ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งสำหรับ “ปราสาทนครหลวง” กรุงศรีอยุธยา ปราสาทหินแบบขอม จ. พระนครศรีอยุธยา ที่ตอนนี้ผู้คนมากมาย โดยเฉพาะ “สายมู” ต่างแวะเวียนไปกราบไหว้บูชา “พระพิฆเนศนั่งทับกะโหลก” เพื่อเสริมสิริมงคล
ที่จริงแล้ว “ปราสาทนครหลวง” กรุงศรีอยุธยา ไม่ได้มีความโดดเด่นเพียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ทว่ายังมีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากมายให้ทุกคนได้รู้จัก…
ปราสาทนครหลวงเป็นปราสาทหินแบบขอม คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ในพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ได้ระบุไว้ว่า…
“ศักราช 993 ปีมะแมศก (พ.ศ. 2174) ทรงพระกรุณาให้ช่างออกไปถ่ายอย่างพระนครหลวง แลปราสาทกรุงกัมภุชประเทศเข้ามา ให้ช่างกระทำพระราชวังเป็นที่ประทับร้อน ตำบลวัดเทพจัน สำหรับจะเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึงเอานามเดิมซึ่งถ่ายมาให้ชื่อว่า พระนครหลวง และในปีสร้างพระนครหลวงนั้นก็สถาปนาวัดพระศรีสรรเพชญ์เสร็จ”
ปราสาทหลังนี้ไม่ได้มีมูลเหตุในการสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีกครั้งอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยใด ๆ ยืนยันว่าอยุธยาได้รับชัยชนะ
แต่เหตุที่ทำให้สร้างปราสาทนครหลวง ขึ้นมา น่าจะเป็นเพราะต้องการแสดงพระราชอำนาจ ด้วยพระเจ้าปราสาททองทรงปราบดาภิเษกตั้งพระราชวงศ์ใหม่ คือ “ราชวงศ์ปราสาททอง” และเชื่อมโยงว่าพระองค์มีเชื้อสายมาจากเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่
เมื่อปราสาทนครหลวงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการนี้ จึงทำให้เป็นปราสาทที่มีสไตล์แบบขอม และได้อิทธิพลจากเมืองพระนครมาอย่างเต็มเปี่ยม
ปราสาทในเมืองพระนครที่เป็นแรงบันดาลใจให้ปราสาทนครหลวงคือ “ปราสาทปาปวน” เนื่องจากมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและจำนวนเรือนยอดของพระปรางค์ประธานและพระปรางค์บริวารที่สัมพันธ์กัน
นอกจากนี้ ในพงศาวดารยังมีการพูดถึงว่าพระเจ้าปราสาททองได้ส่งช่างไปถ่ายแบบ “ปราสาทกรุงกัมภุช” ที่เมืองพระนครมาเป็นรูปแบบก่อสร้าง และหากวิเคราะห์ดูแล้วปราสาทกรุงกัมภุชที่ว่าก็คือ “ปราสาทปาปวน” เนื่องจากเป็นปราสาทประจำพระราชวังหลวงแห่งกรุงกัมพูชาขณะนั้น
หลังจากสร้างเสร็จสิ้น ปราสาทนครหลวงก็กลายมาเป็นอาคารสำหรับเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่เขาสัจจพันธ์คีรี รวมถึงประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ก่อนจะเสื่อมสภาพลงในเวลาต่อมาเพราะไม่ได้ใช้สอย จนเมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์จึงมีการปรับปรุงเป็นปราสาทนครหลวงในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เกรียงไกร เกิดศิริ, อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และบุณยกร วชิรเธียรชัย. ในวารสารวิชาการ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้าจั่ว: ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม ปราสาทนครหลวง อยุธยา. ฉบับที่ 33 (มกราคม-ธันวาคม, 2561)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2567