ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“จลาจลพลับพลาไชย” เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนในสังคมมีความหวาดระแวงรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตึงเครียด และยังเป็นช่วงเวลาที่ “ข่าวลือ” ยังคงสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ “14 ตุลา”
3 กรกฎาคม
20.30 น. นายพูน ล่ำลือประเสริฐ หรือฝู แซ่หลู่ อายุ 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ ได้จอดรถในที่ห้ามจอดบริเวณป้ายจอดรถประจำทางหน้าบริษัทนครหลวงประกันชีวิต ตำรวจสายตรวจ 2 นายสั่งให้เคลื่อนรถ แต่นายพูนขัดขืน ตำรวจจึงจับกุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย แต่นายพูนไม่ยอม
ตำรวจจึงวิทยุสื่อสารขอกำลังเสริม ตำรวจอีก 2 นายมาช่วยจับกุม ขณะนั้นนายพูนยังคงขัดขืนและได้ตะโกนว่า “ตำรวจทำร้ายประชาชน” ประชาชนละแวกนั้นมามุงดู และตามตำรวจจับกุมตัวนายพูนมาจนถึงสถานีตำรวจ
21.30 น. ประชาชนนับพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น รวมตัวบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย มีการลือบอกต่อ ๆ กันว่าตำรวจทำร้ายประชาชน จากนั้น ประชาชนเริ่มขว้างปาสิ่งของใส่สถานีตำรวจ ตำรวจจึงใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็กชี้แจงว่าไม่ได้ซ้อมประชาชน โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมชี้แจงด้วย แต่ไม่เป็นผล แม้จะนำตัวนายพูนออกมาชี้แจงกลับไม่มีใครรับฟัง
ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เดินทางมายังสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย แต่สถานการณ์ไม่มีที่ท่าคลี่คลาย ขณะที่ประชาชนยังคงทะยอยเดินทางมาสมทบอย่างต่อเนื่อง มีนายเกรียงศักดิ์ เคราะห์ดี เลขาธิการศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนายธีรยุทธ บุญมี มาสังเกตการณ์
ดึกวันนั้น ไฟฟ้าดับ และเกิดเพลิงไหม้ที่ตัวอาคารสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย ประชาชนได้กรูกันไปบนสถานีตำรวจแล้วใช้สิ่งของขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำลายข้าวของ และพยายามปล่อยผู้ต้องขัง เหตุการณ์ถึงจุดปะทะเดือด ตำรวจได้ใช้ปืนยิงต้านประชาชนจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จนมีการลือบอกต่อ ๆ กันไปอีกว่าตำรวจยิงประชาชน ขณะที่ภายนอกสถานีตำรวจ รถของตำรวจถูกขโมยหรือทำลาย มีการเผายางขวางถนน และรถบรรทุกสิบล้อถูกพลิกคว่ำขวางถนนที่แยกหมอมี
4 กรกฎาคม
เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นจลาจลอยู่ร่อมร่อ ราว 02.00 น. นายเกรียงศักดิ์ถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บ เวลาต่่อมาได้ปิดการจราจรถนนหลายสายในบริเวณใกล้เคียง
05.00 น. เหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ในเช้าวันนั้น ตำรวจเคลื่อนกำลังไปตามถนนพลับพลาไชย ถนนสันติภาพ และถนนเจริญกรุง ขณะเข้าเคลียร์พื้นที่ได้จับผู้ก่อเหตุที่พยายามยึดรถไฟฟ้าที่จะเข้ามาแก้ไขไฟฟ้า จำนวน 2 คน และสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุความวุ่นวายได้อีก 13 คน
ตำรวจรายงานว่าผู้ก่อเหตุช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นอันธพาลที่พึ่งได้รับการปล่อยตัวและมีความรู้สึกเกลียดชังตำรวจอยู่ก่อนแล้ว และชักจูงก่อกวนให้ประชาชนเข้าใจตำรวจผิด
จากการปะทะในคืนนั้น ประชาชนเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 21 คน ส่วนตำรวจได้รับบาดเจ็บ 5 คน โดยตำรวจหนึ่งนายถูกยิงขาซ้ายทะลุ
09.00 น. พลตำรวจเอก ประจวบ สุนทรางกูร อธิบดีกรมตำรวจ มาถึงสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย ตำหนิตำรวจในท้องที่ที่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย และสั่งให้เปิดถนนทุกสาย
ต่อมา ศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ไม่กระทำการผิดกฎหมาย และกล่าวว่า ใครที่ฝ่าฝืนกฎหมายถือเป็นบุคคลบ่อนทำลายชาติและบ่อนทำลานสันติสุขของคนไทย
11.00 น. ครอบครัวของตำรวจที่อาศัยอยู่บริเวณสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยอพยพออกจากพื้นที่
14.00 น. นายวีระ ถนอมเกลี้ยง ประธานศูนย์กรรมกรแห่งประเทศไทยเข้าพบผู้บัญชาตำรวจนครบาล แจ้งว่า คนขับรถแท็กซี่หลายคนไปร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรม และบอกว่าจะรวมตัวประท้วงอีก
15.30 น. ตำรวจได้รับรายงานว่า “กุมารจีน” ได้วางแผนจะชิงตัวผู้ต้องหาที่เป็นพรรคพวกของตน ตำรวจจึงย้ายผู้ต้องขัง 31 คน ออกจากสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย
เย็นจนถึงช่วงหัวค่ำ ประชาชนมามุงอยู่ห่าง ๆ ฝั่งตรงข้ามหน้าสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยอีกครั้ง เมื่อใกล้เวลาค่ำ ตำรวจหน่วยคอมมานโดประมาณ 100 นายพลักดันประชาชนให้สลายตัวโดยการวิ่งกรูและยิงปืนขู่ ประชาชนแตกฮือไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ แต่ไม่มีทีท่าสลายตัว
20.00 น. ผู้ก่อเหตุที่แฝงตัวในหมู่ประชาชนได้ยึดรถ ร.ส.พ. (องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์) แล้วพยายามขับฝ่าแผงกั้นด้านถนนแปลงนามเข้าถนนพลับพลาไชย ตำรวจยิงสะกัด รถหยุดห่างจากสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเพียง 200 เมตร จนผู้ก่อเหตุบนรถกระโดดหนี แต่ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุบางส่วนได้ 4 ราย
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ก่อเหตุพยายามยึดรถบรรทุก รถพยาบาลในหลายพื้นที่ รวมถึงปั๊มน้ำมัน เพื่อนำน้ำมันมาใช้ทำระเบิดขวดหรือระเบิดเพลิงต่อสู้กับตำรวจ
21.00 น. ผู้ก่อเหตุกลุ่มหนึ่งระดมขว้างปาสิ่งของใส่ป้ายสัญญาณจราจรบริเวณแยกวัดตึก ขณะที่ย่านวังบูรพา ผู้ก่อเหตุพยายามบุกปล้นปืนจากร้านค้า แต่ถูกเจ้าของยิงสวนออกมาจึงไม่ประสบผลสำเร็จและแตกกระเจิงไป
ตลอดทั้งคืนผู้ก่อเหตุพยายามยึดรถเพื่อนำมาขวางถนนและจุดไฟ รวมถึงนำน้ำมันมาใช้ทำระเบิดเพลิงหรือระเบิดขวดต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ราวเที่ยงคืน มีรายงานข่าวจากกองอำนวยการรักษาความสงบว่าได้ตัดสินใจที่จะส่งทหารส่วนหนึ่งเข้าไปปฏิบัติการแทนตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุเป็นวัยรุ่นได้ข้ามไปที่วงเวียนใหญ่ ยึดรถประจำทาง และพยายามชักจูงให้ประชาชนเข้าร่วมโดยอ้างว่าที่พลับพลาไชยมีประชาชนถูกฆ่า
5 กรกฎาคม
ล่วงเข้าวันที่ 3 ของเหตุการณ์ รัฐบาลออกแถลงการณ์กลางดึก จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อจากนั้น ทหารลำเลียงกำลังและอาวุธมุ่งไปยังสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ เช่น พระบรมมหาราชวัง ปั๊มน้ำมันสามทหาร สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย โรงไฟฟ้า พระที่นั่งอนันตสมาคม หัวลำโพง เยาวราช สวนมะลิ ถนนเจริญกรุง วงเวียน 22 กรกฎาคม โรงพยาบาลกลาง ฯลฯ
ผู้ก่อเหตุยังคงพยายามยึดรถประจำทางและปล้นน้ำมันตลอดกลางดึก กระทั่งราว 01.30 น. ผู้ก่อเหตุราว 50 คนบุกไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อยึดรถพยาบาลและชิงตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ จึงเกิดปะทะกับตำรวจที่รักษาการณ์อยู่ ตำรวจจับกุมได้ 44 คน การปะทะขยายไปยังบริเวณถนนพระราม 4 ผู้ก่อเหตุใช้จักรยานยนต์และรถยนต์ที่ยึดมาไปทำลายตู้ยามและป้อมไปตลอดถนน ขณะที่ทางด้านแยกหมอมี มีผู้ก่อเหตุแบกศพไปตามถนนแล้วตะโกนร้องว่าเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนตาย
02.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม
การปะทะเดือนต่อมามีขึ้นในบริเวณหัวลำโพง ผู้ก่อเหตุราว 100 คน เคลื่อนตัวมาจากวงเวียน 22 กรกฎาคมมาสมทบกับผู้ก่อเหตุที่หัวลำโพง จากนั้นได้ปะทะกับทหารและตำรวจอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
จนเมื่อใกล้ถึงเวลาฟ้าสาง เหตุการณ์ค่อย ๆ ลดลงและสลายไป
เช้าวันนั้น ตำรวจได้เปิดการจราจรเป็นปกติ สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยได้รับความเสียหาย เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง บริเวณโดยรอบก็มีความเสียหายหลายส่วน เช่น ป้ายจราจร ป้ายชื่อถนน สัญญาณไฟจราจร ฯลฯ
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม รายงานข่าวเหตุการณ์ของวันที่ 5 ไว้ว่า แต่เดิมที่มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 26 รายนั้น ถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตรวมเพิ่มเป็น 26 ราย บาดเจ็บเพิ่มรวมเป็น 79 ราย
ในวันนั้น อธิบดีกรมตำรวจให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์จลาจลเป็นฝีมือของพวกวัยรุ่นเกเรกับพวกอันธพาลเป็นผู้ยุยงก่อเหตุ ขณะที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่ามีแก๊งมังกรและแก๊งอินทรีเข้าก่อความวุ่นวายด้วย และคาดว่าทั้งสองแก๊งอาจก่อความวุ่นวายอีกในคืนนี้
18.00 น. มีการยิงต่อสู้ที่ถนนอิสรานุภาพ หน้าสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 2 คน
19.15 น. ผู้ก่อเหตุราว 200-300 คน เป็นลูกชาวจีนวัยคะนองที่เรียกกันว่า “กุมารจีน” มีอาวุธปืน มีด และไม้ ยกกำลังจากท่าน้ำราชวงศ์ไปยังสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย เกิดปะทะกันที่แยกจักรวรรดิ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก
ราว 20.00 น. ชาวจีนทั้งวัยรุ่นและวัยฉกรรจ์ถึงกลางคนราว 300 คน จับกลุ่มกันบริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่เล็กน้อย ขณะที่แยกหมอมีบริเวณหน้าธนาคารเอเชีย ผู้ก่อเหตุจำนวนหนึ่งใช้ระเบิดขวดโยนเข้าใส่สถานที่ต่าง ๆ ตำรวจยิงสกัดจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน
ตลอดค่ำมีการปะทะกันระหว่างผู้ก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ประปราย โดยผู้ก่อเหตุใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ก่อเหตุป่วยตามจุดต่าง ๆ บางส่วนถูกจับกุมตัวไว้ได้
6 กรกฎาคม
01.10 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่า ผู้ก่อเหตุพยายามบุกปล้นร้านปืนเพื่อนำปืนและกระสุนมาใช้ก่อเหตุ หมายขยายความวุ่นวายให้ประชาชนตื่นตระหนก และแถลงว่ารัฐบาลยังคงควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
08.00 น. ตำรวจนำกำลังตรวจค้นตามสถานที่ต่าง ๆ ที่คาดว่าผู้ก่อเหตุไปหลบซ่อนมั่วสุม แต่ไม่พบตัวและอาวุธหรือหลักฐานใด ๆ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า ผู้ก่อเหตุเป็นผู้อยู่อาศัยหรือเข้ามาอาศัยในครอบครัวบ้านเรือนประชาชนในแถบนั้น กลางวันจะอยู่กระจัดกระจายกันไป กลางคืนจะแอบเข้ามายิงเจ้าหน้าที่หรือก่อเหตุร้ายอื่น ๆ
ต่อมา อธิบดีกรมตำรวจรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตรวม 27 คน บาดเจ็บรวม 120 คน นอกจากนี้ยังให้นายกสมาคมแต้จิ๋วออกประกาศเตือนวัยรุ่นลูกครึ่งอย่าทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่และอย่าออกจากบ้านในเวลากลางคืน
ช่วงบ่ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ สหพันธ์นักศึกษาเสรี และขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกประกาศตั้งหน่วยงานรับข้อเท็จจริงจากประชาชน และออกแถลงการณ์คัดค้านการปราบปรามด้วยความรุนแรง
ช่วงเย็นถึงหัวค่ำมีการก่อเหตุปั่นป่วนประปราย ผู้ก่อเหตุขี่รถจักรยานยนต์แล้วถีบถังขยะเกลื่อนถนนบ้านหม้อ รวมถึงนำถังขยะมาขวางกั้นถนนบริเวณหน้าร้านขายทองตั้งโต๊ะกังเยาวราช
21.40 ตำรวจถูกลอบยิงบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง
เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 7 กรกฎาคม หลังมีการก่อเหตุเล็กน้อยในคืนวันที่ 6 กรกฎาคม
ไพศาล ศรีจรัสจรรยา นักหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ผู้เคยถูกตำรวจซ้อมเนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นพวก “กุมารจีน” กล่างถึงเหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชยว่า “เป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว อุบัติเหตุที่บังเอิญเกิด”
อ้างอิง :
สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. (2555). กบฏจีนจน “บนถนนพลับพลาไชย”. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2563