“โขน” กับ “โกลัม”

โขนของไทยต่างกันกับ “ละคร” ตรงที่โขนสวมหัวให้เป็นเทพ, ลิง, ยักษ์, ผิดกับมนุษย์ เขมรเขียนคำว่า “โขน” ว่า “โขล”

ทางแดนเกระละมีการละครหลายแบบที่ต้องแต่งหน้า, ใส่หน้ากากหรือสวมหัว, ที่ทำให้ตัวแสดงแปลงจากมนุษย์ธรรมดาเป็นเทพ, ลิงหรือยักษ์ เขาเรียกการแปลงนี้ว่า “โกลัม”, ผิดกับ “ภารถนาตยัม” ที่เป็นละครแท้ๆ ไม่เสริมหน้าไม่ใส่หัว และไม่เรียกว่า “โกลัม”

“ตุลลัล” (โขนชาวบ้าน) ไม่เก่าแก่มากนัก, แต่มีตำนาน ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ ปีมานี้ ตุลลัลเป็นชุดละครขนาดเล็ก เหมาะที่จะเร่ร่อนแสดงตามหมู่บ้านทั้งคณะมีสี่คน คนหนึ่งตีกลองมฤตึงค์ คนหนึ่งตีฉิ่ง คนหนึ่งช่วยเจรจาและคนรำแสดงได้ทุกบท เดี๋ยวเป็นพระราม, เดี๋ยวเป็นนางสีดา, เดี๋ยวเป็นหนุมาน, ละครตุลลัลเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่ชาวบ้าน เพราะใช้ภาษาพื้นเมือง (ไม่ใช่สันสกฤต) และแซมตลก

ในหนังสือ Performing Art of kerala (Mapin Publishing Pvt. Ltd., Ahmedabad, 1994) หน้า ๖๔ อธิบายคำว่า “โกลัม” ดังนี้ “โกลัม (Kolam) คือ หน้ากากหรือเครื่องสวมหัว (mask-cumhead gear) ของเทพหรือเทพีที่นักแสดงสวม และอาจจะขยายถึงท่อนบนของร่างกายด้วย”


คัดข้อมูลจาก : หนังสือ “ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง)”. โดย ไมเคิล ไรท. มติชน. ๒๕๕๑