‘Happy Journey with BEM’ ประเดิมทริปแรกสุดแฮปปี้!! ตะลุยสถานีวัดมังกร เที่ยว-แวะ-แชะ-ชิม แลนด์มาร์กเด็ดย่านเยาวราช 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่รถไฟฟ้า MRT สถานีวัดมังกร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จัดโครงการ  ‘Happy Journey with BEM’ ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินด้วย 5 ทริปท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ฟรี! ตามเส้นทางรถไฟฟ้า 5 สถานี ตลอดปี 2565 ได้แก่ สถานีวัดมังกร สนามไชย สามย่าน หัวลำโพง และอิสรภาพ

ประเดิมทริปแรกในโครงการ  ‘Happy Journey with BEM’ ในวันดังกล่าว ด้วยทริป สถานีวัดมังกร ‘ตะลุยไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวถนนสายมังกร’ จัดกิจกรรม ‘เที่ยว-แวะ-แชะ-ชิม’ สถานที่สำคัญต่างๆ ในย่านเยาวราช ได้แก่ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) วัดกันมาตุยาราม ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ร้านซงเต๋อ และร้านจกโต๊ะเดียว ท่ามกลางความสุขและประทับใจของผู้ร่วมกิจกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ การตรวจ ATK การเว้นระยะห่าง เป็นต้น 

‘เยาวราช’ หัวใจสำคัญของรัตนโกสินทร์

กิจกรรมแรกของทริปสถานีวัดมังกร ‘ตะลุยไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวถนนสายมังกร’ เริ่มด้วยสเปเชียล ทอล์ก ‘ไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวสไตล์จีนบนถนนมังกร’ โดย นายสมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ นายพชร เกรียงเกร็ด ผู้ก่อตั้งเพจแบกกล้องเที่ยว ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.94 ล้านฟอลโลเวอร์

นายสมชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า ในภาพรวม เยาวราชคือความเจริญสูงสุดของรัตนโกสินทร์ในยุคหนึ่ง เป็นจุดที่ตะวันออกกับตะวันตกมาเจอกัน เยาวราชอยู่เลยถนนสำเพ็งมานิดหนึ่ง และอยู่ใกล้กับถนนเจริญกรุงที่มีความเป็นฝรั่ง เยาวราชที่เกิดขึ้นมาตรงกลางคือความผสมผสาน คนเยาวราชจึงมองตัวเองเป็นชาวจีนสมัยใหม่ 

เยาวราชยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ทั้ง เรือ รถยนต์ และรถไฟ เป็นศูนย์กลางความรุ่งเรือง มีธนาคาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ รวมถึงร้านทองและร้านนาฬิกา แสดงถึงการสะสมทรัพย์และการลงทุน ปัจจุบัน แม้เยาวราชจะเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่รู้จักเยาวราชในฐานะสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อ มีร้านอร่อยมากมาย แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือความหลากหลาย ที่เป็นเสน่ห์ของเยาวราชมาตลอด 

สำหรับทริปสถานีวัดมังกร ซึ่งเป็นทริปแรกในโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ นายสมชัยเผยว่า เป็นทริปที่เดินจากรถไฟฟ้า MRT สถานีวัดมังกรไป 100-200 เมตร ก็จะเจอสถานที่สำคัญย่านเยาวราช 3-4 ที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น วัดกันมาตุยาราม ที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ซึ่งพบได้น้อยมากในไทย หรือร้านจกโต๊ะเดียว ซึ่งต้องจองนานเป็นเดือนๆ ใครที่ได้มาร่วมทริปครั้งนี้ถือว่าโชคดีมาก เพราะจะได้ลิ้มรสจานอร่อย

“ทุกครั้งที่พาคนลงพื้นที่ ผมจะย้ำเสมอว่าการมาเดินเที่ยวย่านนี้ ทั้ง เยาวราช เจริญกรุง เราไม่ได้มาเดินเที่ยวธรรมดา แต่ที่นี่คือหัวใจสำคัญของรัตนโกสินทร์ และสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 3 สถานีหลัก อย่าง สนามไชย สามยอด และวัดมังกร ก็เป็นประตูสู่รัตนโกสินทร์ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ตามลำดับ BEM จึงออกแบบตกแต่งอย่างสวยงาม เพราะทั้ง 3 สถานีคือประตูสู่รัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง” นายสมชัยกล่าว

ด้านนายพชรกล่าวว่า จำความรู้สึกเมื่อครั้งที่มาเยาวราชครั้งแรกได้ว่า ตื่นเต้น ประทับใจ และแปลกตา ไม่เคยเห็นวิวแบบนี้ เหมือนอยู่เมืองจีน สมัยก่อนยังไม่มีโซเชียลมีเดีย จึงแวะรับประทานไปเรื่อย วันหนึ่ง 3-4 ร้าน แล้วก็กลับมาใหม่วันหลัง แต่วันนี้เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็จะรู้แล้วว่าควรไปรับประทานร้านไหน หรือถ่ายรูปตรงไหนสวย ทำให้มีความสนุกในการท่องเที่ยวและถ่ายรูปมากขึ้น สามารถค้นหาสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เวลาเที่ยวจะไม่ค่อยดูรีวิว เจอร้านไหนอยู่ข้างทางก็แวะรับประทาน แวะถ่ายรูปไปเรื่อยๆ เป็นการซึมซับบรรยากาศของพื้นที่นั้นๆ 

“มุมของเยาวราชที่ผมประทับใจ คือ ถนนเส้นหลักที่มีร้านทองเรียงราย เพราะจะเห็นป้ายต่างๆ อยู่ติดกัน เป็นภาพที่สวยงามและไม่มีที่ไหนเหมือน เป็นมุมที่สะท้อนวิถีชีวิตของเยาวราช ผมชอบถ่ายภาพที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนแถวนั้น การถ่ายภาพไม่มีถูกไม่มีผิด เห็นแล้วชอบก็ถ่าย เพราะภาพถ่ายคือการบันทึกความทรงจำที่ดีอย่างหนึ่ง

“เวลาเราถ่ายทอดเรื่องราวอะไรไปจะมีผลต่อเนื่อง คือ มีคนอ่านและตามไปเที่ยว บางทีเราไปหาร้านที่คนอาจไม่ค่อยรู้จัก พอคนอ่านเจอก็ตามไปลอง ไปอุดหนุน ก็ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น” ผู้ก่อตั้งเพจแบกกล้องเที่ยวเล่า 

นายพชรยังกล่าวถึงโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ด้วยว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ในฐานะนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ การได้มาร่วมโครงการทำให้ได้ความรู้เยอะมากจากวิทยากรที่รู้จริง ซึ่งหากพลาดทริปนี้ไปก็ยังมีทริปอื่นให้เข้าร่วม 

เปิดไฮไลต์ 3 สถานที่เด่น ‘วัดมังกรฯ-วัดกันมาตุยาราม-ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ’ 

จากนั้นผู้ร่วมทริปได้เดินทางไปวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีน ดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้ระยะเวลาในการสร้างทั้งสิ้น 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จได้อาราธนาพระอาจารย์สกเห็งมาเป็นเจ้าอาวาส และเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย 

ปัจจุบัน วัดมังกรกมลาวาสได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวไทยเชื้อสายจีน นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพราะเป็นสถานที่แก้ปีชงตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ของจีนที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งในทริปแรกของโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ นอกจากผู้ร่วมทริปจะได้ชมสถาปัตยกรรมแบบจีนอันงดงามภายในวัดมังกรกมลาวาสแล้ว ยังได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าองค์ต่างๆ ภายในวัดด้วย 

ถัดมาเป็นการเข้าชมวัดกันมาตุยาราม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2407 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย นางกลีบ สาครวาสี บุตรสาวของยายแฟง เจ้าของโรงโสเภณีที่ย่านสำเพ็ง และผู้สร้างวัดคณิกาผล ถนนพลับพลาไชย นางกลีบได้อุทิศสวนดอกไม้สร้างเป็นวัดขึ้น ต่อมาบุตรของนางกลีบ คือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างวัดเสร็จ นางกลีบจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามวัดว่า วัดกันมาตุยาราม หมายถึง วัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง 

ภายในพระอุโบสถวัดกันมาตุยาราม มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าพุทธประวัติ โดยไม่เน้นคติจักรวาลไตรภูมิ บานประตูหน้าพระอุโบสถด้านใน วาดรูปเนื้อสัตว์ 10 อย่าง ที่ไม่ให้พระฉัน ส่วนบานหน้าต่างด้านในวาดผลไม้ 8 อย่าง ที่ใช้ทำน้ำอัฏฐบาน ส่วนบานประตูด้านในของประตูหลังพระอุโบสถ เรียกว่า ภาพมหาผล 10 ชนิด ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ใช้ทำน้ำอัฏฐบาน

วัดกันมาตุยาราม ยังมีจุดเด่นอยู่ที่เจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถ ที่เป็นแบบลังกาทรงกลม องค์ระฆัง 2 ชั้น รูปทรงคว่ำ   สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปในประเทศอินเดีย ภายในบรรจุพระพุทธรูป ซึ่งในไทยมีเจดีย์ลักษณะเช่นนี้เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือที่นี่และวัดโสมนัสราชวรวิหาร นอกจากนี้ วัดกันมาตุยารามยังเคยเป็นที่จำพรรษาของสุชีโวภิกขุ (นายสุชีพ ปุญญานุภาพ) ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคนหนึ่งของไทยอีกด้วย

สถานที่สำคัญอีกแห่งที่ผู้ร่วมทริป ‘Happy Journey with BEM’ เดินทางไปชม คือ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าที่ได้รับการสันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่สุดในไทย คือกว่า 360 ปี โดยเทพเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์เรื่องฮวงจุ้ยและการทำนายทายทัก ผู้คนจึงมักขอพรให้มั่งคั่งร่ำรวย ค้าขายเจริญก้าวหน้า โชคดีและปลอดภัย 

อิ่มอร่อยที่ ‘ร้านซงเต๋อ-จกโต๊ะเดียว’

ระหว่างทริป ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้แวะพักดื่มน้ำที่ร้านซงเต๋อ ที่ทายาทรุ่นลูกหลานของร้านทำการปรับปรุงบ้านเก่าของตระกูล ที่แต่เดิมทำธุรกิจยี่ปั๊ว ร้านโชห่วย และขายกานาฉ่ายสูตรลับเฉพาะของตระกูลมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ให้เป็นคาเฟ่ร้านน้ำชาสไตล์จีนร่วมสมัย

จากนั้นส่งท้ายความประทับใจสุดเอ็กซ์คลูซีฟในทริปแรกของโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ด้วยการรับประทานเมนูเด็ดที่ร้านจกโต๊ะเดียว ซึ่งเป็นร้านของนายสมชาย ตั้งสินพูลชัย หรือ ‘เฮียจก’ ที่เสิร์ฟสไตล์โต๊ะจีน มีจุดเด่นที่เมนูอาหารของร้านซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแต่ละวัน ด้วยรสชาติอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบชั้นเยี่ยม และความใส่ใจในแต่ละจาน ทำให้ร้านจกโต๊ะเดียวได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ถึงขั้นต้องจองคิวนานหลายเดือน เพื่อให้ได้รับประทานอาหารที่อร่อยระดับมิชลินสักครั้ง

เสียงตอบรับสุดประทับใจ

น.ส.กาญจนา ลาภยงยศ ผู้เข้าร่วมทริปคนแรกของ ‘Happy Journey with BEM’ เผยว่า ทราบว่ามีโครงการนี้จากเฟซบุ๊กของนายสมชัย กวางทองพานิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรของทริปนี้ จึงสนใจเข้าร่วม เนื่องจากอยากรู้จักเยาวราชในมุมมองใหม่ จากเดิมที่มาเที่ยวและชอบย่านเยาวราชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์หรือที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร การมีวิทยากรดีๆ มากความสามารถมาให้ความรู้ ช่วยเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยวให้สนุกและมีความทรงจำมากขึ้น

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ จาก BEM ที่พาผู้ใช้บริการมารู้จักสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ กับสถานี MRT ในมุมใหม่ เพราะปกติความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มักมีแต่ต่างชาติให้ความสนใจ การจัดกิจกรรมนี้ขึ้นจึงเป็นเรื่องดี ที่น่าจะทำให้คนไทยหันมามองแหล่งท่องเที่ยวรอบตัวเรามากขึ้น” น.ส.กาญจนา กล่าว 

นายภาณุมาศ มาลาศรี กล่าวว่า ทราบว่ามีทริปนี้จากการแชร์ต่อกันมาทางแอปพลิเคชันไลน์โดยเพื่อนๆ เมื่ออ่านรายละเอียดจึงสนใจอยากร่วมทริปสถานีวัดมังกร เพราะมาย่านเยาวราชบ่อย รู้จักวัดมังกรกมลาวาส แต่ไม่เคยทราบประวัติความเป็นมา และอีกวัดที่อยากรู้จัก คือ วัดกันมาตุยาราม เพราะเดินผ่านบ่อย แต่ไม่เคยเข้าไปด้านใน เมื่อมีกิจกรรมนี้จึงสมัครเข้าร่วม ซึ่งไม่ผิดหวัง เพราะได้ทั้งความรู้และความสนุก

ส่วน น.ส.เอื้อมเดือน สดุดี เล่าว่า เห็นกิจกรรมนี้จากการแชร์ต่อกันมาในเฟซบุ๊ก ผนวกกับชื่นชอบการเที่ยววัดอยู่แล้ว จึงสนใจร่วมทริป ถือเป็นโครงการดีๆ จาก BEM ที่พาเที่ยวแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และยังทำให้เห็นถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่คนอื่นสามารถมาเที่ยวตามได้ 

ด้าน นายอรรถพล เลิศล้ำ กล่าวว่า ภาพรวมทริปเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ให้ความรู้ได้ดีโดยวิทยากรมากความสามารถ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ การได้ชมศิลปวัฒนธรรมที่สวยงาม ซึ่งหนึ่งในสถานที่ไฮไลต์ที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมทริปครั้งนี้ คือ วัดกันมาตุยาราม ซึ่งเป็นวัดที่เดินผ่านบ่อยมาก แต่ไม่เคยมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมความงามภายในพระอุโบสถ รู้สึกประทับใจเพราะข้างในสวยมาก และยังได้ความรู้จากวิทยากรไปพร้อมๆ กันด้วย

“คิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีโครงการนี้ เพราะสามารถเชื่อมโยงชุมชน วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวเข้าหากันได้มากขึ้น กระตุ้นให้ชุมชนได้รู้ถึงแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้าน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวต่อในอนาคต 

“ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองมาร่วมโครงการดีๆ แบบนี้ แล้วจะรู้ว่าตลอดแนวรถไฟฟ้ามีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจเยอะมากๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวท่ามกลางชุมชนที่เป็น hidden gem ให้เข้าไปร่วมค้นหา” นายอรรถพล กล่าวด้วยความประทับใจ 

มอบความสุขด้วย ‘Happy Journey with BEM’ 

นางวัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ BEM เผยถึงภาพรวมของโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ทริปแรก สถานีวัดมังกร ‘ตะลุยไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวถนนสายมังกร’ ว่า บรรยากาศการจัดกิจกรรมวันนี้เต็มไปด้วยความคึกคักและความสุข ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมากตั้งแต่ช่วงประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้มีคนสมัครเข้ามาร่วมสนุกเป็นจำนวนมาก ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ให้เกียรติและให้ความสนใจโครงการนี้ ที่ รฟม. ททท. และ BEM ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT 

“ทริปแรกนี้ เราพามาสถานีวัดมังกร ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สถานีที่มีเอกลักษณ์และมีความสวยงามของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นสถานีที่อยู่ในย่านชาวจีน เป็นแหล่งที่สืบทอดวัฒนธรรมด้านต่างๆ มาอย่างยาวนาน 

“เพื่อพาไปรู้จักเยาวราชให้มากขึ้น เราจึงพาทุกท่านไปวัดเล่งเน่ยยี่เพื่อขอพร แก้ปีชง ต่อด้วยวัดกันมาตุยาราม ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ รวมทั้งแวะพักดื่มน้ำที่ร้านซงเต๋อ และปิดท้ายด้วยการพาผู้ร่วมทริปไปชิมเมนูร้านจกโต๊ะเดียว ร้านอาหารระดับตำนานแห่งเยาวราชที่จองโต๊ะยากมากที่สุด

“ด้านวิทยากร เรามั่นใจอย่างมากว่าทุกท่านเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีเทคนิคในการถ่ายทอดประสบการณ์เล่าความเป็นมาได้อย่างดี เชื่อว่าหลายท่านเคยมาวัดเล่งเน่ยยี่แล้ว แต่หากได้มาฟังวิทยากรอย่างคุณสมชัย ก็จะรู้สึกว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจและอยากมามากขึ้น” นางวัฒนา เผย

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางท่องเที่ยวอาจทำได้ไม่เต็มที่นัก แต่สำหรับกิจกรรมในโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ เป็นวันเดย์ทริป อำนวยความสะดวกให้ทุกคนได้ออกมาท่องเที่ยวระยะสั้นๆ ด้วยการขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาเที่ยว และหน้างานก็มีบริการตรวจ ATK สำหรับผู้ร่วมทริป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจให้ผู้ร่วมทริป หวังว่าการจัดกิจกรรมนี้จะเป็นเหมือนการเบิกเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนได้ตามออกมาท่องเที่ยวตามแนวรถไฟฟ้าสถานีต่างๆ ที่ง่ายและสะดวก รวมถึงมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

“สำหรับผู้ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมในทริปแรกนี้ เรายังมีอีก 4 ทริป 4 สไตล์การท่องเที่ยวที่น่าติดตาม หากอยากมาร่วมทริปสนุกๆ ที่ได้เกร็ดความรู้และความเพลิดเพลินแบบนี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro” ผู้บริหาร BEM กล่าวเชิญชวน

พลาดไม่ได้! อีก 4 ทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ฟรี!

โครงการ ‘Happy Journey with BEM’ ยังมีอีก 4 ทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ 

สถานีสนามไชย ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’ วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ปักหมุดเช็กอินเที่ยวถิ่นประวัติศาสตร์ ที่ยังคงกลิ่นอายยุคกรุงศรีอยุธยาสืบทอดมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พบสเปเชียล ทอล์ก โดย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ อรรถพล นิลละออ เจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 

จากนั้นพาชม ไซต์ มิวเซียม ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใต้ดินแห่งแรกของไทย ที่อยู่ภายในบริเวณรถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย แล้วไปชมความงดงามของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เก็บความสุขและความประทับใจส่งท้ายทริป ด้วยการชมมิวเซียมสยามยามค่ำคืนแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ชวนท่องเที่ยวในรูปแบบแคมปัส ทัวร์ เพลิดเพลินกับสถาปัตยกรรมอันงดงามของอาคาร มหาจุฬาลงกรณ์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามานับร้อยปี สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล แวะชมศาลาพระเกี้ยว ตึกจักรพงษ์ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ล้วนเต็มเปี่ยมด้วยประวัติความเป็นมาน่าสนใจ 

พร้อมสเปเชียล ทอล์ก กับวิทยากรชั้นนำที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรี ทั้ง คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี และ ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2562

สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk เดิน ถ่าย ทัวร์’ วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เปิดมุมมองใหม่ของสถานีรถไฟหัวลำโพง อาคารพาณิชย์บนถนนไมตรีจิตต์ ร้านอาหารและคาเฟ่สุดฮิปในซอยนานา ไปกับ พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพแนวมินิมอล และภาพแนวสตรีท อดีตวินมอเตอร์ไซค์ที่มองเห็นความงามของสิ่งรอบตัว และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายได้อย่างน่าทึ่ง มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 80,000 คน 

กิจกรรมนี้ พิชัยจะชวนทุกคนร่วมเวิร์กชอปถ่ายภาพ กดชัตเตอร์บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข สีสันและความมีชีวิตชีวาของย่านการค้าเก่าแก่ ที่ผสานความทันสมัยไว้ได้อย่างลงตัว แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมกิจกรรมประกวดภาพถ่ายของผู้ร่วมทริป และรับของที่ระลึกสุดพิเศษจาก BEM 

สถานีอิสรภาพ ‘ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน’ วันที่ 17 ธันวาคม 2565 พาลัดเลาะฝั่งธน ชมวัง ชมวัด ตามรอยพระเจ้าตากสิน กับวิทยากรพิเศษ ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี และ กบฏเจ้าฟ้าเหม็น ที่ชวนชมความงามของสถานที่ต่างๆ ภายในพระราชวังเดิม อาทิ ท้องพระโรง อาคารเก๋งคู่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตำหนักพระปิ่น ฯลฯ ชมสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ทั้ง พระปรางค์วัดอรุณ  ที่เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของไทย พระอุโบสถ ยักษ์วัดแจ้ง ฯลฯ ปิดท้ายทริปอย่างประทับใจ ด้วยการเที่ยวชมวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ผู้สนใจกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก: MRT Bangkok Metro ทวิตเตอร์: MRT Bangkok Metro อินสตาแกรม: mrt_bangkok และ โมบายแอปพลิเคชัน Bangkok MRT “เดินทางปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ด้วยรถไฟฟ้า  MRT”