สหรัฐฯ ให้ทุนหนุนฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน คืนคุณค่า-ความสง่า วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม

โครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 2 ระยะมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนและให้ทุนรวมแล้วเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า จะเดินหน้าสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทยต่อไป[1]

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร ร่วมพิธีส่งมอบโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม ระยะที่ 2

นายไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (ซ้ายสุด) เยี่ยมชมการบูรณะโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม (ภาพจาก เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok)

โครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนารามเป็นโครงการสืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เมื่อวัดไชยวัฒนารามได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ กรมศิลปากรร่วมกับกองทุนโบราณสถานโลก (World Monuments Fund-WMF) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Ambassadors Fund for Cultural Preservation-AFCP) จำนวน 131,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม

ในปีต่อมา พ.ศ. 2555 จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามที่เริ่มทรุดโทรมและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ จึงดำเนินโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม ระยะที่ 1 ได้รับงบประมาณจาก AFCP สนับสนุนกว่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมาใน พ.ศ. 2560 โครงการระยะที่ 2 ได้รับงบประมาณสนับสนุนอีก 325,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นายไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า วัดไชยวัฒนารามไม่เพียงเป็นโบราณสถานที่วิจิตรตระการตาอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่สหรัฐอเมริกามองเห็นถึงคุณค่าความสำคัญยิ่ง ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างยาวนาน การสนับสนุนรัฐบาลไทยในการอนุรักษ์เป็นการแสดงความเคารพและแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน

กองทุน AFCP นี้ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยกว่า 18 โครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ในการส่งมอบเมรุที่ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จในครั้งนี้ จะส่งต่อไปยังการเริ่มต้นการอนุรักษ์เมรุองค์ที่ 3 โดยในระยะยาวต้องการบูรณะเมรุทั้ง 8 องค์และระเบียงคตในอีก 7 ปีข้างหน้า โครงการนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างสองรัฐบาล และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน

การบูรณะเมรุ (ทิศ) องค์ที่ 1 โดยเสร็จสมบูรณ์
เมรุซ้ายสุดคือเมรุราย บูรณะใกล้แล้วเสร็จ เมรุกลางคือเมรุทิศ ทิศตะวันตก อยู่ระหว่างการบูรณะ และเมรุขวาสุดคือเมรุราย ยังไม่ได้รับการบูรณะ

การอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามโดยกรมศิลปากรได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับกองทุนโบราณสถานโลก ให้มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในงานการอนุรักษ์โบราณสถานมาปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ โดยในโครงการนี้จะเน้นการบูรณะโครงสร้างของเมรุวัดไชยวัฒนารามให้แข็งแรงมั่นคง

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดไชยวัฒนารามเป็นโบราณสถานแห่งชาติ โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะในช่วง พ.ศ. 2530-2535[2] ซึ่งได้เสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับโบราณสถาน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ วัดไชยวัฒนารามได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงนำไปสู่แผนการบูรณะโบราณสถานที่วัดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

สภาพภายนอกเมรุรายที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ

จากการตรวจสอบการขุดแต่งและบูรณะในช่วง พ.ศ. 2530-2535 พบว่า มีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุในการอนุรักษ์ ซึ่งปูนซีเมนต์ได้ก่อปัญหาคือ เมื่อเสื่อมสภาพจึงเกิดแตกเป็นรอย ทำให้น้ำซึมเข้าไปภายในจนถึงชั้นอิฐ กระทั่งเกิดจุลชีพบนพื้นผิว และการใช้ปูนซีเมนต์ได้ขวางทางระบายความชื้นออกจากชั้นอิฐ ทำให้อิฐเสื่อมและผุกร่อน นอกจากนี้ นกพิราบและนกเอี้ยงที่เกาะอาศัยและทำรังอยู่บนพื้นดาดเหนือแนวคิ้วที่เคยมีฐานบัวแต่ชำรุดสูญหายไป ได้ทิ้งปฏิกูลที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนทำให้ปูนซีเมนต์เสื่อมสภาพ

เมรุทิศ ทิศตะวันตก (เมรุองค์ที่สาม) อยู่ระหว่างการบูรณะ
เมรุราย (เมรุองค์ที่สอง) ใกล้บูรณะเสร็จสมบูรณ์

นักอนุรักษ์จึงได้สกัดปูนซีเมนต์ของเก่าออก แล้วใช้ปูนสอที่ผสมจากปูนขาวมาเป็นวัสดุในการบูรณะแทน โดยยึดหลักการอนุรักษ์เพื่อคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ยกตัวอย่างฐานบัวคว่ำที่ชำรุดจนกลายเป็นพื้นแบนราบ นักอนุรักษ์ได้ปรึกษากับอาจารย์สันติ เล็กสุขุม จึงได้ก่อฐานบัวคว่ำขึ้นใหม่ตามแนวเดิมของฐานบัวคว่ำที่เหลืออยู่ โดยไม่ฉาบปูนปิดชั้นอิฐ ทั้งนี้ งานก่อเปลี่ยนอิฐหรือก่ออิฐใหม่จะทำให้ลักษณะที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างผนังอิฐที่ก่อใหม่และผนังอิฐโบราณได้

ในส่วนของการฉาบปูน หากเป็นการฉาบปูนใหม่ก็จะฉาบให้ตื้นกว่าชั้นปูนเดิม เพื่อให้แยกความแตกต่างระหว่างวัสดุโบราณและวัสดุอนุรักษ์ได้ โดยการฉาบพื้นผิวส่วนต่าง ๆ ของเมรุด้วยปูนนั้นจะเน้นไปที่การปิดรอยร้าวและจับขอบรวมถึงฉีดผนึก เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงและป้องกันไม่ให้น้ำไหลซึมเข้าไปชั้นใน ในส่วนบริเวณพื้นดาดก็ได้ฉาบปูนใหม่ให้มีลักษณะลาดเอียงแบบที่เคยมีในอดีตเพื่อช่วยระบายน้ำออกจากผิวหน้า

(ซ้าย) ฐานบัวคว่ำที่ก่อขึ้นใหม่ (ขวา) การฉาบปูนใหม่ให้ตื้นกว่าชั้นปูนเดิม เพื่อให้แยกความแตกต่างระหว่างวัสดุโบราณและวัสดุอนุรักษ์ (ภาพจากโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม)

ในส่วนของภายในเมรุ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยลงรักปิดทอง ก่อนการอนุรักษ์มีคราบมูลสัตว์ ฝุ่น และสิ่งสกปรกต่าง ๆ เกาะพื้นผิวองค์พระ นักอนุรักษ์จึงทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์และสารเคมีที่เหมาะสม ทำให้พระพุทธรูปกลับมาสวยงามอีกครั้ง ดังจะเห็นว่าพื้นผิวองค์พระที่ลงรักมีสีดำชัดขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนภายในเมรุยังมีบัวหัวเสา (ลงรัก) และเพดานไม้ (สัก) ก็ได้รับการอนุรักษ์ เช่นเดียวกัน

บัวหัวเสา (ลงรัก) และเพดานไม้ (สัก) ภายในเมรุทิศ ทิศใต้ (เมรุองค์แรก) ที่บูรณะเสร็จสมบูรณ์
พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยลงรักปิดทองภายใน เมรุทิศ ทิศใต้ (เมรุองค์แรก) ที่บูรณะเสร็จสมบูรณ์ (ภาพจาก เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok)

ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ AFCP ได้สนับสนุนโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามทั้ง 3 โครงการ ไม่เพียงแต่ทำให้โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามได้รับการฟื้นฟูบูรณะให้กลับมาจิตรตระการตาอีกครั้ง แต่โครงการนี้ยังมีส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้การอนุรักษ์โบราณสถานระหว่างองค์กรของไทยโดยกรมศิลปากรกับองค์กรต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างของการบูรณะโบราณสถานและสร้างองค์ความรู้ของการอนุรักษ์ต่อโบราณสถานอีกหลายแห่ง

ระเบียงคตได้รับการบูรณะเช่นเดียวกับเมรุทิศและเมรุราย
นักอนุรักษ์ทำความสะอาดพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในระเบียงคต

โครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนารามนี้เน้นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของเมรุทิศและเมรุรายเป็นสำคัญ แก้ไขงานอนุรักษ์เมื่อครั้งอดีตที่ทรุดโทรมและไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้ของงานอนุรักษ์ในปัจจุบันที่ก้าวหน้าด้วยเทคนิคและวิธีการสมัยใหม่ โครงการนี้จึงเป็นการบูรณะเพื่อให้โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามไม่ทรุดโทรมไม่ตามกาลเวลา

ภาพเปรียบเทียบก่อน-หลังการบูรณะ (ภาพจากโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม)
ภาพเปรียบเทียบก่อน-หลังการบูรณะ (ภาพจากโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม)
พระพุทธรูปปางมารวิชัยภายในเมรุรายที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ
การบูรณะเมรุองค์ที่ 1 โดยเสร็จสมบูรณ์
การบูรณะเมรุองค์ที่ 1 โดยเสร็จสมบูรณ์ มีการก่อบันแถลงขึ้นใหม่บางส่วน ในส่วนของช่องคานไม้ (ด้านล่างกลางบันแถลง) ทำจากไม้สักซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิม โดยตัดแต่งไม้ตามรูปทรงของชิ้นคานไม้ในสถาปัตยกรรมไทยและสลักผิวหน้าของไม้ให้เป็นรอยผุเพื่อให้กลมกลืนกับวัสดุโบราณ
ปรางค์ประธาน (ซ้าย) และเมรุทิศ ทิศใต้ (ขวา) ที่ทำการบูรณะเสร็จสมบูรณ์

อ้างอิง :

[1] Facebook : U.S. Embassy Bangkok

[2] Facebook : สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2563