโดยเฉพาะจักรวรรดิออตโตมาน อิหร่าน และโมกุลของอินเดีย มีแบบธรรมเนียมที่ออกจะแปลกประหลาด (ในสายตาคนยุคปัจจุบัน) เช่น การมีฮะรัม (Haram) หรือนางห้าม กับสนัม (Snum) กษัตริย์เหล่านี้ทรงมีวังของนางในเรียกว่า ฮาเร็ม (Harem) ในภาษาอาหรับหรือสะนะนะ (Sanana) ในภาษาอิหร่าน หรือปูรดาร์( Purdar) ในภาษาอินเดีย แปลว่า สถานที่ของนางห้าม ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า “ประเทียบ” อย่างเช่นในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาจะเรียกเรือของฝ่ายในว่าเรือประเทียบ และเรียกนางในว่านางประเทียบ

เมื่อมีนางอยู่ในฮาเร็มมาก จำเป็นต้องมีผู้ควบคุมดูแล คนพวกนี้ต้องมีกำลังพอที่จะป้องกันคนภายนอก จึงจำเป็นต้องใช้บุรุษเพศที่แข็งแรงกว่าสตรี โดยจัดการตอนองคชาติเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้ประกอบกิจกรรมทางเพศกับนางในทั้งหลาย

จดหมายเหตุลาลูแบร์เรียกขุนนางและข้าราชการกลุ่มนี้ว่า ยูนุค (eunuque) ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอิหร่าน หมายถึงผู้ชายที่ตอนแล้ว มีหลักฐานระบุว่ายูนุคหรือขันทีในราชสำนักสยามเป็นขุนนางแขก และน่าจะเป็นขุนนางมุสลิมด้วย

หลักฐานแรก คือ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ซึ่งระบุว่า ยูนุคในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มีทั้งผิวขาวและผิวดำ” โดยยูนุคดำน่าจะเป็นพวกเด็กแอฟริกันที่พ่อค้าอาหรับนำมาขายเป็นทาส บางคนถูกตอนอวัยวะเพศเพื่อให้เป็นยูนุคในฮาเร็มของสุลต่าน  ส่วนยูนุคขาวน่าจะได้แก่ พวกอาหรับ อิหร่าน หรืออินเดีย ที่มีอาชีพด้านนี้โดยเฉพาะ

หลักฐานที่สอง ซึ่งแสดงว่าขันทีในราชสำนักอยุธยาเป็นแขก ได้แก่ ข้อความในกฎมณเฑียรบาลระบุตำแหน่งข้าราชการในกรมขันทีประกอบด้วย พระศรีมโนราช พระศรีอภัย ขุราชาข่าน ขุมโน ปลัดทั้ง 4 นักเทษ และขันที “ขุนราชาข่าน” เป็นตำแหน่งซึ่งแสดงว่าขุนนางผู้นี้น่าจะเป็นมุสลิม เพราะ “ข่าน” เป็นตำแหน่งผู้นำเผ่ามุสลิมในอิหร่าน

รูปฉากกั้นเขตพระราชฐานเป็นรูปขันทีหรือยูนุคแขกอิหร่าน

หลักฐานที่สามคือ ภาพจากจิตรกรรมฝาผนังและภาพลายรดน้ำ ซึ่งเล่าเกี่ยวกับราชสำนักฝ่ายใน

  1. จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดไชยทิศ บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ เป็นภาพเขียนพุทธประวัติ มีรูปของยูนุคแต่งกายตามแบบมุสลิมชาวอิหร่านปรากฎอยู่ร่วมกับกลุ่มนางกำนัลในพระราชวัง
  2. ภาพลายรดน้ำบนผนังหอเขียนวังสวนผักกาด กรุงเทพฯ ซึ่งท่านเจ้าของวังทรงผาติกรรมมาจากวัดบางกลิ้ง พระนครศรีอยุธยา หอเขียนหลังนี้เดิมเป็นตำหนักประทับรอนแรมของกษัตริย์อยุธยา ปรากฏ “ยูนุค” ดังนี้

ภาพพระสงฆ์เทศนาถวายพระมหากษัตริย์ ใกล้กันเป็นเหล่านางในนั่งฟังเทศน์อยู่โดยมีม่านกั้น มียูนุคแต่งกายแบบแขกกำลังใช้ไม้ไล่ตีพวกขุนนางหนุ่มๆ ที่แอบดูนางใน

ภาพเป็นรูปพระฉาก (กั้นพระทวารระหว่างฝ่ายนอกกับฝ่ายใน) ที่เขียนรูปยูนุคแต่งกายตามแบบมุสลิมอิหร่าน เหน็บกริช และถือไม้เท้า

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าขุนนางในกรมขันทีน่าจะเป็นพวกมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลข้าราชการฝ่ายในโดยตรง

การที่สยามรับคนเหล่านี้เข้ามาสู่ราชสำนักก็เปรียบเสมือนการนำเข้าความศิวิไลซ์จากโลกมุสลิม ซึ่งถือกันว่าเป็นวัฒนธรรมความเจริญของอารยชนในยุคนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ขันทีแขก ในราชสำนักอยุธยา” โดย จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2561