ปริทัศน์หนังสือ “กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย” อีกมุมของสามัญชนจีนอพยพ

ภาพหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ 6 กรกฎาคม 2517 เสนอข่าวจลาจลพลับพลาไชย

สรุปประเด็น กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย ของอาจารย์สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

เหตุการณ์จราจลบนถนนพลับพลาไชยในแบบเรียนและการรับรู้ถึงเหตุการณ์ครั้งนี้น้อยคนที่จะตระหนักถึง ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ตั้งแต่ชื่อขึ้นต้นด้วย ด.ช. จนถึงผู้ใหญ่วัย 50 เหตุการณ์ครั้งนี้ผู้ร่วมเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเป็นสามัญชนจีน? (จีนจน) 

คนจีนอพยพมาไทยมีจนด้วยหรือ? แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ชาวจีนอพยพในประเทศไทยเราจะนึกถึง เจ้าสัว ที่มีเรื่องราวในแนวเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาอาศัยพระบรมโพธิสมภารจนประสบความสำเร็จ โดยได้เบียดขับเรื่องราวของคนจีนอพยพที่ไม่ประสบความสำเร็จออกจากประวัติศาสตร์การรับรู้เรื่องราวของคนจีน

กล่าวโดยย่อชาวจีนอพยพนั้นได้เข้ามาในไทยตั้งแต่อยุธยาจนเรื่อยมาในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีการตั้งชุมชนและต่อมาขยับขยายเรื่อยมาตามการขยายถนนจนสร้างตึกแถวตามถนนได้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เยาวราชและสำเพ็งและขยายเพราะความแออัด โดยที่การขยายตัวของชุมชนจีนจะมีมากขึ้นตามถนนที่ขยายตัวและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปทุมวัน บางรัก คลองสาน พลับพลาไชย เป็นต้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2510 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและเปิดโอกาสให้ผู้คนขยับฐานะทางสังคมได้จึงเป็นผลให้เกิดการแย่งชิงและแข่งขันกันสูง ซึ่งมีชาวจีนที่ประสบความสำเร็จช่วงชิงที่ดินและเข้ากับระบบอุปภัมถ์ราชการไทยได้จึงส่งผลให้ขยับฐานะไปเป็นชนชั้นกลางถึงระดับเจ้าสัว ส่วนชาวจีนที่ไม่ประสบความสำเร็จต้องถูกเบียดขับทั้งการถูกไล่ที่ เกิดความไม่มั่นคงในชีวิต แออัดอยู่ในสลัม และถูกวางเพลิงเพราะนายทุนต้องการที่ดิน (นายทุนบางครั้งก็คือชาวจีนด้วยกันเองที่ประสบความสำเร็จ)

ความกดดันของสามัญชนจีน (จีนจน) ในช่วงนี้มีอย่างมหาศาลทั้งแรงขับทางเศรษฐกิจและการที่ชาวจีนถูกทำให้เป็นปีศาจคอมมิวนิสต์ที่เป็นอันตรายต่อ “ความเป็นไทย” ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงทำให้คนจีนจนถูกกดทับอัตลักษณ์เกิดเป็นปมด้อยเเละความสับสน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่โดนทางบ้านอยากให้รักษาความเป็นจีน แต่สังคมประณามความเป็นจีน จึงเกิดเป็นความกดดันเห็นได้จากการเปลี่ยนจากแซ่เป็นนามสกุลแบบไทย เป็นต้น ความสับสนและแรงกดดันของสังคมได้ทำให้สามัญชนจีนเริ่มต่อสู้แสวงหาความอยู่รอดในสังคม

อาวุธของชาวจีนจนมาจากแรงกดดันของสังคมที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของพวกจีนจนได้เป็นผลให้พวกเขาแสวงหาที่ทางเพื่อเอาตัวรอดในสังคมได้ เช่น ตั้งกลุ่ม (เพราะชอบถูกราชการกดขี่รังแกรีดไถ่สินบน) การลักลอบขายของจีนแดง หรือนิยายกำลังภายใน ที่เนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้บู๊โดยมีวีรชนที่มีวรยุทธ์ต่อสู้กับเหล่าอธรรม (ตัวแทนของฝ่ายรัฐ) เช่น มังกรหยก หรือการที่พระเอกพยายามหลุดพ้นจากพันธนาการของรัฐและสังคมอย่าง อุ้ยเซียวป้อ ที่เป็นคนพร้อมด้วยอุบายละโมบ เที่ยวสตรี ซึ่งล้วนแต่ออกจากกรอบที่รัฐกำหนด

กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย

อาชาญกรและอาชญากรรมไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า แต่เกิดจากความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์การจับเเท็กซี่ชาวจีนในสน.พลับพลาไชย และมีการตะโกนว่าตำรวจซ้อมประชาชน เป็นผลให้เกิดความชุลมุนซึ่งก่อให้เกิดการจราจลและการปะทะขึ้นตั้งแต่วันที่ 3-7 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 อย่างสะเปะสะปะ มีการปราบชุมนุมโดยใช้กระสุนจริง ส่งผลให้ชาวจีนจนจำนวนมากออกมาเพราะความอัดอั้นตันใจ และแรงกดดันที่รัฐพึงกระทำต่อชาวจีนจนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องราวจลาจลบนพลับพลาไชยกลับถูกละเลยให้เป็นเพียงเหตุการณ์ชุลมุนธรรมดาโดยอันพาลละแวกนั้น 

หนังสือเล่มนี้จึงได้ทำหน้าที่ให้เข้าใจถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดแก่ชาวจีนอพยพที่ไม่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่การจราจลที่ไม่มีที่มาที่ไปหรือความอัดอั้นเพียงชั่วข้ามคืน

จุดเด่นของหนังสือ “กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย” ของอาจารย์สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ คือการเผยให้เห็นแง่มุมอีกมุมหนึ่งของชาวจีนอพยพที่หลุดออกจากการเล่าประวัติศาสตร์แบบกระแสหลัก ซึ่งว่าด้วยการที่คนจีนอพยพเข้ามาอาศัยพระบรมโพธิสมภารจนประสบความสำเร็จ โดยหนังสือเล่มนี้ได้ทำให้เห็นภาพสะท้อนของสามัญชนจีนที่ไม่ประสบความสำเร็จและถูกละเลยไปในประวัติศาสตร์ในแง่ต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรมที่สามัญชนจีนเอาวัฒนธรรมที่คุ้นชินต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่ ไม่ได้ยอมกลืนกลายง่าย ๆ แบบกระแสหลักเสื่อผืนหมอนใบ เพราะพวกเขาถูกกดขี่โดยรัฐ หรือในแง่การเมืองที่รัฐส่วนกลางมองว่าคนจีนจนหรือสามัญชนเหล่านี้แปลกแยก และต้องรีบจัดการเพื่อให้เข้ากับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ว่าด้วยความสามัคคีภายใต้ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. (2555). กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2564