“พระสงฆ์” กับ “การเมือง” ในสยามเมื่อต้องปฏิรูปสู่รัฐสมัยใหม่ ห้วงตะวันตกล่าอาณานิคม

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือรัชกาลที่ 4 และ พระสงฆ์ ธุดงค์ ฉากหลัง เป็น เจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สุโขทัย
รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ภาพวาดโดย นายวุฒิชัย พรมมะลา

ในช่วงสมัยหนึ่งโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐยุคเก่าในประเทศเพื่อนบ้านถูกเปลี่ยนแปลงโดยประเทศเจ้าอาณานิคม พุทธศาสนา และ พระสงฆ์ ต่างเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองร่วมกับประชาชนในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ

การปฏิรูปสู่รัฐสมัยใหม่เริ่มขึ้นเมื่อสยามเผชิญอิทธิพลลัทธิล่าอาณานิคมยุโรป โดย ร.4 ขณะที่ทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” (27 พรรษา) ได้ก่อตั้งคณะสงฆ์นิกายใหม่คือ “ธรรมยุติกนิกาย” (เรียกคณะสงฆ์กลุ่มเดิมซึ่งเป็นส่วนข้างมากว่า “มหานิกาย”) และทรงสร้างปรัชญาการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ผ่านการตีความพุทธศาสนา สร้างแนวคิด “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ที่ถือว่าผู้ปกครองเป็นผู้ปกครองได้โดยความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง และต้องปกครองโดยธรรมเพื่อความผาสุกแห่งมหาชนชาวสยาม หากกษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมก็ถูกถอดถอนได้ ถือเป็นความคิดใหม่ในสมัยนั้น

กระบวนการปฏิรูปตั้งแต่สมัย ร.4- ร.6 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูป แต่เป็นฝ่ายที่ถูกปฏิรูป พระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมหรือมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปมีเพียงพระสงฆ์ชั้นสูงเท่านั้น คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของ ร.5

ท่านทรงสืบทอดประเพณีการตีความพุทธศาสนาแบบแยกทางโลก-ทางธรรม และเน้นความมีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์จาก ร.4 เป็นกำลังทางความคิดของ ร.5 ในการวางระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์ วางรากฐานการศึกษาชาติที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัย ร.5 จนมาถึง ร.6 โดยเฉพาะการสนับสนุน ร.6 ในการผนวกรวมความมั่นคงของพุทธศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความมั่นคงของรัฐ ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ในปี 2475 ก็ไม่ได้มีการแก้ไขโครงสร้างอำนาจปกครองคณะสงฆ์และระบบสมณศักดิ์แบบเดิม ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ 2484 ตามข้อเรียกร้องของยุวสงฆ์คณะปฏิสังขรณ์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ให้สอดคล้องกับทางบ้านเมือง

กฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดโครงสร้างองค์กรปกครองสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ สังฆสภา ประกอบด้วยพระสงฆ์ 45 รูป ซึ่งแต่งตั้งโดยสมเด็จพระสังฆราชตามสมณศักดิ์และความรู้ ทำหน้าที่ร่างสังฆาณัติ กติกาสงฆ์หรือกฎหมายสงฆ์ คณะสังฆมนตรี ทำหน้าที่เหมือนคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการบริหารคณะสงฆ์ โดยมีสังฆนายกทำหน้าที่เหมือนนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดแต่งตั้งโดยสมเด็จพระสังฆราช และคณะวินัยธร ทำหน้าที่เหมือนเป็นตุลาการสงฆ์ มีหน้าที่วินิจฉัยและระงับอธิกรณ์

ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการทหาร พร้อมกับยกย่องสถาบันกษัตริย์ให้โดดเด่นเป็น “สถาบันกษัตริย์ยุคใหม่” ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความศักดิ์สิทธิ์ ความชื่นชอบของประชาชน และความเป็นสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ได้ยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ 2484 ตรา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ 2505 ขึ้นแทน โดยกลับไปใช้ระบบการปกครองสงฆ์แบบสมัย ร.5 ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คณะกรรมการมหาเถรสมาคมเพียงคณะเดียว โดยไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบเผด็จการของบ้านเมืองในยุคนั้น

รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐไทย เป็นรูปแบบที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นปกครองร่วมกับพระสงฆ์ระดับสูงที่อยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐมาโดยตลอด รูปแบบความสัมพันธ์จึงมีพัฒนาการมาในทางที่คณะสงฆ์ต้องพึ่งพาการอุปถัมภ์จากรัฐ และเป็นกลไกอำนาจรัฐมากขึ้นโดยลำดับ

ผลที่ตามมาคือ การสร้าง “มายาคติ” ว่า การที่พระสงฆ์ทำหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐ เช่น การเทศนาปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แก่ประชาชน ย่อมไม่ถือว่า “ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” แม้แต่พระสงฆ์บางรูปบางกลุ่มจะอ้างอุดมการณ์นั้นสนับสนุนความรุนแรงในการจัดการกับฝ่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างออกไป เช่น การประณามขับไล่คนที่พวกตนกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ว่าไม่ใช่คนไทย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์แบบที่สถาปนาขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา ได้ทำให้องค์กรสงฆ์เป็น “องค์กรแบบราชการ” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายในของคณะสงฆ์แบบที่เคยมีมาแต่เดิม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบมี “ความเป็นสังคม” พระสงฆ์พึ่งพาปัจจัยสี่จากชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็พึ่งพาพระสงฆ์ในทางปัญญา การรักษาประเพณีวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ภายในองค์กรสงฆ์และระหว่างองค์กรสงฆ์กับประชาชน ก็กลายเป็น “ความสัมพันธ์แบบกลไก”

เรื่องราวของ “พระสงฆ์” กับการเมืองไม่ได้มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเพียงในสยาม แต่ยังมีหลายประเทศในอุษาคเนย์ ซึ่ง ในพม่า ลาว และกัมพูชาก็มีลักษณะรูปแบบที่คล้ายกัน

ศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ “พระสงฆ์กับการเมืองในอุษาคะเนย์” โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุรพศ ทวีศักดิ์. “พระสงฆ์กับการเมืองในอุษาคะเนย์”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 5 มกราคม 2561