พม่า : ศัตรูที่ไม่มีตัวตน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

พม่า ศัตรู ไทย
ภาพจิตรกรรมสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์

ทางการ “พม่า” ไม่ค่อยชอบละครเรื่องนายขนมต้มนัก เพราะ “ข้าศึก” ในละครเป็นพม่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ พม่าอ้างว่า ยุคโลกานุวัตรแล้วควรพูดถึงความร่วมมือกันดีกว่ามานั่งฟื้นฝอยหาความบาดหมางกันเปล่าๆ ปลี้ๆ

พม่าคงไม่รู้หรอกว่าละครทีวีเป็นเพียงผิวบางๆ ที่ห่อหุ้มมโนภาพในฐานะ “ศัตรู” ของชาติเท่านั้น เพราะถ้าไม่พลิกแบบเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียน หรือขุดสํานึกทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยถูกปลูกฝังเอาไว้ออกมาดู พม่าจะผงะว่ากูระยําได้ถึงแค่นี้เชียวหรือ

ก่อนหน้าที่เราจะสร้าง “ชาติ” ขึ้น คนไทยเคยเกลียดพม่าเข้ากระดูกดําหรือไม่?

ก็เคยนะครับ โดยเฉพาะคนในต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินเมื่อคราวเสียกรุง ผู้ใหญ่ในครั้งนั้นคงสั่งลูกหลานห้ามไม่ให้คบพม่าด้วยความแค้น แต่พม่าไม่ใช่ “ศัตรู” ถาวร เพราะเพียงมาถึงรัชกาลที่ 3 เท่านั้น พม่าก็เสียเมืองบางส่วนแก่อังกฤษ และหมดพิษสงไปเยอะ

คงจํากันได้นะครับว่าพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก่อนสวรรคต ระบุชัดเจนว่า พม่า ไม่ใช่ “ศัตรู” ที่ต้องเฝ้าระวังอีกแล้ว แต่ฝรั่งต่างหากที่เป็น “ศัตรู” อันน่ากลัวของไทย

แสดงว่า “ศัตรู” นั้นแปรเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับสภาพที่เป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศ

เช่น ในตอนต้นอยุธยา หากถามเจ้านายสายเมืองละโว้ก็คงจะชี้หน้าขอมแปรพักตร์หรือเขมรว่าเป็น “ศัตรู” ตัวฉกาจ ต้องรบกันให้รู้ดํารู้แดงไป แต่ถ้าไปถามเจ้านายสายเมืองสุพรรณก็จะชี้ไปทางพิษณุโลก สุโขทัย-ศรีสัชนาลัยโน่นว่านั่นแหละต้องระวังให้ดี ควรปราบเอามาเป็นเมืองออกเสียจะได้สบายใจ

ถามคนสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถก็คงชี้ว่าพวกญวนหรือ ชาวล้านนาสิคือ “ศัตรู” ร้าย ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เราเลิกที่จะเป็นไมตรีกับกรุงอังวะที่อ่อนแอ แทนที่จะเป็นไมตรีกับมอญกบฏซึ่งเพิ่งตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ เพราะราชวงศ์มอญใหม่อาจดึงเอาข้าไพร่เชื้อสายมอญในเมืองไทยกลับไปเมืองมอญหมดก็ได้

ฉะนั้น ถ้าพิจารณาเฉพาะจากสภาพความเป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พม่าเพิ่งเป็น “ศัตรู” ตัวร้ายของไทยก็เฉพาะช่วงสั้นๆ คือเมื่อก่อนเสียกรุง จนถึงช่วงหนึ่งของต้นรัตนโกสินทร์เท่านั้น

แต่พม่ากลายเป็น “ศัตรู” ถาวรของไทยก็ตอนที่ไทยรวบรวมอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลาง อันเป็นฐานให้แก่การสร้างชาติในเวลาต่อมานี้เอง

ในการสร้างจินตนากรรมของความเป็นชาตินั้น นอกจากต้องสร้างรูปธรรมให้จับต้องกันได้หลายอย่าง เช่น ธงชาติ, เพลงชาติ แผนที่, เครื่องแต่งกายประจําชาติ ฯลฯ แล้ว ก็จําเป็นต้องสร้าง “ศัตรู” ของชาติขึ้นอีกด้วย เวทีที่ดีที่สุดสําหรับสร้าง “ศัตรู” ของชาติ ก็คือประวัติศาสตร์แห่งชาติสิครับ

พม่าถูกเลือกให้ได้ตําแหน่ง “ศัตรู” ของชาติในช่วงนี้แหละครับ รายการที่ผมใช้คําว่าถูกเลือก ก็เพราะพม่าลงล็อตพอดิบพอดีที่จะเป็น “ศัตรู” ของชาติ ไม่ใช่เพราะว่าในตอนนั้นพม่าทําอะไรที่ขัดขวางผลประโยชน์ของชาติหรอกครับ ก็ในตอนนั้นไม่มีพม่าด้วยซ้ำ มีแต่จังหวัดพม่าในจักรภพอินเดียของอังกฤษเท่านั้น

เหตุดังนั้น “ศัตรู” ของชาติจึงไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้าหรือผุดขึ้นมาจากอเวจี แต่เป็นการแต่งตั้งเหมือนวุฒิสมาชิกนี่แหละครับ

ตามสภาพความเป็นจริงในตอนนั้นคือราวสมัยรัชกาล 5 ลงมา ศัตรูหรือผู้ที่บั่นรอนผลประโยชน์ของสยามที่สุดคือฝรั่งเศส และอังกฤษ คนไทยที่เจ็บแค้นกับการกระทําของฝรั่งเศสใน ร.ศ. 112 ก็ยังมีอีกเยอะ ถ้าจะสร้างฝรั่งเศสให้เป็น “ศัตรู” ของชาติ ก็คงมีคนพร้อมจะเผาหุ่นฝรั่งเศสในเมืองไทยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

แต่เขาก็ไม่เลือกเอาฝรั่งเศสเป็น “ศัตรู” ของชาติ กลับไปเลือก “พม่า”

รัฐบาลไทยในเวลานั้นก็รู้นะครับว่าฝรั่งเศสเป็นศัตรูที่ต้องเฝ้าจับตามอง ในช่วง 4-5 ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 กองทัพบกจะต้องนําเอากําลังทหารและอาวุธของฝรั่งเศสในอินโดจีนมาประเมินว่า กองทัพไทยพอจะฟัดจะเหวี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนทุกปี การของบประมาณและจัดสร้างกองกําลังของกองทัพก็มีเป้าหมายที่จะต่อกรกับกองกําลังของฝรั่งเศสในอินโดจีน ฉะนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ฝรั่งเศสเป็นเป้าเบ้อเริ่มของความรู้สึกเป็นอริของรัฐบาลไทยทีเดียว

แต่เขาก็เลือกพม่าเป็น “ศัตรู” ของชาติในประวัติศาสตร์แทนฝรั่งเศส อย่างเก่งที่ความไม่ชอบฝรั่งเศสจะปรากฏออกมากในประวัติศาสตร์ก็ซ่อนไว้ระหว่างบรรทัด เช่น อ่านประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์แล้วก็งงๆว่า ตกลงจัสแม็กฝรั่งเศสก็มีบุญคุณที่มาช่วยไทยรบวิลันดา หรือฝรั่งเศสเจ้าเล่ห์เพทุบายจะฮุบเอาเมืองไทยไปเสียเลยก็ไม่แน่ชัด

เหตุที่เลือกพม่าก็เพราะพม่ากําลังพอดีๆ ไม่เล็กขนาดกัมพูชา หรือลาว หรือมลายู ซึ่งในตอนนั้นไทยเห็นว่าเป็นแค่ประเทศราชของไทยที่ถูกฝรั่งแย่งเอาไป จะแต่งตั้งใครเป็น “ศัตรู” ของชาติทั้งที จะให้กระจอกนักก็ไม่ได้

จีน ก็เหมาะจะเป็น “ศัตรู” ของชาติอยู่ เพราะในตอนนั้นจีนก็ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงที่จะมาเป็นศัตรูจริงๆ จึงได้สมญาว่ายักษ์หลับแห่งเอเชีย เสียแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในทางการเมืองแทบจะไม่มีเอาเสียเลย ได้แต่ส่งบรรณาการกันตามจังหวะเท่านั้น ถ้าจีนเป็น “ศัตรู” ของชาติก็หาวีรบุรุษของชาติได้ยาก อาจต้องยกตําแหน่งวีรบุรุษให้แก่ทูตไทยที่ไปปักกิ่งสมัยพระเจ้าตากสิน เพราะทูตได้ต่อสู้กับคณิกาหมวยในเมืองหลวงของจีน จนกระทั่งกลับมาป่วยด้วยโรคบุรุษ

ดูไม่สวยเท่าไหร่

ส่วน ญี่ปุ่น ซึ่งกําลังเริ่มเรืองอํานาจขึ้นในโลกนั้น แม้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์กับคนญี่ปุ่นบ้าง แต่ถ้าเลือกเอาญี่ปุ่นเป็น “ศัตรู” ของชาติขึ้นมา ก็เท่ากับไปจํากัดบทบาทของตัวเองและของญี่ปุ่นในความสัมพันธ์ซึ่งอาจมีความสําคัญแก่บ้านเมืองได้ เช่น ดึงเอาญี่ปุ่นเข้ามาควบอํานาจฝรั่ง เป็นต้น

ดังนั้น แม้ว่าจีนและญี่ปุ่นมีศักดิ์ศรีพอจะเป็น “ศัตรู” ของชาติในประวัติศาสตร์ที่สร้างกันขึ้นในช่วงนี้ได้ดี แต่ก็ไม่เหมาะด้วยสภาพความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศดังที่กล่าวแล้วนี้

เช่นเดียวกับมหาอํานาจตะวันตก ซึ่งแม้คนไทยจะรู้สึกเจ็บแค้นอย่างไร ก็รู้เต็มอกว่ายังไม่มีทางจะสู้รบปรบมือได้ ไม่ว่าในทางอาวุธ, ในทางการค้า, หรือในทางวิทยาการ ซึ่งไทยยอมแพ้ศิโรราบไปตั้งนานแล้ว การแต่งตั้งให้ฝรั่งเศสหรืออังกฤษเป็น “ศัตรู” ของชาติ ทําให้เกิดความอึดอัดในการดําเนินความสัมพันธ์กันเปล่าๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นําของไทยสมัยนั้นก็ยังเห็นว่าฝรั่งเจ้าอาณานิคมเป็นผู้ประกันสถานะเดิมของภูมิภาค มีฝรั่งเป็นนาย เขมร, ลาว, ญวน, พม่า และมลายูจึงดีกว่าไม่มี

ดูโดยรอบแล้วไม่เห็นใครจะเหมาะเป็น “ศัตรู” ของชาติยิ่งไปกว่าพม่า เพราะในช่วงนั้นพม่าไม่มีภัยอันตรายอะไรเลย อันที่จริงพม่าไม่มีตัวตนในการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะไม่มีรัฐพม่าที่เป็นอิสระ “ศัตรู” ของชาติในประวัติศาสตร์ไทยที่สร้างขึ้นรองรับความเป็นชาติของเราจึงไม่มีตัวตน จะสร้างให้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างไร หรือจะสร้างให้เราได้ไล่ต้อนอย่างไรก็ได้ เพราะ “ศัตรู” นี้ไม่มีตัวตน

ตรงข้ามกับที่นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าพม่าเป็นหนามยอกอกไทย เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครนอกจากพม่า

ผมกลับคิดว่าหนามพม่าเป็นหนามของจินตนากรรมที่นักประวัติศาสตร์ไทยในช่วงหนึ่งได้สร้างเอาไว้ เพื่อให้ชาติไทยมี “ศัตรู” ประจําชาติเป็น “ศัตรู” ที่มีศักดิ์ศรีพอฟัดพอเหวี่ยงกับไทย แต่ไม่มีตัวตนให้ต้องมากังวลว่าจะสัมพันธ์กับ “ศัตรู” ในอดีตรายนี้อย่างไร

ประวัติศาสตร์สํานวนนี้ยังเป็นฐานของประวัติศาสตร์ไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ถือได้ว่าเป็นสํานวนที่ให้สํานึกทางประวัติศาสตร์แก่คนไทยมากที่สุด เพราะผ่านการศึกษามวลชนของสังคมสมัยใหม่

ด้วยเหตุดังนั้น แม้ว่าสภาพที่เป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว และแม้ว่าพม่ากลับมีตัวตนขึ้นมาใหม่แล้วก็ตาม แต่ “ศัตรู” ของชาติในสํานึกทางประวัติศาสตร์ของคนไทยกลับเป็น “พม่า” เมื่อร้อยปีที่แล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งที่คนไทยปัจจุบันถูกจองจําด้วยจินตนากรรมของศตวรรษที่กําลังจะปิดฉากลง

ชาติอาจมี “ศัตรู” ได้อีกมาก และแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อดีตที่จองจําเราเอาไว้อาจทําให้เรามองไม่เห็นและดิ้นรนที่จะต่อสู้กับ “ศัตรู” ของยุคสมัยของเราเอง เช่น แนวทางการพัฒนาที่ฝรั่งครอบงําการค้าเสรีที่กีดกันสินค้าของคนอื่น แต่ทะลุทะลวงเปิดตลาดให้สินค้าของตัวฝ่ายเดียว ฯลฯ ได้แต่ต่อสู้กับพม่า ซึ่งไม่มีตัวตนมากไปกว่านุ่งโสร่งขี่ช้างให้หวาดเสียว

แม้ละครกะหลาป๋าทั้งหลายในทีวีจะไม่ออกชื่อพม่าอีกเลย เพื่อสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศพม่า แต่พม่าเป็น “ศัตรู” ของชาติในสํานึกทางประวัติศาสตร์ของคนไทย ไม่ได้เป็นศัตรูเพียงในละครกะหลาป๋าเท่านั้น

การเปลี่ยนสํานึกทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่และลึกกว่าคําสั่งห้ามออกชื่อพม่าในทีวีมากนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความเผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 855 ประจำวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2540 และรวมเล่มใน “ว่าด้วย ‘การเมือง’ ของประวัติศาสตร์และความทรงจำ นิธิ เอียวศรีวงศ์” (มติชน, 2545)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2562