ศิลปะของ “เบิร์น โจนส์”

ในช่วงระยะ 20 ปีหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงที่คนในวงการศิลปะของประเทศอังกฤษเริ่มให้ความสนใจกับศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ของศิลปินฝรั่งเศสน้อยลงนั้น ศิลปินชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งได้พยายามสร้างสรรค์ผลงานใหม่ขึ้นมาแทนที่ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ กลุ่มที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า “บริติชซิมโบลิสม์” (BRITISH SYMBOLISM) ในกลุ่มของศิลปินดังกล่าวนี้มีศิลปินสำคัญท่านหนึ่งที่มีผลงานอยู่ในคอลเล็กชั่นของสตุ๊ตการ์ท สเตต แกลเลอรี่ หลายชิ้นด้วยกัน ศิลปินท่านนี้คือ เซอร์เอ็ดวาร์ด เบิร์น โจนส์ (SIR EDWARD BURNE-JONES, 1833-1898)

เบิร์น โจนส์ เกิดที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม (BIRMINGHAM) ในประเทศอังกฤษ ขณะศึกษาอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ด ได้พบกับวิลเลี่ยม มอร์ริส (WILLIAM MORRIS) นักออกแบบชื่อดังของอังกฤษ และได้กลายเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันไปในที่สุด บุคคลทั้งสองมีความสนใจในศิลปะของสมัยกลาง (MEDIEVAL ART) และทฤษฎีทางศิลปะของจอห์น รัสกิ้น (JOHN RUSKIN) นักวิจารณ์ศิลปะคนสำคัญในยุคนั้น

ในปี ค.ศ. 1856 เบิร์น โจนส์ ได้เดินทางจากออกซ์ฟอร์ดไปยังลอนดอน เพื่อศึกษาศิลปะจากเกเบรียล โรเชตติ (GABRIEL ROSETTI) ศิลปินสำคัญของกลุ่มพรี ราฟาเอลไลท์ (PRE-RAPHAELITE) เบิร์น โจนส์ ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1859 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัสกิ้น เขาได้ศึกษาผลงานของบอตติเชลลี่ (BOTTICELLI) ศิลปินชาวอิตาเลียน ผู้เขียนภาพกำเนิดของวีนัสอันลือชื่อ และได้นำแบบอย่างของศิลปินผู้นี้มาใช้ในงานของตน

นอกจากนี้ เบิร์น โจนส์ ยังได้รับทำงานออกแบบให้กับมอร์ริส โดยการนำแบบอย่างของศิลปะในสมัยกลางมาผสมผสานกับแบบอย่างของศิลปะสมัยคลาสสิค รูปทรงของคนในงานของเขาจะมีลักษณะยาว มีลีลาอ่อนช้อย และมักจะมีลวดลายคล้ายพืชพันธุ์ปรากฏอยู่ในพื้นหลังของรูปทรงของคนเสมอ ผลงานของเขามีความงดงามแตกต่างไปจากศิลปะของศิลปินคนอื่น ๆ ที่อยู่ในยุคสมัยของพระนางวิกตอเรียขณะนั้นโดยสิ้นเชิง

เซอร์เอ็ดวาร์ด เบิร์น โจนส์ (SIR EDWARD BURNE-JONES, 1833-1898)

เบิร์น โจนส์ ได้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่สำคัญ ๆ เช่น ออกแบบกระจกสีประดับตามหน้าต่างโบสถ์หลายแห่ง ได้แก่ ไครสต์ เชิร์ช (CHRIST CHURCH) ในออกซ์ฟอร์ด ซาลิสเบอรี่ คะธีดรัล (SALISBURY CATHEDRAL) และคะธีดรัล ออฟ เบอร์มิงแฮม (CATHEDRAL OF BIRMINGHAM) เป็นต้น เบิร์น โจนส์ ยังได้ออกแบบโมเซอิคให้กับอเมริกัน เชิร์ช (AMERICAN CHURCH) ในกรุงโรม และออกแบบพรมที่ใช้ประดับตามผนัง (TAPESTRY) อีกด้วย

หากจะกล่าวไปแล้ว เบิร์น โจนส์ มิได้ศึกษาศิลปะจากสถาบันหนึ่งสถาบันใดอย่างแท้จริง เขาเป็นศิลปินที่ฝึกฝนการทำงานศิลปะด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยศึกษาจากผลงานของศิลปินชั้นบรมครูในอดีต และจากผลงานของศิลปินอาวุโสในกลุ่มของพรี ราฟาเอลไลท์ ซึ่งยึดแนวการสร้างสรรค์ในลักษณะของการรื้อฟื้นการเขียนภาพตามรูปแบบของศิลปินในสมัยกลาง

ต่อมาภายหลัง เบิร์น โจนส์สามารถคลี่คลายลักษณะการทำงานศิลปะของตนจากอิทธิพลของศิลปินคนอื่น ๆ ไปสู่ความแปลกใหม่และมีความเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเนื้อหาในภาพเขียนของเขา กลับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายกรีก มิใช่เรื่องราวเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาอย่างที่ศิลปินในกลุ่มพรี ราฟาเอลไลท์ชอบทำกัน เบิร์น โจนส์ อาจเป็นศิลปินคนแรกในรัชสมัยของพระนางวิกตอเรีย ที่เขียนภาพอย่างที่ตนเองต้องการโดยอิสระ ไม่คำนึงถึงการทำงานที่ต้องยึดติดอยู่กับแบบแผนที่ศิลปินคนอื่น ๆ นิยมทำกันมา

ในทศวรรษของปี ค.ศ. 1880 นั้น เบิร์น โจนส์ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำทางด้านสุนทรียภาพ ผลงานของเขาได้รับการสนับสนุนจากนักวิจารณ์หลายท่านด้วยกัน ในราวปี ค.ศ. 1885 ภาพเขียนของเขาได้รับความนิยมอย่างสูง และเมื่อนำออกขายครั้งใดก็มักจะได้ราคาสูงเกินคาดเสมอ เนื่องจากชื่อเสียงของเบิร์น โจนส์ ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1889 เขาได้รับเชิญให้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงที่ปารีส ยูนิเวอร์แซล เอ็กซ์ฮิบิชั่น (PARIS UNIVERSAL EXHIBITION) และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการแสดงครั้งนี้

อย่างไรก็ดี เบิร์น โจนส์ เป็นหนี้บุญคุณต่อผลงานของศิลปินในอดีตหลายท่านด้วยกัน เขานิยมงานจิตรกรรมของเลโอนาร์โด ดาวินชี่, บอตติเชลลี่ และไมเคิล แอนเจโล เป็นพิเศษ เขาได้อิทธิพลจากแบบอย่างศิลปะของศิลปินเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูเหมือนว่า เขาสามารถที่จะขอหยิบขอยืมแบบอย่างเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นลักษณะเฉพาะของตนเองได้อย่างแนบเนียน ด้วยการคลี่คลาย ประยุกต์ และนำมาสร้างขึ้นใหม่

เบิร์น โจนส์ เป็นศิลปินที่มีความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์ ดังนั้นเขาจะไม่นิยมการลอกเลียนงานศิลปะของผู้อื่น โดยที่มิได้ใช้ความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นหลักสำคัญ ผลงานของเบิร์น โจนส์ ได้ให้อิทธิพลแก่ศิลปินรุ่นหลังทั้งในประเทศอังกฤษ และในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการศิลปะในกรุงปารีสได้จับตาดูการเคลื่อนไหวตลอดจนให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ของศิลปินท่านนี้อย่างสูง ศิลปินและนักออกแบบมีชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะของเบิร์น โจนส์ ได้แก่ ออเบรย์ เบิร์ดสเลย์ (AUBREY BEARDSLEY) วอลเทอร์ เครน (WALTER CRANE) รวมทั้งศิลปินอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มของ อาร์ต นูโว (ART NOUVEAU)

ภาพ The Last Sleep of Arthur in Avalon โดย เซอร์เอ็ดวาร์ด เบิร์น โจนส์

เป็นที่น่าสังเกตว่า เบิร์น โจนส์ ชอบทดลองใช้รูปทรงของภาพเขียนในลักษณะต่าง ๆ หากภาพเขียนของเขาเป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงสูงในทางตั้ง เขาจะเขียนคนในภาพให้มีลำตัวยาวผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่ของภาพ ภาพที่ปรากฏกลับดูสวยงามไม่ขัดตา การจัดภาพของศิลปินผู้นี้มักจะจัดในลักษณะที่ให้ความสมดุลภายในภาพเป็นแบบซ้ายขวาไม่เท่ากัน การใช้เส้นที่ปรากฏอยู่บนรอยยับหรือรอยย่นของเสื้อผ้าจะดูเด็ดขาด มีชีวิตชีวาในตัวของมันเอง คือเป็นเส้นทิ้งที่แสดงน้ำหนักของผ้าอย่างชัดเจน

นอกเหนือจากการใช้รูปทรงของภาพที่เขียนเป็นรูปทางตั้งแล้ว เบิร์น โจนส์ ก็ยังใช้รูปทรงในทางกว้างคือทางแนวนอนด้วย การจัดภาพนั้นก็จะให้เป็นไปตามลักษณะเนื้อที่ของรูปทรงของภาพเช่นกัน เส้นที่ปรากฏเป็นรอยยับหรือรอยย่นของภาพอาจจะไม่เป็นลักษณะของเส้นทิ้งดิ่งลงเสมอไป อาจจะมีลักษณะเป็นเส้นขวางหรือเฉียงขึ้นตามลีลาท่าทางของบุคคลที่เขาเขียนให้เหมาะสมกับลักษณะ และขนาดของภาพ สิ่งที่น่าสนใจในภาพเขียนของเบิร์น โจนส์ ที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้นั้น คือการสร้างระยะหรือความลึกซึ่งเป็นมิติในภาพให้ดูลึกมากกว่าความเป็นจริง

เบิร์น โจนส์ เป็นศิลปินที่มีโลกของตนเองแตกต่างไปจากโลกของศิลปินคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน ในภาพเขียนของเขามักจะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในที่ให้ความรู้สึกนิ่งสงบ เยือกเย็น และแฝงไว้ซึ่งความเศร้า ความวิเวกวังเวงอยู่ด้วย ใบหน้าของคนในภาพมักจะนิ่งเฉยราวกับไร้วิญญาณ ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ทั้งสิ้น เสมือนกับอยู่ในโลกแห่งความฝันและจินตนาการ หรือกำลังตกอยู่ในภวังค์ งานของเบิร์น โจนส์ เป็นงานที่มีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจผู้ดูให้ติดตาม อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกอันประหลาดยากแก่การอธิบายให้แก่ผู้ได้พบเห็นเสมอ

ศิลปินท่านนี้มักจะเขียนภาพซึ่งมีขนาดใหญ่ และใช้เวลากับการเขียนภาพมาก บางทีเขาจะเขียนภาพพร้อมกันทีเดียวหลาย ๆ ภาพ เขาชอบเขียนภาพเป็นชุด ชุดที่มีชื่อเสียงมากเป็นภาพชุดที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเพอร์ซิอุส (PERSEUS SERIES) ในเทพนิยายกรีก อันเป็นบทประพันธ์ของ โฮเมอร์ (HOMER) ส่วนหนึ่งของภาพเขียนชุดนี้อยู่ที่สตุ๊ตการ์ทสเตต แกลเลอรี่ ซึ่งผู้เขียนได้นำมากล่าวถึงในครั้งนี้ด้วย

เพอร์ซิอุส เป็นฮีโร่ที่ปรากฏอยู่ในเทพนิยายกรีก เป็นผู้ตัดศีรษะของเมดูสา (MEDUSA) ซึ่งมีศีรษะเป็นงู และเป็นผู้ช่วยแอนโดรเมดา (ANDROMEDA) ให้รอดพ้นมาจากเงื้อมมือของงูยักษ์ในทะเล สำหรับเพอร์ซิอุสที่ปรากฏในภาพเขียนของเบิร์น โจนส์ นั้นมักจะแต่งกายอยู่ในชุดของนักรบ มีดาบเป็นอาวุธ มีปีกที่รองเท้าและที่หมวกคล้ายของเมอร์คิวรี่ (MERCURY)

ภาพแรกที่จะกล่าวถึงนี้เป็นภาพชื่อ “THE FATEFUL STONE” ในภาพจะเห็นแอนโดรเมดาธิดาของกษัตริย์เอธิโอเปีย กำลังถูกล่ามโซ่ตรึงอยู่กับแท่งหินในทะเล เพื่อใช้เป็นเหยื่อสังเวยสัตว์ประหลาด รูปร่างเหมือนงู เมื่อเพอร์ซิอุสเดินทางผ่านมาเห็นแอนโดรเมดาเข้าก็หลงรักทันที ความงดงามของแอนโดรเมดานั้นขึ้นอยู่กับฝีมือของเบิร์น โจนส์ ในการเนรมิตให้มีรูปร่างที่มีลีลาอ่อนหวาน สัดส่วนของสาวงามผู้นี้แม้จะผิดแผกไปจากความเป็นจริงของมนุษย์โดยที่ลำตัวท่อนบนสั้น และช่วงล่างยาวเพรียวผิดปกตินั้นก็ตาม แต่ก็ดูกลมกลืนไม่ขัดตา เส้นโค้งบนลำตัวไม่ว่าจะเป็นที่ช่วงไหล่ เอว สะโพก หรือที่ขา จะรับกันได้จังหวะ

แอนโดรเมดายืนอยู่ในท่าพักแบบประติมากรรมกรีก ก้มหน้า ศีรษะพิงอยู่ที่แท่งหิน ดูหมดอาลัย ส่วนเพอร์ซิอุสกำลังเมียงมองพิจารณาดูโฉมของแอนโดรเมดาด้วยความสนใจ มือข้างหนึ่งถือหมวก และอีกข้างหนึ่งเท้าแท่งหินโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อจะได้ยลสาวงามที่อยู่ตรงหน้าได้เต็มตา ผิวน้ำปั่นป่วน ระลอกคลื่นค่อนข้างแรง ในฉากหลังของภาพเป็นสภาพเมืองที่มีอาคารบ้านช่องลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ คล้ายเมืองในความฝัน ในภาพนี้ เบิร์น โจนส์ ใช้สีส่วนรวมเป็นสีน้ำตาล ตัดกับผิวเนื้ออันผุดผ่องดูอ่อนนุ่มของแอนโดรเมดาอย่างน่าชม

ส่วนภาพ “THE FULFILMENT OF THE FATE” หรือภาพของเพอร์ซิอุสกำลังสังหารงูยักษ์นั้น นับได้ว่าเป็นภาพที่มีการจัดองค์ประกอบสมบูรณ์ที่สุดในชุด PERSEUS SERIES การใช้เส้นของเบิร์น โจนส์ มีจังหวะงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นที่แฝงอยู่ในรูปทรงของงูทะเลที่คดโค้งไปมาน่าดูมาก คือมีทั้งความงามและความน่ากลัวระคนกัน เส้นของลำตัวงูนั้นให้ความรู้สึกที่แข็งแรง เต็มไปด้วยพละกำลัง ในขณะที่เพอร์ซิอุสกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการต่อสู้ เพื่อปลิดชีวิตของงูยักษ์อย่างน่าตื่นเต้น

Gemälde von Edward Burne-Jones

ภาพนี้ของเบิร์น โจนส์ ให้ความรู้สึกในเรื่องของการเคลื่อนไหวมากกว่าในภาพอื่น ๆ ที่เขาเขียน รูปทรงของแอนโดรเมดานั้นได้รับการเน้นให้คมชัด ได้สัดส่วนงดงามตามแบบฉบับความงามของศิลปะคลาสสิค สีในภาพโดยส่วนรวมเป็นโทนสีเขียวคล้ำอมน้ำตาล เครื่องแต่งกายแบบนักรบของเพอร์ซิอุสดูน่าเกรงขาม ในขณะที่รูปทรงอันเปลือยเปล่าของแอนโดรเมดาดูสะอาดหมดจด มีความอิ่มเอิบเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ลักษณะของการใช้รูปทรงและการแสดงความเคลื่อนไหวในภาพนี้อาจเป็นไปได้ว่า เบิร์น โจนส์ ได้รับอิทธิพลมาจาก ไมเคิล แอนเจโล

เบิร์น โจนส์ เขียนภาพนี้ในสมัยของพระนางวิกตอเรีย ซึ่งเป็นสมัยที่ภาพเปลือยแทบจะมิได้มีปรากฏให้เห็นนักในภาพเขียน และดูเหมือนว่า เบิร์น โจนส์ จะเป็นศิลปินคนแรกแห่งยุคอีกเช่นกันที่เขียนภาพเปลือยขึ้นอย่างเสรี เป็นภาพเปลือยที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างความงามตามธรรมชาติและความงามตามแบบอุดมคติ ลักษณะท่าทางในการยืนของแอนโดรเมดานั้นเป็นลักษณะอย่างเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะของกรีก เช่น งานประติมากรรมที่เป็นรูปของวีนัส เป็นต้น

ภาพสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือภาพ “THE DREADFUL HEAD” เป็นภาพของเพอร์ซิอุสกำลังชูศีรษะของเมดูสา ซึ่งเขาเป็นผู้ตัดมาด้วยฝีมือของตนเองให้แอนโดรเมดาดู โดยปกติแล้วหากเมดูสาปรากฏตัวที่ใดก็ตาม ถ้าใครได้พบเห็นแล้วจะต้องกลายเป็นหินไปในทันที คงด้วยเหตุนี้กระมัง เพอร์ซิอุสจึงต้องถือศีรษะของเมดูสาไว้เหนือน้ำ เพื่อให้แอนโดรเมดามองดูว่าเมดูสาเป็นอย่างไรจากเงาที่ปรากฏอยู่ในน้ำ แม้แต่เพอร์ซิอุสเองเมื่อครั้งที่พบกับเมดูสาก่อนที่จะตัดศีรษะได้นั้นยังต้องมองดูเมดูสาจากเงาที่สะท้อนอยู่บนโล่ของเขา ถ้าหากได้เผชิญหน้ากันโดยตรงแล้ว เพอร์ซิอุสคงจะต้องกลายเป็นหินไปอย่างแน่นอน

เบิร์น โจนส์ เป็นศิลปินที่มีฝีมือในการเก็บส่วนละเอียดต่าง ๆ ภายในภาพได้อย่างวิจิตรบรรจง เมื่อดูภาพโดยส่วนรวมจะมีลักษณะเป็นแบบเหมือนจริง แต่ถ้าหากดูในแต่ละส่วนของภาพอย่างพินิจพิจารณาแล้วจะมีรูปแบบเฉพาะตามอุดมคติของเขาเอง บรรยากาศโดยทั่ว ๆ ไปในภาพมักจะให้ความรู้สึกอันลึกลับ ซึ่งมีผลกระทบต่อจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ดูภาพได้ไม่น้อยทีเดียว

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2565