Hundred Years Between นิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนความทรงจำที่ทับซ้อนในโรงภาษีร้อยชักสาม

(ซ้าย) ภาพศุลกสถาน ยุค 50s จาก Wikimedia commons / Saint Gabriel's Foundation (Thailand) Archive [Public Domain] (ขวา) ภาพถ่ายอาคารในช่วงจัดนิทรรศการ Hundred Years Between ค.ศ. 2020

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2440 และครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2450 โดยเฉพาะการเสด็จครั้งหลังนี่เอง มีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เล่มสำคัญ คือ “ไกลบ้าน”  ซึ่งเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ให้สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี ทรงทราบ

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้เขียนถึงความสำคัญของ “ไกลบ้าน” ในหนังสือ เรื่องส่วนพระองค์ใน “ไกลบ้าน” ไว้ว่า

“หนังสือเล่มนี้ได้หยิบยกเรื่องเล่าเฉพาะเรื่องส่วนพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ สนุกสนาน เบื่อ รำคาญ ฟ้าฝน หนาวร้อน อาบน้ำ หลับนอน อาหารเสวย ผลไม้ที่โปรดปราน คิดถึงบ้าน และพระอาการประชวร เป็นต้น ล้วนเป็นความรู้สึกนึกคิดส่วนพระองค์…แต่ที่เหนือกว่าความเป็นปุถุชนก็คือ พระปรีชาสามารถ พระขันติธรรม และพระวิริยะอุตสาหะในการหักห้ามความทุกข์ ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเนืองๆ อันเนื่องมาแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความคิดถึงบ้านคิดถึงครอบครัว เพื่อที่จะได้ปฏิบัติพระราชภารกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง”

เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัตพระนครจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 นี้เอง สยามได้จัดสร้างซุ้มรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่บนนถนนราชดำเนิน เมื่อ พ.ศ.2450  รวมถึงการประดับอาคารตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินผ่าน แล้วมีอาคารหลังหนึ่งที่มีการประดับอย่างสวยงามนั่นคือ ศุลกสถาน ตรงย่านบางรัก ใกล้สถานทูตฝรั่งเศส

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เขียนถึงความงามของศุลกสถานเมื่อคราวรับเสด็จ ในหนังสือ จารึกสยาม ไว้ว่า

“สถานที่ที่แต่งได้งามมากอีกแห่งหนึ่งคือ ศุลกสถาน (กรมศุลกากร) ในความอำนวยการสร้างของหม่อมเจ้าพร้อมพงศ์อธิราช ติดตราแผ่นดินประดับไว้สง่าผ่าเผย ตามหน้าต่างปักธงช้างช่องละสามธง”

ศุลกสถาน อดีตที่ทำการของศุลกสถาน (กรมศุลกากรในปัจจุบัน) บนถนนเจริญกรุง ที่เคยรับเสด็จเมื่อ พ.ศ.2450 มีความเกี่ยวพันกับนิทรรศการศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับ “ไกลบ้าน” ในชื่อนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2020 ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563

นิทรรศการดังกล่าวจัดในอาคารประวัติศาสตร์ ศุลกสถาน ซึ่งเป็นอาคารที่มีความงดงาม และงานครั้งนี้จะถือเป็นการเปิดให้ชมอาคารครั้งสุดท้ายก่อนการบูรณะครั้งใหญ่ที่กินเวลายาวนานกว่า 6 ปีอีกด้วย

นิทรรศการภายในอาคารศุลกสถาน หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม ติดตั้งภาพถ่ายธรรมชาติ ภูมิประเทศ อาคารสถานที่ในประเทศนอร์เวย์ ที่รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ เมื่อพ.ศ. 2450 ซึ่งท่านผู้หญิงสิริกิติยา เป็นผู้บันทึกภาพเอาไว้ พร้อมจดหมายที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เขียนถึงรัชกาลที่ 5

อีกทั้งเรายังเห็นร่องรอยของการใช้งานภายในอาคารดังกล่าว ที่สะท้อนถึงกาลเวลาที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ มีทั้งการทาสี ตัวหนังสือที่มีคนไปเขียนบนผนังอาคาร

ดังนั้น ในนิทรรศการที่จัดในอาคารหลังนี้ เราจะเห็นความทรงจำซ้อนกันอยู่ ที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา ได้นำเสนอไว้ ทั้งเรื่องรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป และร่องรอยกาลเวลาของอาคารหลังนี้

สอดคล้องกับ ข้อความตอนหนึ่งที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เขียนบรรยายในนิทรรศการไว้ว่า

“งานส่วนใหญ่ของข้าพระพุทธเจ้าศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์ และปฏิบัติต่อประวัติศาสตร์เสมือนหนึ่งเป็นเรื่องราวที่ทับซ้อนกันหลายชั้นและไม่หยุดนิ่งประวัติศาสตร์ประกอบด้วยความทรงจำของหลากหลายบุคคล ต่างคนก็ต่างมุมมอง ต่างวิธีการในการนำเสนอชุดความทรงจำเหล่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป คนก็เปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์หรือก็คือ เรื่องราวในสถานที่หนึ่งๆ จึงเปลี่ยนตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราพินิจพิจารณาให้ดี ภูมิทัศน์ของประเทศหรือสถาปัตยกรรมของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ  จึงโอบอุ้มความทรงจำที่ทับซ้อนกันเหล่านั้นไว้”

นิทรรศการครั้งนี้จัดระหว่างวันที่ 1 ถึง 9 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สนใจเข้าชม สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Hundred-Years-Between