“ระฆังสำริด” พระราชวังเดิม ไม่ใช่ของจีน แต่เป็น “ระฆังเวียดนาม”!?

ระฆังสำริด พระราชวังเดิม เป็น ระฆังเวียดนาม
ระฆังสำริด ตั้งอยู่ในท้องพระโรง พระราชวังเดิม

ใครที่เข้าชม “พระราชวังเดิม” ซึ่งเคยเป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพเรือ อาจเคยเห็น “ระฆังสำริด” ที่แขวนอยู่ในท้องพระโรง ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูเป็นศิลปะจีน อีกทั้งป้ายข้อมูลก็บอกว่าระฆังใบนี้เป็น “ระฆังจีน” แต่หากพิจารณาดีๆ แล้ว นี่เป็น “ระฆังเวียดนาม” ต่างหาก

ประเด็นนี้ ผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าไว้ในบทความ “ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับระฆังสำริดจากพระราชวังเดิม” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2567 ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

ป้ายประวัติที่จัดทำโดยกองทัพเรือ ระบุว่า “ระฆังจีน ซึ่งอยู่ในท้องพระโรงชั้นนอก มีคำจารึกเป็นภาษาจีนไว้ที่ตัวระฆัง จึงแน่ใจว่าเป็นระฆังจีน พระรัตนมุนีเจ้าอาวาส วัดหงษาราม (ปัจจุบันเรียกว่าวัดหงส์รัตนาราม) ถวาย พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๖๗ เพื่อเป็นของสำหรับพระราชวังเดิม…”

แม้จะมีจารึกตัวอักษรจีนบนระฆัง แต่หากพิจารณาจากรูปแบบและเนื้อหาจารึก อชิรัชญ์เห็นว่า มีแนวโน้มจะเป็น “ระฆังเวียดนาม” มากกว่า โดยดูจากรูปแบบศิลปะ ซึ่งแรงบันดาลใจสำคัญอย่างหนึ่งของศิลปะเวียดนาม คือ ศิลปะจีน

หากดู “ที่แขวนระฆัง” จะเป็นรูปมังกร 2 หัว มีลำตัวร่วมกัน หัวอยู่ที่ปลายลำตัวแต่ละด้าน ปากคาบแก้ว ลำตัวคดโค้ง ลำคอและลำตัวส่วนบนอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องจากริมฝีปากล่าง ทอดยาวจรดพื้นที่ด้านบนของตัวระฆังแล้วจึงตวัดขึ้นบน ส่วนที่แขวนระฆังรูปมังกรในศิลปะจีน ส่วนใหญ่นิยมประดิษฐ์ลำตัวให้มีลักษณะเป็นวงโค้งมากกว่า

อชิรัชญ์ยังดูจาก “ขามังกร” ของที่แขวนระฆัง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มระฆัง ที่สร้างขึ้นช่วงสมัยราชวงศ์เจิ่น-สมัยพระเจ้ามิญหม่าง (Minh Mạng ค.ศ. 1820-1841 / พ.ศ. 2363-2384) แห่งราชวงศ์เหงวียน (Nguyễn Dynasty)

เมื่อดูต่อจะพบว่า ลักษณะศิลปกรรมของ ระฆังสำริด พระราชวังเดิม สอดคล้องกับจารึกบนระฆัง ที่ถอดความตอนหนึ่งได้ว่า “ปีบิ๋งตี๋ ซึ่งเป็นปีที่ 15 แห่งรัชศกญาลอง”

คำว่า “ญาลอง” เป็นชื่อรัชศกของกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เหงวียน คือ เหงวียนฟุกแอ๋ง (Nguyễn Phúc Ánh) หรือ องเชียงสือ ดังนั้นหากเทียบปีแล้ว ปีที่ 15 ของรัชศกนี้ก็ตก ค.ศ. 1816 (พ.ศ. 2359) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ได้ปีที่น่าจะสร้างระฆังใบนี้แล้ว จิ๊กซอว์ต่อไปก็คือ ใครเป็นคนสร้าง?

อชิรัชญ์บอกในบทความว่า ในจารึกกล่าวถึงพระภิกษุจากวัดตามบ๋าว เมืองห่าเตียน ซึ่งน่าคิดว่าอาจมีใครนำระฆังจากวัดดังกล่าวเข้ามาในสยาม แต่ก็มีบางคำในจารึกที่ทำให้คิดได้เช่นกันว่า กลุ่มชาวเวียดนามอพยพในกรุงเทพฯ อาจเป็นผู้หล่อระฆังสำริด พระราชวังเดิม ใบนี้

“ศิลปะจีนกับเวียดนามมีความคล้ายคลึงกัน ตัวอักษรจีน เวียดนามก็มีใช้ด้วย การศึกษา ระฆังสำริด พระราชวังเดิม จึงอาจเป็นร่องรอยให้ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับไทยต่อไปได้อีกทางหนึ่ง” อชิรัชญ์ บอก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2567