“ลายกำมะลอ” หนึ่งในศิลปกรรมงานช่างสิบหมู่ จุดกำเนิดแทนคำว่า “ปลอม”

ลายกำมะลอ งานศิลปกรรม
ตู้พระไตรปิฏกเขียนลายกำมะลอ ที่วัดกัลยาณมิตร (ภาพจาก : หอสมุดพิกุลศิลปาคาร)

ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงคำว่า “กำมะลอ” คนก็จะนึกถึงความหมายว่า “เทียม ปลอม เก๊ ไม่ใช่เรื่องจริง” เช่น เศรษฐีกำมะลอ ไฮโซกำมะลอ หรือแม้แต่ซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวสมัยราชวงศ์ชิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอย่าง “องค์หญิงกำมะลอ”

ถ้าพูดถึงที่มาของคำนี้ เริ่มแรกเดิมทีเป็นคำที่ใช้ในวงการศิลปะ นั่นคือ “ลายกำมะลอ” ใช้เรียกของลงรักแบบญี่ปุ่นและจีน หรือสิ่งของลงรักปิดทองที่มีสีหลายสี ซึ่งศิลปกรรมนี้มีใช้ในศิลปะไทยด้วย

ลายกำมะลอ งานศิลปกรรมอันสวยงาม

“ลายกำมะลอ” เป็นศิลปกรรมที่อยู่ในงานช่างรัก หนึ่งในสาขาของงานช่างสิบหมู่ มักอธิบายให้เข้าใจกันง่าย ๆ ว่าเป็นการใช้เทคนิควิธีการเขียนลวดลายทอง แทนการเขียนแบบลายรดน้ำ และมีการเขียนสีแทนพื้นหลังที่มีแค่สีดำ หรือเป็นการสร้างขึ้นแบบหลอก ๆ

ตู้พระไตรปิฏกเขียนลายกำมะลอ ที่วัดกัลยาณมิตร (ภาพจาก : หอสมุดพิกุลศิลปาคาร)

แต่ในทางศิลปะ งานนี้จะผสมผสานระหว่าง 2 เทคนิค คือ เทคนิคลายรดน้ำกับเทคนิคการเขียนสี โดยการนำสีฝุ่นมาผสมกับยางรักน้ำใสหรือรักบริสุทธิ์ เพื่อเพิ่มความงามและความน่าสนใจให้กับงานศิลปกรรมชิ้นนั้น ๆ 

เชื่อว่าลายดังกล่าวเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้อมูลระบุว่าลายกำมะลอเข้ามาในอยุธยาได้ เนื่องจากเราติดต่อกับการค้ากับญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน ลายกำมะลอในสมัยอยุธยาก็ปรากฏผลงานในรูปแบบจีนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเราได้รับอิทธิพลจากชาวจีนในการทำลายดังกล่าวมาค่อนข้างเยอะ ยุคนี้จึงไม่ปรากฏลายแบบไทยเท่าใดนัก

ลายกำมะลอ ที่วัดนางนอง (ภาพจาก : พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ใน seaarts.sac.or.th)

ทว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการสร้างสรรค์ลายกำมะลอขึ้นใหม่ให้มีความไทยมากขึ้น จนไม่มีความเป็นจีนหลงเหลืออยู่

ลายกำมะลอ จะเป็นงานที่ตีคู่กับมากับลายรดน้ำ ซึ่งคาดว่าเข้ามาไทยในสมัยสุโขทัย เพราะส่วนใหญ่แล้ว การทำลายกำมะลอมักเป็นขั้นตอนที่ทำทีหลังลายรดน้ำ ใน วารสารศิลปะ คลองหก อธิบายว่า 

“ศิลปะกำมะลอ เป็นงานศิลปกรรมที่ทำต่อเนื่องจากขั้นตอนของลายรดน้ำ หรือเขียนขึ้นเฉพาะตามลำดับขั้นตอนก็ได้ กล่าวคือ เมื่อทำการรดน้ำเสร็จแล้ว ต้องการสาดสีเพิ่มเติมในพื้นที่บางส่วนก็สามารถทำได้ เช่น โขดหิน เขามอ หรือลายผ้านุ่งตัว พระ-นาง ลายกำมะลอที่เขียนขึ้นในสมัยโบราณ นิยมเขียนบนพื้นรักสีดำ หรือสีแดง เช่นเดียวกับลายรดน้ำ”

ด้วยเทคนิคการสร้างลายกำมะลอ งานศิลปกรรมที่อาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการทำขึ้นมาหลอก ๆ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ต่อมาคนจึงนำคำว่ากำมะลอมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเอ่ยถึงความปลอม ไม่แท้ ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พาหุการณ์ ส. (2021). จิตรกรรมกำมะลอร่วมสมัย. วารสารศิลปกรรมศาสตร์วิชาการ วิจัย และงานสร้างสรรค์, 8(2), 134–174. สืบค้น จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/arts/article/view/256146

http://www.repository.rmutt.ac.th/dspace/handle/123456789/2088

http://legacy.orst.go.th/?knowledges=กำมะลอ-๘-กุมภาพันธ์-๒๕๕๖

https://www.facebook.com/RimkhobfaBookstore/posts/ศิลปะไทย-ลายกำมะลอกำมะลอ-คือ-การลงรักแบบญี่ปุ่น-หรือสิ่งของลงรักปิดทองที่มีสีหลา/2888062561220716/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2568