ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ เขียนรูปและเล่าเรื่อง |
เผยแพร่ |
เฮือนลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน สระบุรี “เฮือนลาวขนมปังขิงสกุลช่างจีน” สะท้อนภูมิปัญญาสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น
เมื่อกล่าวถึงงานช่างเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยประเภท เรือนไทยภาคกลาง ในมโนทัศน์การรับรู้ของผู้คนโดยทั่วไปจะคิดถึงแต่ “เรือนเครื่องสับ” หรือ “เรือนแบบคหบดี” ตามขนบนิยมแบบเรือนไทยของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเสมือนประหนึ่งตัวแทนของบ้านไทย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย “แบบชาตินิยม” ซึ่งให้ความสำคัญอยู่ที่ความเป็นไทย แบบเชื้อชาติเดียว อันเป็นวัฒนธรรมศูนย์กลางหรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมหลวง โดยมีลักษณะที่ปฏิเสธความหลากหลายแห่งภูมิปัญญาสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่นอันเป็นวัฒนธรรมราษฎร์ (ชาวบ้าน) และเช่นกัน ผู้คน “เชื้อชาติลาว” ก็เป็นรากเหง้าอีกสาแหรกหนึ่งที่สำคัญ อันมีส่วนร่วมสร้างสถาปนาความเป็นรัฐของชนชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสมัย
“ลาวแง้ว” คือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาลาว (ตระกูลภาษา Tai-kadai) มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เวียงจัน และหลวงพระบาง เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามชนบทหรือชานเมือง ซึ่งถ้าอยู่ในเมืองจะเรียก “ลาวเวียง” ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองไทยช่วงสงครามระหว่างสยามกับลาว ต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2369-2371 (สมัยเจ้าอนุวงศ์) ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวจากหัวเมืองพวน เมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจัน เมืองหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตหัวเมืองชั้นในของภาคกลาง ตั้งแต่ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เลยไปจนถึงเพชรบุรี
ในจำนวนนั้นก็มีกลุ่มลาวแง้วถูกกวาดต้อนเข้ามาในคราวนั้นด้วย
อนึ่ง ชื่อที่เรียกว่า “ลาวแง้ว” เป็นชื่อที่กลุ่มลาวพวนใช้เรียกชาวลาวที่มาจากเวียงจันและหลวงพระบาง สำหรับกลุ่มลาวแง้วที่จังหวัดสระบุรี อยู่ที่บ้านตาลเสี้ยน บ้านหนองแก บ้านหนองระกำ อำเภอพระพุทธบาท และบางหมู่บ้านของอำเภอหนองโดน
บ้านเรือนของชาวลาวแง้ว หรือ “เฮือนลาวแง้ว” โดยเฉพาะที่ บ้านตาลเสี้ยน สามารถจำแนกลักษณะเรือนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เรือนจั่วแฝด 2. เรือนจั่วเดียว 3. เรือนจั่วผสมแบบเรือนไทยภาคกลาง ลักษณะของผังพื้นเป็นเรือนยกพื้นสูง 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นที่เก็บของและใช้พักผ่อนในเวลากลางวัน หรือแม้แต่เป็นที่เลี้ยงวัวควาย บริเวณพื้นที่ชั้นที่ 2 ลักษณะที่ว่างพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีการกั้นฝาห้องเฉพาะที่เป็นห้องนอนไม่เกิน 3 ห้อง โดยมีห้องโป่งโจ่งหรือห้องโถงขนาบหัวท้ายของตัวเรือน พื้นที่ห้องครัวจะอยู่บริเวณด้านหลัง รวมถึงห้องน้ำ ห้องส้วม นิยมวางตัวเรือนขวางตะวัน
องค์ประกอบและส่วนประดับตกแต่ง ผนังเรือนนิยมทำแบบฝาโปร่งเป็นลูกกรงเหล็ก โดยผนังด้านนอกเรือนนอนจะเป็นผนังไม้แบบฝาลูกฟักกระดานดุน หรือบางแห่งทำเป็นฝาไหล เพื่อช่วยในการระบายอากาศและความร้อนภายในเรือน (เพราะเรือนลาวแง้วไม่นิยมทำชานระเบียงเปิดโล่งเหมือนเรือนไทยภาคกลาง) ในทางตรงกันข้ามกลับนิยมต่อหลังคาเพื่อคลุมพื้นที่ว่างต่างๆ ส่วนการประดับตกแต่งเอกลักษณ์ที่สำคัญคือการทำไม้ค้ำยันตกแต่งเป็นลวดลายฉลุ ทุกห้องเสาเป็นรูปแบบนอกขนบในจารีตขององค์ประกอบเรือนไทยโดยทั่วไป อีกทั้งการจำหลักส่วนคูหาผนังกั้นห้องภายในบ้าน ปรากฏเป็นลวดลายแบบช่างจีนโดยมีรูปหงส์และมังกรเข้ามาอยู่ในส่วนประกอบของลวดลายฉลุจำหลักต่างๆ
นอกจากนี้ ลักษณะของหลังคาจะไม่แหลมสูงเช่นแบบเรือนไทยทั่วไป จากข้อมูลในการลงพื้นที่พบว่าช่างที่ทำเป็นช่างชาวจีนซึ่งในยุคนั้นเป็นช่างที่มีฝีมือได้รับการว่าจ้างมาปรุงเรือนตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเทคนิคการทำฝาเฟี้ยม ฝาลูกฟัก เป็นวิชาช่างที่ชาวจีนเป็นต้นฉบับ ในเรื่องของความประณีต เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์และกลึงไม้ ช่างเซี่ยงไฮ้เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายและขุนนาง
อนึ่ง การทำลวดลายดังกล่าวยังอาจสัมพันธ์กับ “เรือนขนมปังขิงแบบวิกตอเรียนกอทิก” แต่ได้ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งไทย-ลาว-จีน-แขก-ฝรั่ง จนก่อเกิดเป็น “เฮือนลาวแง้ว” เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สัมพันธ์กับพลวัตทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2560